วันที่ 12 ก.ค.67 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ว่าที่ สว.ทยอยเดินทางมารับเอกสารรายงานตัว ที่สำนักงาน กกต. ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้  โดยมีผู้ที่มารอตั้งแต่ก่อนเวลา 08.30 น.  จากที่มารับไปแล้วเมื่อวานนี้  173 คน  และในจำนวนผู้มารับเอกสารรับรอง คือ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์  สว.กลุ่ม 1  กลุ่มบริหารราชการแผ่นดิน  โดยมารอก่อนเวลา 8.30 น.  

จากนั้นพล.อ.เกรียงไกร  ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับหนังสือรับรองถึงกระแสถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ว่า  มีความหนักใจ  และต้องขอขอบคุณสื่อที่เสนอว่าตนเป็น 1 ในแคนดิเดตประธานวุฒิสภา   แต่ความตั้งใจที่ตนเข้ามาสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา  อยากทำงานทางด้านความมั่นคงในเรื่องของการด้านทหารโดยเฉพาะชายแดนภาคใต้  จะเอาประสบการณ์ องค์ความรู้ที่มีไปแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้   

เมื่อถามว่าในการเลือกประธานวุฒิสภามีประเด็นเรื่อง สว.กลุ่มสีสู้กับกลุ่มอิสระ  พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ทุกคนมีโอกาส  ทุกคนเป็นผู้มีองค์ความรู้  หลากหลายกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม  เราจะเห็นว่ากระบวนการเลือก สว.ที่ผ่านมา ที่กำหนดมาใน 20 กลุ่มอาชีพ  เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความหลากหลายและมีประสบการณ์ในอาชีพของตนเอง  ที่ก้าวเข้ามาดูแลอาชีพของตนเอง ในบริบทของการเป็น สว.

เมื่อถามต่อการเป็นทหารจะถูกมองอีกมุมหรือไม่  พล.อ.เกรียงไกร  กล่าวว่า ไม่เป็นไร อยากทำหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง  โดยเฉพาะงานจังหวัดชายแดนภาคใต้   ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4  อยู่ที่นั่นมาอย่างยาวนานตั้งแต่เกิดจนกระทั่งบัดนี้   ไปเป็นเลขาฯ ของกระบวนการพูดคุยสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ถ้าได้ทำงานตรงนี้ความต่อเนื่องจะเกิดขึ้น   ในบริบทของกลุ่มทหารก็ดี  หรือกลุ่มต่างๆก็ดี   ก็มีเป้าหมายร่วมกัน คือทำอย่างไรให้สันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นแต่ว่ากลยุทธ์ในการเดินกฎหมายแตกต่างกัน ก็ปรับกันได้ เพราะความหลากหลายตรงนี้ คือสิ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการนำไปสู่จุดหมายร่วมกัน ในการเปลี่ยนแปลงวิธีการ   ถ้าตนคิดคนเดียวก็อยู่ในมุมของตน  ถ้าตนรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น  การที่จะเดินไปสู่จุดหมายได้ก็เกิดความรอบครอบมากยิ่งขึ้น  

เมื่อถามว่ามองว่าการทำงานของ สว.ใหม่  200 คนจะเป็นอย่างไรบ้าง พล.อ.เกรียงไกร  กล่าวว่าความหลากหลายใน 20  กลุ่มอาชีพ   ทำให้มีการได้เปรียบในเชิงการปฎิบัติของผู้คนที่มีประสบการณ์   สามารถที่จะนำมาสู่กระบวนการกลั่นกรอง การทำงานของสมาชิกวุฒิสภา

ส่วนข้อกังขาในเรื่อง สว.จัดตั้ง จะเป็นอุปสรรคและปัญหาของการทำงานของ สว.ชุดนี้หรือไม่  พล.อ.เกรียงไกร   กล่าวว่า  เราต้องขอมองกลับไป  ว่าการที่เกิดปัญหาการฮั้ว  ตนว่ามีกันทุกกลุ่ม  เราก้าวเข้ามาด้วยห้วงเวลาที่จำกัด  ไม่มีกระบวนการในการหาเสียง   และเราก็ได้ใช้การพูดคุย  การรวมกลุ่มกันให้ได้นำเสนอโอกาสของตัวเองหรือผลงานในช่วงที่ผ่านมา  และได้มีการจับกลุ่มคุยกัน  ซึ่งเป็นปกติ  ในส่วนที่มีมุมมองต่างๆ  ก็เป็นเรื่องของมุมมอง  ความคิดเห็นที่มีความแตกต่างกันออกไป  ก็ไม่เป็นไรให้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ

การที่มี สว.กลุ่มเสียงข้างน้อย มองว่า สว.เสียงข้างมากจะกินรวบตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติ  ประธานและรองประธาน  มองเรื่องนี้อย่างไร     พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่าไม่แน่เสมอไป   ต้องมาดูกันในวันที่เปิดการประชุม ว่าบริบทตรงนี้จะเป็นอย่างไร   ตนคิดว่าอย่างไรก็แล้วแต่ในเรื่องของกระบวนการประชาธิปไตย  ในเรื่องของการยอมรับในเสียงส่วนมากในการลงมติ  แต่ก็ไม่เพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อย  ก็ต้องฟังเสียงส่วนน้อยในข้อท้วงติง   และแนะนำข้อเสนอเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย

ส่วนกรณีที่มี สว. บางคน  อยากฟังวิสัยทัศน์ ผู้ชิงตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ   ซึ่งมีการเสนอชื่อตนนั้น  ก็เห็นว่า วิสัยทัศน์ของทุกคนมีอยู่แล้ว  การเลือกประธานวุฒิสภาในกระบวนการที่แสดงวิสัยทัศน์ตามที่เคยปฏิบัติมา ทุกคนที่คาดหวังในจุดนั้น ก็คงมีการเตรียมตัวมา   ในส่วนตัวต้องไปดูบริบท  ว่าจะนำเสนอให้สมาชิกได้รับทราบอย่างไรในความตั้งใจของเรา  แต่อย่างที่เคยบอกไป  ส่วนตัวอยากทำหน้าที่ในกรรมาธิการด้านทหารและด้านความมั่นคง

เมื่อถามว่า หากมีการเสนอชื่อให้ลงชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภานั้น   พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า แล้วแต่สมาชิกแต่ละคน ส่วนในความคิดของตนต่อผู้ที่จะเป็นประธานวุฒิสภา  จะต้องมีความรอบรู้ทางด้านกฎหมาย  มีวุฒิภาวะ และเป็นที่ยอมรับ

เมื่อถามว่า สว. หลายคน  อาจมองว่า ประธานวุฒิสภา  ควรเป็นนักกฎหมายมากกว่านักบริหารนั้น   พล.อ.เกรียงไกร  กล่าวว่า แล้วแต่มุมมองแต่ละคน   เพราะแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกัน   แต่ก็ต้องยอมรับในกระบวนการที่ตกลงกัน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเสนอได้ทั้ง 200 คน   เพราะมีโอกาสเป็นได้ทั้งนั้น   และใน 200 คน ส่วนตัวยังไม่ทราบว่ามีใครที่เคยเป็นวุฒิสภามาบ้างหรือไม่   แต่ส่วนใหญ่ก็คงยังไม่คุ้นเคยกับสภา  ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา  ถือว่าเป็นบทบาทใหม่ ที่เราต้องเรียนรู้กันไป   ในกฎระเบียบ  ข้อบังคับ และหลักการทำงาน  เราต้องศึกษาและเรียนรู้และดำเนินการ บางส่วนก็ได้มีการเตรียมการไปแล้วในหน้าที่บทบาทที่ตัวเองต้องทำ

เมื่อถามว่า วุฒิสภาสามารถทำหน้าที่เป็นสภาพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนฯได้ใช่หรือไม่  พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า  ตนคิดว่าทุกคนมีวุฒิภาวะ  มีความรู้สึกสำนึกในหน้าที่ของตัวเอง  ที่ได้รับผิดชอบ  ก็ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง  คิดว่าทิศทางน่าจะเป็นไปด้วยดี   

เมื่อถามว่าเสียใจหรือไม่ เนื่องจากว่ามีการนำเสนอข่าวว่า เป็น สว.ที่มีสี  พล.อ.เกรียงไกร  กล่าวว่า ตนเป็นสีน้ำเงินเข้มอยู่แล้ว  หมายถึง ตนมาจากทหาร  ยึดสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีวิต  ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  สีแดง สีขาว สีน้ำเงิน และน้ำเงินแถบใหญ่มาก เป็นสีตรงกลางที่สำคัญมาก