สสว.เดินหน้าโครงการ “SME ปัง ตังได้คืน” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ช่วยอุดหนุนรายจ่าย 50-80% โดยปี 67 ต่อยอดสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนหรือ (ESG) ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับข้อกีดกันการค้าด้านสิ่งแวดล้อม หวังพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ให้การผลิตมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนลดลง

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ Sustain Thai SME ด้วย BDS เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในขณะนี้การทำธุรกิจที่ยั่งยืนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG เป็นเมกะเทรนที่ภาคธุรกิจทุกขนาดจะต้องปรับตัว เนื่องจากเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมจะเป็นเงื่อนไขกติกาการค้าใหม่ในตลาดโลก โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบ ก็คือ กลุ่มที่ทำการส่งออกโดยตรง  ซึ่งมีจำนวนประมาณ 2 หมื่นราย รวมไปถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในซัพพลายเชนของบริษัทส่งออกเหล่านี้ ก็จะได้รับผลกระทบตามมา ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบรับกับแนวโน้มที่กำลังจะเป็นมาตรฐานใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบยุโรป 

โดย สสว.จึงได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าสู่ระบบ BDS “Business Development Service for Sustainable: BDS for Sustainable” หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” ปี 2567 ซึ่งได้ดำเนินการเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง เพื่อให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย 50-80% หรือ สูงสุดถึง 200,000 บาท เพื่อช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาธุรกิจใน 5 หมวด คือ การพัฒนาคุณภาพการผลิตและบริการ การตรวจวัดมาตรฐานสินค้าและบริการ เช่น การออกฉลากโภชนาการ การตรวจสอบอายุสินค้า การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ เช่น ซอฟต์แวร์จัดการคลังสินค้า การพัฒนาและบริหารธุรกิจ และการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด โดยในปีนี้จะเพิ่มในส่วนของการพัฒนาธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียว เช่น การตรวจสอบคาร์บอนเครดิต มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอี ได้เตรียมความพร้อมสำหรับมาตรฐานสีเขียวที่มีความเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีหน่วยให้บริการหรือ BDSP ได้ขึ้นทะเบียนกับแพลตฟอร์ม BDS กับ สสว. แล้วถึง 406 หน่วยงาน และมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 17,570 ราย

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยขน์ตามขนาดของธุรกิจดังนี้ 1.ผู้ประกอบการภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี ภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 50% หรือไม่เกิน 200,000 บาท 2.ผู้ประกอบการภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80% หรือไม่เกิน 100,000 บาท 3.ผู้ประกอบการรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80% ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งจะเปิดรับสมัครไปจนถึงเดือนกันยายน 2567

นอกจากนี้นายวีระพงศ์ยังกล่าวต่อไปพร้อมยกตัวอย่างว่า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรปจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆเช่น มีการตรวจวัดทุกอย่างที่ปล่อยออกจากโรงงานว่าจะต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิของน้ำทิ้ง การสูบน้ำไปใช้ในโรงงานจะต้องไม่ติดปลาหรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ทำให้สัตว์ประจำถิ่น หรือแมลงต้องอพยพออกจากพื้นที่ เนื่องจากจะส่งผลต่อภาคการเกษตร โดยโรงงานที่เข้าไปตั้งดำเนินงานในพื้นที่ใดจะต้องไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมตัว เพื่อให้ผ่านมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ในการประชุม COP26 ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 10% ภายในปี 2030 หรือในอีก 6 ปีข้างหน้า และจะต้องก้าวไปสู่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 หรือในอีก 21 ปีข้างหน้า ดังนั้นภาคธุรกิจไทยจะต้องเร่งปรับตัวตามกรอบเวลาเหล่านี้ ซึ่งภาครัฐก็ได้เตรียมออกกฎหมายในเรื่องของสภาวะอากาศ ส่วนในเรื่องของมลภาวะ และเรื่องขยะจะใช้แนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาแก้ไข รวมทั้งการดูแลสุขภาวะของประชาชน ความปลอดภัย ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และมาตรฐานการใช้แรงงาน ส่วนเรื่องธรรมาภิบาล ก็มุ่งเน้นเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ และการทำงานของภาครัฐ รวมถึงการต่อต้านการคอร์รัปชัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นมาตรฐานการค้าที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนหรือ (ESG) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เราจะเห็นได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องจัดทำรายงานแผนดำเนินงานด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) รวมถึงธนาคารต่างๆก็มีข้อกำหนดเกี่ยวกับอีเอสจี ในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ กล่าวคือ หากผู้ขอสินเชื่อมีมาตรการดังกล่าวก็จะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงแหล่งทุน รวมทั้งเริ่มมีสินเชื่อกรีนโลนเพื่อปรับปรุงกิจการในด้านอีเอสจีอีกด้วย “ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อันดับแรกจะต้องมีความรู้ว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนหรือ (ESG) คืออะไร เกี่ยวข้องกับบริษัทตัวเองอย่างไร และจะต้องมีแผนการดำเนินงานอย่างไร ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ผู้ส่งออกโดยตรง แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในซัพพลายเชนของผู้ส่งออกทำให้ต้องปรับตัวไปด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส โดยบางกรณีก็เป็นข้อกีดกันทางการค้า เช่น ในยุโรปเริ่มบังคับใช้มาตรการปรับภาษีสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก็กำลังจะเก็บภาษีในด้านนี้ตามมา รวมทั้งกระแสผู้บริโภคก็มีแนวนโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งหากผู้ผลิตไม่ปรับตัวก็จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันอย่างแน่นอน

นายวัชรพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด ในฐานะของตัวแทนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเสวนา กล่าวว่า “การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกบริษัทจะต้องดำเนินการและมีความเข้าใจ คือเราในฐานะคนทำธุรกิจต้องตระหนักว่ากิจการของเราสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบตัวหรือไม่ โดยไม่ใช่เพียงแค่เป็นกิจกรรมของบริษัทเท่านั้น แต่ต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ต้องทำทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ ทุกคนตั้งแต่ผู้นำองค์กรไปจนถึงพนักงานต้องมีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักมองว่าปรับปรุงไปสู่มาตรฐาน หรือการดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืน (ESG) จึงไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มต้นทุนให้กับกิจการ เพราะหากทำได้ดีถูกต้องปัญหาของบริษัทก็จะน้อยลงการสูญเสียในระบบจะลดลง ทำให้ต้นทุนลดลง คุณภาพของสินค้าก็ดีขึ้น” ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ มีขั้นตอนง่ายๆ โดยจะต้องเป็นสมาชิก ONE ID ก่อน เพื่อสามารถยืนยันตัวตนได้ แต่หากยังไม่ได้เป็นสมาชิก ให้คลิกเข้าไปลงทะเบียนได้ที่ https://bizportal.go.th/ จากนั้นยืนยันตัวตน แล้วรอฟังผล เมื่อทราบผลแล้วก็สามารถ ยื่นข้อเสนอ รออนุมัติและทำสัญญา โดยลงนามในสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ BDS หรือลงนามในสัญญาด้วยตนเอง ณ ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (OSS) ทั่วประเทศ เพียงเท่านี้ ก็สามารถเริ่มรับบริการและชำระค่าใช้จ่าย และเข้าสู่ระบบ การรับตังได้คืนในลำดับต่อไป

#สสว #SMEปังตังได้คืน #สิ่งแวดล้อม