เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 ต.ค. 67  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียนเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้น่าสะเทือนใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย รู้สึกเศร้าสลดจากเหตุการณ์ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก็จะเข้าไปดูแล 

โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคม จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร จะมีการป้องกันอย่างไร โดยจะเชิญวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาร่วมตรวจสอบโครงสร้างของรถที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนเท่านี้ ว่าควรจะปรับปรุงอย่างไร รวมถึงเรื่องทางออกฉุกเฉิน โดยมีความคิดที่จะให้มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำก่อนออกเดินทางว่าหากมีเหตุฉุกเฉิน จะปฏิบัติตัวอย่างไร และช่องทางออกฉุกเฉิน จะเหมือนกับบนเครื่องบิน ซึ่งต่อไปจะต้องบังคับให้รถโดยสารสาธารณะ ดำเนินการตามนี้เพื่อลดความรุนแรงลง โดยกระทรวงจะมีมาตรการออกมา

นายสุริยะ กล่าวว่าส่วนเรื่องรถสูง 2 ชั้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ควรยกเลิกใช้งานนั้น มีการพูดมานานแล้ว ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม มีแนวทางอยู่แล้ว โดยกำลังพิจารณาว่าจะให้รถ 2 ชั้นวิ่งในเขตเมือง ห้ามออกวิ่งในต่างจังหวัด สำหรับเหตุการณ์วานนี้นั้นเป็นรถชั้นเดียว ก็ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอีกในอนาคต โดยแนวทางป้องกันจะมีทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน และระยะยาว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า รถที่เกิดเหตุมีการดัดเปลี่ยนเครื่องยนต์ และตัวถังประกอบ ซึ่งใช้มานานกว่า 50 ปีต้องมีการตรวจสอบรถบัสโดยสารทั้งประเทศหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะตรวจสอบกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่สภาพรถ จำนวนผู้โดยสาร ขณะเดียวกันจะครอบคลุมรถทุกประเภท ทั้งรถตู้ รถโดยสาร นอกจากนี้จะตรวจสอบเรื่องการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นแก๊สในรถสาธารณะ เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุมักมีความรุนแรง  โดยคาดว่าคณะกรรมการจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

เมื่อถามว่า การดัดแปลงรถ อาจจะทำให้บริษัทประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยสินไหม  นายสุริยะ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมการขนส่งทางบก ว่าตามกฎหมายต้องบังคับให้มีการประกันภัยขั้นต่ำ จะจ่ายสูงสุด 5 แสนบาท และ พ.ร.บ.ภาคสมัครใจ อีก 5 แสนบาท และเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริษัทประกันภัยจะไม่มาหาสาเหตุที่จะไม่จ่ายค่าประกันภัย เพราะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญ

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการประกันภัยแล้ว ยังมีเงินเยียวยาจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการประชุมวันนี้อีก

จากนั้น นายสุริยะ กล่าวในที่ประชุมฯ ว่า จะต้องมีการวางมาตรการเพื่อไม่ให้เกิด ลักษณะแบบนี้ขึ้นอีก ทุกภาคส่วนต้องพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการประชุมในวันนี้จะมุ่งเน้นการหารือถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้ชีวิต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่ยังต้องมีมาตรการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ หวังว่าจะสามารถบรรเทาความทุกข์ยากได้อย่างทันท่วงที พร้อมกันนี้ขอวิงวอนไปยังผู้สื่อข่าวและผู้ที่ต้องการสื่อสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ระมัดระวังไม่ให้มีการนำเสนอข้อมูลที่จะกระทบต่อจิตใจผู้ที่เกี่ยวข้อง 

จากนั้น นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งเกี่ยวกับข้อมูลการบริหารกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยของสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทนายสุริยะ เป็นประธานกองทุนฯ ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดรับบริจาค ทรัพย์สินหรือสิ่งของ ความสำหรับผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุน คือ นายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานฯ  และประกอบด้วยปลัดกระทรวงต่างๆ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมการใช้จ่ายเงินกองทุน ซึ่งในระเบียบกำหนดว่าเงินกองทุนจะนำไปใช้ได้ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยเท่านั้น 

จากนั้นเวลา 11.45 น. นายสุริยะ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติในหลักการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียนเกิดเพลิงไหม้ โดยมอบเงินเยียวยาดังนี้ กรณีเสียชีวิตเป็นค่าจัดการศพรายละ 1 ล้านบาท ,ทุพลภาพ รายละ 7  แสนบาท ,กรณีบาดเจ็บสาหัส รายละ 2แสนบาท , กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย รายละ 1 แสนบาท โดยตัวเลขนี้ เป็นการประเมินจากในอดีตกรณีเหตุการณ์ที่สยามพารากอนและเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นวงเงินที่น่าจะเหมาะสมเพราะเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจ 

สำหรับเด็กเล็กที่เสียชีวิต ถึงแม้ว่าเงินเยียวยานี้จะไม่สามารถไปประเมินจิตใจให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตได้แต่จะช่วยบรรเทาได้ส่วนหนึ่ง

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีเงินช่วยเหลือในส่วนของกระทรวงยุติธรรม จะให้เงินช่วยเหลือ ผู้เสียชีวิตรายละ 2 แสนบาท ,ผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 หมื่นบาท กระทรวงศึกษาธิการ จะให้เงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตที่เป็นนักเรียน 180,000 บาท ครู 100,000 บาท กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะให้เงินช่วยเหลือ ผู้เสียชีวิตรายละ 10,000 บาท และจะดูแลต่อเนื่องจนอายุ 18 ปี และจากประกันภัยของบริษัทรถบัส 1 ล้านบาท

เมื่อถามว่า กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี จะสามารถจ่ายได้ นายสุริยะกล่าวว่า จะเร่งให้กระทรวงศึกษาธิการส่งรายชื่อผู้เสียชีวิต และจะรีบจัดการโอนเงินให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่น่าจะเกินสัปดาห์หน้า