วันที่ 17 เม.ย.2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับวินิจฉัยในคำร้องของประธานรัฐสภาประเด็นการบรรจุวาระการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และขั้นตอนทำประชามติก่อนการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ว่า ในมิติของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกย้อนกลับไปในสถานการณ์ของการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นตนมีข้อเสนอสำคัญ คือ อยากให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทบทวนการตัดสินใจของตนเองหลังจากไม่บรรจุการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ยกร่างฉบับใหม่ ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ในวาระการพิจารณา เป็นการบรรจุร่างแก้ไขเข้าสู่รัฐสภา เพื่อเดินหน้าสูตรทำประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งกรณีดังกล่าวตนมองว่าตามมติของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้สามารถบรรจุได้อย่างสะดวกใจ
นายพริษฐ์ กล่าวในข้อเสนอต่อไปด้วยว่า หากจะเพิ่มประชามติตอนต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำประชามติ 3 ครั้ง ตนมองว่ารัฐบาลควรตัดสินใจเดินหน้า แต่ไม่ควรนำข้อเสนอของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีร่างคำถามที่เป็นเงื่อนไขยัดไส้ปลีกย่อย ว่าไม่แก้ไขบางหมวดของรัฐธรรมนูญ แต่ควรพิจารณาประเด็นคำถามที่เปิดกว้าง เพิ่มโอกาสของคนที่เห็นแตกต่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตัดสินใจอย่างชัดเจน
“สำหรับกรอบเวลานั้น ผมมองว่าขึ้นอยู่กับว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระเมื่อใด และการพิจารณาจะเกิดขึ้นช่วงเวลาไหน ส่วนท่าทีของสว. ต่อการพิจารณาเนื้อหาก่อนทำประชามตินั้น ผมเชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยืนยันชัดเจนต่อการเดินหน้าได้ และการลงมติของสว.ในวาระรับหลักการนั้นไม่ควรเป็นอุปสรรค ที่จะไม่ลงคะแนนเห็นชอบให้ มี ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น สว.ไม่ควรหยิบเหตุผลทางกฎหมาย มายกมือไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายพริษฐ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองเกมรัฐบาลต่อการเดินหน้าเรื่องดังกล่าวอย่างไร หลังจากที่พยายามยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ต้องรอความชัดเจนจากประธานรัฐสภา ว่าจะทบททวนหรือไม่ทบทวนการบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญสู่ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีทางเลือก คือ บรรจุเพื่อให้เดินหน้าสู่การทำประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งตนหวังว่าจะเป็นแนวทางนี้ แต่หากไม่ทบทวน หนีไม่พ้นที่ต้องทำประชามติก่อน
เมื่อถามว่าเรื่องดังกล่าวต้องรอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยหน้าหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า โดยหลักการต้องรอเปิดประชุมรัฐสภาในเดือน ก.ค. แต่ในทางทฤษฏีสามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ เหมือนอย่างที่ทราบว่าจะเปิดประชุมนอกสมัยประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลด้วย