วันที่ 6 ส.ค.2567 เวลา 08.30 น.ที่รัฐสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการวอล์คเอ้าท์จากที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) วานนี้ (5 ส.ค.67) ว่า เนื่องจาก สว. บ้านใหญ่มีการลากไปทั้งสองวาระ ทั้งเรื่องการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบประวัติของผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดและประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีคำสั่งจากบ้านใหญ่หรือไม่ และตนเองสงสัยมานานว่าทำไมถึงกระเหี้ยนกระหือรือมากในการควบคุมองค์กรอิสระไว้ในกำมือมีเหตุผลอะไรแอบแฝงหรือไม่ ซึ่งตนได้ยินข่าวว่ามีคดีอยู่จำนวนมาก ที่ต้องการการเอื้อเฟื้อจากองค์กรอิสระ ดังนั้น พฤติกรรมทางการเมืองเมื่อวานนี้เกิดขึ้นอย่างน่ารังเกียจ และตนไม่อยากให้เกิดขึ้นเช่นนี้ตลอดไป เพราะจะบั่นทอนความเชื่อถือของวุฒิสภาในภาพรวม ซึ่งเราส่วนหนึ่งของ สว.จะไม่ยอมให้ใครมาใช้ สว. เพื่อกระทำชำเราแบบนี้อีกต่อไป

โดยเหตุการณ์วานนี้สะท้อนว่าไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ และการลงคะแนนแม้แต่เรื่องเล็กน้อย อย่างการกำหนดวันประชุมก็ยังลงคะแนนกันอย่างท่วมท้นแบบบล็อกโหวต และสุดท้ายก็มาบล็อกโหวตเรื่องการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบองค์กรอิสระ ซึ่งตนถือว่า เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจในระบอบประชาธิปไตย จึงขอให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่ออกใบสั่งมาครั้งแล้วครั้งเล่าได้เพลาลงหน่อย ก่อนที่ประชาชนจะรู้ทัน และท่านอาจจะประสบปัญหาอย่างที่ไม่เคยคาดคิด

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุม สว.วันนี้มีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตนไม่อยากจะคาดว่าจะมีการบล็อกโหวตอีก เพิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นนโยบายเรือธงของพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งน่าจะเป็นคนละส่วนกับที่ควบคุม สว. จึงอยากให้สว.กลุ่มสังกัดบ้านใหญ่เป็นอิสระ โดยคิดถึงหนี้สินของลูกหลานในอนาคตจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต  ซึ่งตนคิดว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างเอาเปรียบประชาชน ถ้าคิดจะแจกเงินก็น่าจะเอาเงินส่วนตัวมา แต่นี่เป็นการเอาเงินของหลวงมาและยังมีวิธีการที่ยอกย้อน โดยมีค่าแปลงเงินสดมาเป็นเงินดิจิทัลและแปลงกลับมาเป็นเงินสดอีก จึงตั้งข้อสังเกตว่าเงินส่วนต่างนี้จะเข้ากระเป๋าของใคร ที่สำคัญยังมีเรื่องของแอปพลิเคชั่นเป๋าตังที่ดีอยู่แล้ว  แต่กลับมาใช้แอปพลิเคชั่นทางรัฐ ซึ่งตนมองว่าจะเป็น "ทางลัด" นำเงินมาสู่กระเป๋าของผู้กุมนโยบาย ดังนั้น ตนจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมฉบับนี้

ด้านนางนันทนา นันทวโรภาส แกนนำสว.พันธุ์ใหม่ กล่าวยืนยันว่าอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นอำนาจที่สำคัญที่สุด ถือเป็นกล่องดวงใจ ของการขับเคลื่อนประเทศก็ว่าได้ ดังนั้นกรรมาธิการฯที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรวจพิจารณาและสอบประวัติความเป็นมาของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ จะต้องทำหน้าที่อย่างเข้มข้น และตรวจสอบอย่างรอบด้าน ที่ผ่านมาเราไม่เคยรู้เลยว่ามีการตรวจสอบอย่างไร เพราะเป็นการประชุมลับมาโดยตลอด

ดังนั้นคนที่จะเข้าไปเป็นหนึ่งใน 15 ของกรรมาธิการฯ จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการที่จะเข้าไปคัดเลือกบุคคล เพื่อให้วุฒิสภาลงมติรับรอง เราจึงเห็นว่า กรรมาธิการฯชุดนี้มีความสำคัญสูงสุดสูงกว่ากรรมาธิการใดๆ และโดยเฉพาะหน้านี้ คือกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมา จะต้องตรวจสอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก แต่สุดท้ายก็พบว่าเราไม่ได้รับส่วนแบ่งที่จะเข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการตรงนี้เลย โดยมีการนำเสนอขึ้นมาทั้ง 15 คน

“การลงมติจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันเหมือนกับที่เราได้ทราบมาโดยตลอด คะแนนจะอยู่ที่ประมาณ 140-150 คะแนนขึ้นไป ดังนั้นตรงนี้เราจึงต้องแสดงอารยะขัดขืน เพื่อที่จะบอกว่า ถ้าเราไม่ได้มีโอกาสเข้าไปรับรู้การตรวจสอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต่อไปนี้การคัดเลือกองค์กรอิสระ ก็จะไม่อิสระอีกต่อไป เราจึงอารยะขัดขืนด้วยการ Walk Out ออกมา ห้องประชุม จึงขอเรียกร้องไปให้สื่อรายงานในเรื่องของการประชุมวุฒิสภาและเชิญชวนประชาชนติดตามการประชุมวุฒิสภาอย่างต่อเนื่อง

เพราะกลุ่มสว.ที่เข้ามาทำงานอย่างอิสระ ตรวจสอบอย่างเต็มที่และสิ่งเดียวที่เราสามารถที่จะรายงานตรงไปยังประชาชนได้คือการอภิปรายในสภา จึงยืนยันวุฒิสภายุคใหม่จะไม่เงียบ และจะรายงานในสิ่งที่ทำได้ แต่สิ่งที่เราทำไม่ได้เช่นเมื่อวานนี้ เราทำไม่สำเร็จ และไม่สามารถเข้าไปเป็นกรรมาธิการตรวจสอบในองค์กรอิสระได้เลย ก็ขอให้ประชาชนติดตามด้วย” น.ส.นันทนา กล่าว