วันที่ 30 ก.ค.2567 เวลา 10.45 น.ที่รัฐสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. กลุ่มการสาธารณสุข แถลงว่า ขอเสนอญัตติขอเพิ่มจำนวนคณะกรรมาธิการสามัญ ประจำวุฒิสภาเป็น 28 คณะ ซึ่งสว. ทั้ง 200 คน มีความตั้งใจ แต่เพิ่งมาใหม่ จึงไม่รู้จะดำเนินการทางการเมืองอย่างไร แต่เวลาไม่รอท่า หากไม่มีคณะกรรมาธิการมาทำงาน จะเสียกลไกของสภาสูง จึงเสนอยกร่างข้อบังคับให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมาธิการสามัญฯ เป็นทั้งหมด 28 คณะ เนื่องจากเห็นว่าหลายคณะกรรมาธิการมีการนำภาระงานหลายอย่างมารวมอยู่ด้วยกัน จึงยกร่างแก้ให้แยกคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจออกเป็น คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ 1 คณะ เพื่อดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งไทยและต่างประเทศ และแยกเป็นคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง และสถาบันการเงิน อีก 1 คณะ

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ขอแยกคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมองว่าเป็นการรวมงานคนละอย่างมาไว้ด้วยกัน เมื่อเชิญปลัดกระทรวงมาชี้แจง ก็มีทั้งปลัดสายท่องเที่ยว และปลัดสายกีฬา ทำให้การตรวจสอบกระท่อนกระแท่น จึงเสนอยกร่างให้แยกออกเป็น 2 คณะกรรมาธิการ คือคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว เพราะ สว. ชุดนี้ มาจากกลุ่มอาชีพท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และมีคณะกรรมาธิการการกีฬา อีก 1 คณะ รวมถึงคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ก็เสนอให้แยกเป็นคณะกรรมาธิการการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 1 คณะ และคณะกรรมาธิการการตำรวจ อีก 1 คณะ เพราะลำพังเรื่องตำรวจก็มีปัญหามากมายที่ประชาชนได้รับผลกระทบ

นพ.เปรมศักดิ์ สรุปว่าการเพิ่มคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นมาเป็น 28 คณะ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบรัฐบาล เพราะหากไปหวังพึ่ง 38 คณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ตนเองเห็นว่า หากรัฐมนตรีของพรรคตนเองอยู่กระทรวงใด พรรคการเมืองนั้นก็จะส่งคนไปรับตำแหน่งในกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง แล้วจะตรวจสอบได้อย่างไร

“กระบวนการตรวจสอบของ สว. น่าจะตรงไปตรงมามากกว่า และยังเสนอยกร่างให้มีกรรมาธิการได้คณะละ 8-18 คน หากมีภาระงานมาก ก็สามารถเชิญบุคคลภายนอกมาเป็นอนุกรรมาธิการได้ด้วย ในร่างข้อบังคับนี้เปิดให้มีอนุกรรมาธิการได้ไม่เกิน 5 อนุกรรมาธิการต่อ 1 คณะกรรมาธิการ และให้มีอนุกรรมาธิการได้ 12 คน”

เมื่อถามว่าหลายคนมองว่าการเพิ่มจำนวนคณะกรรมาธิการจะเป็นการเพิ่มงบประมาณด้วยนั้น นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า งบประมาณของ สว. เล็กน้อย ทั้งสองสภาใช้งบเพียงเล็กน้อยในการทำงาน เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่ามีความไม่ชอบมาพากลกว่าหรือไม่

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า สว. แต่ละคนมีที่มาอย่างไรไม่สำคัญ ที่ไปสำคัญกว่า อีก 5 ปีจะขับเคลื่อนอย่างไร ให้เรียกความเชื่อมั่นของประชาชน ขอให้กรรมาธิการปลดล็อกการทำงาน ไม่ควรล็อกไปทั้งหมด ตั้งแต่ล็อกผลการเลือก สว. ระดับประเทศที่เมืองทองธานี ยังมาล็อกเก้าประธานกรรมาธิการอีก ขอให้สมาชิกคำนึงถึงคำปฏิญาณที่จะทำงานให้ประชาชน ให้วางคนในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ผิดฝาผิดตัว

เมื่อถามว่าสว.บางคนมองว่า สว. ไม่ควรมี กมธ.จำนวนมาก เพราะจะซ้ำซ้อนกับฝ่ายค้าน นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า การตรวจสอบของฝ่ายค้านเวลานี้เริ่มอ่อนแรงแล้ว ยิ่งมีประเด็นเรื่องยุบพรรคเข้ามาอีก ขณะที่ สว. ยังมีความกระฉับกระเฉง และการตรวจสอบรัฐบาลก็เป็นหน้าที่ของ สว. ตามรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำว่า ตนเองเป็น สว.สีขาว ไม่เหมือน สว. คนอื่นที่อาจจะมองว่าเพิ่มจำนวนกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อแบ่งเก้าอี้กัน

ส่วน สว. ชุดที่แล้วซึ่งมีสมาชิกถึง 250 คน แต่ก็มีคณะกรรมาธิการน้อยกว่า นพ.เปรมศักด์ มองว่าคณะกรรมาธิการของ สว. ชุดที่แล้วมีจำนวนพอดี หรืออาจจะน้อยเกินไปด้วยซ้ำ แต่ สว. ชุดปัจจุบันมีที่มาหลากหลาย ควรมีโอกาสได้ทำงานในคณะกรรมาธิการที่ตนเองมีความถนัดหรือสนใจ ซึ่งตนเองถือเป็นหัวใจของการทำงานในวุฒิสภา

ขณะที่กรณีของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว. กลุ่มอิสระ ที่มีประเด็นเรื่องวุฒิการศึกษา จะมีการตั้งกลไกมาตรวจสอบ สว. กันเองหรือไม่ นพ.เปรมศักดิ์ ระบุว่า ยังไม่ไปถึงขั้นนั้น แต่เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคนรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว ขอให้ถึงเวลาก็อาจมีคนเสนอให้ตรวจสอบ เพราะหากปล่อยประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเอาไว้ สภาก็ไม่อาจเป็นที่เชื่อถือได้