ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ทุกภาคของประเทศ เป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน เนื้อที่ประมาณ 113 ล้านไร่ จากจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดของประเทศประมาณ 149 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่นอกเขตชลประทานต้องอาศัยน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก แต่มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี และยังมีความต้องการแหล่งน้ำต้นทุนโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หรือในเดือนที่ฝนทิ้งช่วง ดังนั้น หากมีแหล่งน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงผลผลิตทางการเกษตร จะเป็นการช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

กรมพัฒนาที่ดิน มีแนวทางในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าว โดยการจัดทำ “โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน”  เพื่อเป็นการบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร ซึ่งสอดรับกับนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นา นอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร เป็นการขุดสระน้ำในไร่นาเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ที่ส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำใช้ภาคการเกษตร ให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตทางเกษตรโดยใช้น้ำจากสระน้ำในไร่นา ด้วยวิธีการขุดสระน้ำขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตรในพื้นที่เกษตรกรรม ที่เกษตรกรเป็นเจ้าของและมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน โดยเกษตรกรยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ และกรมพัฒนาที่ดินพิจารณาศักยภาพของพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ คุณภาพของน้ำ รวมทั้งความพร้อมของเกษตรกรในการกำหนดพื้นที่ขุดสระน้ำ และให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบการขุดสระน้ำ บ่อละ 2,500 บาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2547

การดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2566 สามารถบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ ประมาณ 693,193 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 1.3863 ล้านไร่ หรือ ปริมาตรการเก็บกักน้ำได้ประมาณ 873.4231 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับในปี พ.ศ.2567 กรมพัฒนาที่ดินมีเป้าหมายในการดำเนินงานขุดสระน้ำ จำนวน 28,200 บ่อ โดยคาดว่าสามารถบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ ประมาณ 28,200 ครัวเรือน รวมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 56,400 ไร่ หรือ คิดเป็นปริมาตรการเก็บกักน้ำ ประมาณ 35.532 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ดี การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในไร่นา จำเป็นต้องมีการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้แหล่งน้ำมีอายุการใช้งานได้นาน เช่น ปลูกหญ้าแฝกรอบขอบบ่อเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และชะลอการสะสมของตะกอนในบ่อ ซึ่งจะส่งผลให้การเก็บกักปริมาณน้ำในบ่อน้อยลง การตรวจสอบสภาพ ปริมาณและคุณภาพน้ำในบ่ออย่างต่อเนื่อง หากปริมาณน้ำในบ่อลดลงเกิดกำหนด เกษตรกรต้องเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อ โดยกำหนดทิศทางการไหลของน้ำฝนในพื้นที่อื่นให้ไหลเข้าบ่อมากที่สุดในช่วงฤดูฝน หรือ ในฤดูแล้งใช้วิธีเติมน้ำลงบ่อโดยสูบน้ำใต้ดิน ด้วยระบบโซล่าเซลล์เพื่อเก็บกักน้ำในบ่อน้ำให้เพียงพอต่อกิจกรรมทางการเกษตร ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ พ.ด. ของกรมพัฒนาที่ดิน ควบคู่กับการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำ เพื่อควบคุม/รักษาคุณภาพน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำ นอกจากนั้น กรมพัฒนาที่ดินได้ร่วมบูรณาการการพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้เกษตรกรสามารถต่อยอดการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอีกด้วย เกษตรกรและท่านที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ ผลสำเร็จการดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นาฯ เห็นเป็นที่ประจักษ์ ได้จากความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ดีขึ้น ดังเช่น นายมาเนตร สมศักดิ์ เกษตรกรหมู่ที่ 3 ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้สมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2566 พื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 23 ไร่

 

 

โดย นายมาเนตร สมศักดิ์ เล่าว่า เดิมที่ดินเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรม มีการปลูกไม้ผล และหญ้าเลี้ยงสัตว์ แต่เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการทำเกษตรกรรม จึงได้ขอให้กรมพัฒนาที่ดินก่อสร้างแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งดินบริเวณก่อสร้างแหล่งน้ำ ลักษณะดินด้านบนเป็นดินร่วนปนทราย อาจมีกรวดและหินขนาดเล็กปะปนอยู่บ้าง ดินด้านล่างเป็นดินร่วนปนดินเหนียวหรือดินร่วนเหนียวปนทราย มีกรวดและหินขนาดเล็กปะปนอยู่อย่างหนาแน่น  มีการระบายน้ำดี การซึมผ่านได้ของน้ำอยู่ในระดับปานกลาง

 

 

“ซึ่งเมื่อได้รับแหล่งน้ำแล้ว นอกจากการใช้ประโยชน์ในการปลูกไม้ผล และหญ้าเลี้ยงสัตว์ ยังได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำและทำปศุสัตว์ ส่งผลให้มีรายได้จากสินค้าปศุสัตว์ 150,000 - 250,000 บาทต่อปี” นายมาเนตร สมศักดิ์ กล่าว

 

 

จึงเห็นได้ว่า เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จาก “แหล่งน้ำในไร่นาฯ” เพื่อทำเกษตรกรรม ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในสภาวะภัยแล้ง หรือฤดูที่ฝนทิ้งช่วงได้อย่างดี นอกจากนั้นเกษตรกรมีทางเลือกในการทำกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลายขึ้น เป็นการสร้างความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์พื้นที่ และสร้างความมั่นคงในการดำรงชีพได้เป็นอย่างดี