2 แบรนด์ "รักษ์โลก" แบรนด์ “มีทส์ มี” เนื้อสัตว์ตัดแต่ง ไม่มีส่วนใดเหลือเป็นขยะ และ ถาดชานอ้อย บรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อพืชธรรมชาติ ย่อยสลายได้ 100% ภายใต้แบรนด์ "Gracz"ร่วมมือกัน เปิดตัวสินค้า "เนื้อสัตว์รักษ์โลก บนถาดย่อยสลายได้" วางจำหน่าย ใน ท็อปส์ และท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์ สาขาที่ร่วมรายการ เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคและการดูแลสิ่งแวดล้อมโลกไปพร้อมกัน
ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น ภาวะโลกร้อนกำลังรุกคืบความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต อากาศเต็มไปด้วยฝุ่น หมอกควัน PM 2.5 ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีหลากหลายด้าน ไม่เฉพาะปัจจัยด้านหนึ่งด้านใด แต่ภาวะโลกร้อน ที่มนุษย์มีความวิตกกังวล ตลอดปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดคุยกันอย่างแพร่หลายบนเวทีโลก และมีความพยายามจะแก้ไข แต่ดูเหมือนว่าบางปัญหากลับรุนแรงขึ้น และกล่าวกันว่า 5 ปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบไปทั่วโลก "ขยะอาหาร" คือ 1 ใน 5 ของปัญหานั้น
จากรายงาน Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้การทำงานขององค์การสหประชาชาติ ฉบับล่าสุด (ปี 2024 )แจ้งชัดเจนว่า หากชาวโลกไม่รีบเปลี่ยนพฤติกรรมและช่วยกันฟื้นฟูโลกจากภาวะโลกร้อนในทันที! ไม่ช้าเราอาจจะก้าวข้ามจุดที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
ขยะอาหาร เป็นหนึ่งในปัญหาที่ได้รับการพูดถึง เรื่องอาหารเหลือทิ้งกลายเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากสถิติในแต่ละปีมีอาหารกว่า 1 ใน 3 ที่ผลิตขึ้นมาหรือประมาณ 1,300 ล้านตันลงเอยด้วยการเป็นขยะ และเพิ่มการสร้างก๊าซเรือน ดังนั้นจะดีมากไหมถ้าอาหารหรือวัตถุดิบที่เรานำมาปรุงและรับประทานนั้นไม่เหลือเป็นขยะ อีกทั้งผลิตภัณฑ์ในการห่อหุ้มอาหารหรือสินค้า สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
วันนี้ แบรนด์ Meats Me (มีทส์ มี )และแบรนด์ “Gracz”บรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อพืชธรรมชาติ ย่อยสลายได้ 100% ร่วมมือกันเปิดตัวสินค้า "เนื้อสัตว์รักษ์โลก บนถาดย่อยสลายได้" วางจำหน่าย ใน ท็อปส์ และท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์ สาขาที่ร่วมรายการ เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคและการดูแลสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาภาวะวิกฤตโลกไปพร้อมกัน โดยการนำของผู้บริหารทั้งสองแบรนด์คุณภาพที่มีความรับผิดชอบเพื่อการส่งต่อถึงผู้บริโภคอย่างปลอดภัยและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
นายวิทวัส ประจันตะเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์ Meats Me (มีทส์ มี) ผู้มีประสบการณ์บริหารกิจการร้านอาหาร มานานกว่า 18 ปี และพบว่า การบริหารจัดการวัตถุดิบมีส่วนสำคัญมาก ซึ่งประสบการณ์ทำให้มองเห็นโอกาสจนกระทั่งเปิดบริษัทให้บริการจัดเตรียมตัดแต่งเนื้อสัตว์ ผัก และวัตถุดิบอื่นๆ รวมถึงการออกแบบซอสปรุงรสให้กับร้านอาหารทั้งไทยและต่างประเทศที่เข้ามาเปิดในประเทศไทย ซึ่งร้านอาหารเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะมีสาขาเปิดให้บริการอยู่หลายแห่ง และต้องการวัตถุดิบเกรดเอ ซึ่งในตลาดสดไม่มีขาย ต้องอาศัยซัพพลายเออร์ บ้าง ตัวแทนจำหน่ายบ้าง ซึ่งก็จะไม่บริการจัดการเนื้อสัตว์เหล่านี้ ทางเจ้าของร้านจะต้องจ้างพนักงาน เพื่อจัดการแทน แต่ละวันต้องใช้เนื้อสัตว์จำนวนมาก ถ้าบริหารจัดการไม่ดีก็จะมีของเหลือทิ้งเป็นจำนวนมากเป็นต้นทุนที่สูญเสียทั้งค่าแรง ทั้งของที่สูญเสีย รวมถึงเรื่องของความสะอาดด้วย
นายวิทวัส ระบุว่าธุรกิจนี้ ยังมีคู่แข่งน้อย เพราะส่วนใหญ่บริการเหล่านี้จะมีอยู่ในตลาดสด ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน ความสะอาด แต่พอโรงงานของเราได้มาตรฐาน ร้านอาหารส่วนใหญ่ต้องการวัตถุดิบที่ดี ซึ่งจะทำให้อาหารรสชาติดี ปลอดภัย สดใหม่ สะอาด และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
"ด้วยเหตุนี้ทำให้เรามีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในทุกๆ ปี เพราะความต้องการของลูกค้ามีสูง รายได้ในปีที่ผ่านมา 2566 จากร้านอาหาร และส่งขายในศูนย์การค้าจำนวน 68 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ 2567 เพียง 2 เดือนในช่วงต้นปี มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเดือนประมาณ 10 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่ของเรายังคงมาจากร้านอาหารเป็นหลัก และวันนี้เราเน้นความปลอดภัยและความคุ้มค่าเพื่อผู้บริโภค คืนกำไรสู่สังคม"
ทั้งนี้โรงงานผลิตอาหาร OEM, ODM, OBM ให้บริการคัดสรรเฉพาะเนื้อสัตว์คุณภาพได้มาตรฐานจาก “ฟาร์มปลอดสารเร่งโต และสารเร่งเนื้อแดง” รวมไปถึงเนื้อสัตว์ที่เราจัดจำหน่ายทุกชิ้นปราศจากการฉีดไขมัน เพื่อให้ลูกค้าทุกท่านมั่นใจได้ว่าจะได้รับเนื้อที่มีคุณภาพ ด้วยสินค้าเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัวไทยโคขุน เนื้อวัวนำเข้า ตัดแต่ง พร้อมปรุง ไม่มีสิ่งใดเหลือทิ้งเป็นขยะ ได้รับมาตรฐานรองรับ GMP, FDA
ทางด้านนพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งและประธาน เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อพืชธรรมชาติ ย่อยสลายได้ 100% ภายใต้แบรนด์ “Gracz” ซึ่งเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เป็นธุรกิจไทยเจ้าหนึ่งที่ได้รับการแปะป้ายให้เป็นตัวอย่างธุรกิจอันเกี่ยวข้องกับสารพัดคำศัพท์ ไม่ว่าจะเป็น CSR (Corporate Social Responsibility) SE (Social Enterprise), BCG (Bio-Circular-Green) ,ESG (Environmental, Social, and Governance) SDGs (Sustainable Development Goals) Net Zero, Carbon Neutral และอื่น ๆ อีกมากมายและยังคงทำเรื่องเดิมจนถึงปัจจุบัน
นพ.วีรฉัตร เปิดเผยว่า สมัยที่เริ่มธุรกิจครั้งแรก ยังไม่มีคำว่า ESG หรือโลกร้อน เพียงเราเกิดจากความคิดที่ว่า ไม่อยากให้คนเป็นมะเร็ง แค่อยากหาของมาทดแทนโฟมและพลาสติก จนมาเจอเยื่อพืชธรรมชาติ ก่อนนั้นแม้แต่คำว่า PM 2.5 ก็ยังไม่มีใครรู้จัก พ.ศ. 2548 ที่หมอเริ่มจดบริษัท รู้เพียงแต่ว่าการนำของเหลือทางการเกษตรมาใช้ต่อ ได้ช่วยสุขภาพเกษตรกร ไม่ต้องเผาเป็นควันพิษ หลังจากนั้นให้หลัง 2 – 3 ปี อัล กอร์ นักการเมืองชาวอเมริกันถึงได้เริ่มพูดเรื่องโลกร้อน สังคมจึงเริ่มเข้าใจผลกระทบนี้ ซึ่งสินค้า Gracz ย่อยสลายเป็นปุ๋ยลงดินใน 45 วัน เมื่อใช้เสร็จไม่ต้องรอวันเผาเหมือนขยะทั่วไป เท่ากับได้ 2 เด้งทั้งเริ่มต้นและตอนจบไม่ต้องเผา
"หลังจากนั้นมารู้จักศัพท์ใหม่ ที่ตั้งแต่ต้นจนจบไม่เหลือขยะเลย เขาเรียกกันว่า Circular Economy จนช่วงปัจจุบันนี้ เริ่มมีคนขอให้ระบุคาร์บอนฟุตพรินต์ลงไปในผลิตภัณฑ์ด้วย เพื่อให้เข้าธีมลดคาร์บอน ซึ่งที่เราทำมาทั้งหมดไม่ได้ทำเรื่องใหม่เลย ทำตามหลักธรรมชาติ ไม่มีอะไรพิเศษ”
นพ.วีรฉัตร กล่าวว่า เยื่อพืชธรรมชาติใหม่ ๆ นอกจากชานอ้อยที่มีเส้นใยขนาดกลาง ก็เริ่มหาเยื่อใยทั้งสั้นและยาวมาผสมกันให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ขึ้นอยู่กับของเหลือทางการเกษตรแต่ละฤดูกาล ทุกวันนี้ส่วนผสม 50 – 60% ในกล่อง Gracz ยังเป็นชานอ้อย ผสมกับเยื่อใยสารพัดชนิด เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ใยสับปะรด ผักตบชวา ยึดโยงด้วยแป้งสูตรพิเศษคล้าย ๆ แป้งเปียกเป็นตัวเชื่อม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จดสิทธิบัตรระดับเอเชียไว้แล้ว