เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า...
ท่านที่ได้อ่านโพสต์ที่แล้วของผม คงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไป และเนื้อหาของ MOU 44 เพิ่มมากขึ้นแล้วนะครับ วันนี้เราลองมาดูกันว่า การตัดสินใจเลือกทางเลือกไหนจึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด
ว่ากันตามจริง MOU 44 ก็มีข้อดีอยู่บ้าง ตรงที่เป็นกรอบที่จะให้ไทยและกัมพูชาเจรจากัน และยังมีการป้องกันสิ่งที่หลายคนกลัวกัน นั่นคือ ใน MOU 44 มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า การเจรจาเรื่องเขตแดน กับเรื่องการแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนจะต้องทำไปพร้อมๆกัน จะเจรจาแยกกันไม่ได้ ดังนั้นการจะทำอย่างที่คุณทักษิณพูด คือเจรจาแบ่งผลประโยชน์กัน 50:50 โดยยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องเขตแดนนั้น จึงทำไม่ได้ และยังมีข้อความที่ระบุว่า การเจรจาเรื่องการกำหนดอาณาเขตพื้นที่ทางทะเลและไหล่ทวีป ตลอดจนเขตเศรษฐกิจจำเพาะ อันเป็นหน้าที่ของ Joint Technical Committee ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของทั้งสองประเทศ ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี จุดที่น่ากลัวคือ ทั้งสองฝ่ายที่ได้ลงนามใน MOU 44 ถือว่าได้รับรู้ หรือ recognized แล้วว่า ผลจากการอ้างสิทธิในทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจเฉพาะในอ่าวไทย ที่แตกต่างกันของทั้งสองประเทศ ทำให้เกิดพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกัน
ดังนั้น หากตกลงเรื่องเขตแดนกันไม่ได้ และมีการนำเรื่องนี้ไปสู่ศาลโลกในอนาคต ก็อาจมีการอ้างได้ว่า เราได้รับรู้แล้วว่า มีการอ้างสิทธิในทะเลอาณาเขตและไหล่ทวีปที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิที่ทับซ้อนกัน แต่ไม่ได้เคยทักท้วงหรือคัดค้านแต่อย่างใด จึงอาจถูกฝ่ายกัมพูชานำประเด็นนี้ไปใช้ประโยชน์ในการสู้คดีในศาลได้
ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้น กลับไม่ใช่ตัว MOU 44 เอง แต่กลับเป็นตัวรัฐบาลชุดนี้ ว่าเราสามารถเชื่อได้หรือไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้ จะพยายามอย่างที่สุดที่จะรักษาดินแดนที่ควรเป็นของไทยไว้ให้ได้ ไม่เพียงแต่เกาะกูด แต่รวมทั้งพื้นที่ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชโองการไว้แล้วด้วย เพราะหากทั้งสองฝ่ายเจรจาทั้งเรื่องเขตแดนและเรื่องผลประโยชน์ไปพร้อมๆกัน แล้วตกลงกันว่า จะแบ่งกัน 50:50 ทั้งอาณาเขต และทั้งผลประโยชน์จากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอน เข่นนี้ ไม่ได้ขัดกับ MOU 44 แต่จะทำให้ประเทศชาติเสียดินแดนที่ควรเป็นของเรา และยังเป็นการขัดหรือฝ่าฝืนกับพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วย
ถามว่า เราจะไว้ใจรัฐบาลชุดนี้ได้หรือไม่ ดูจากพฤติการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น กล่าวคือ สมเด็จ ฮุนเซ็น เดินทางมาเยี่ยมคุณทักษิณ ชินวัตรทันทีที่ได้รับการพักโทษให้ไปอยู่ที่บ้านได้ คุณแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก่อนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนกัมพูชา และได้มีการพูดคุยกับฮุน มาแณต นายกรัฐมนตรี คุณทักษิณไปพูดในงาน Dinner Talk ว่าไทยควรจะแบ่งผลประโยชน์กัน 50:50 กับกัมพูชา และเมื่อคุณแพทองธารไปประชุมสุดยอดอาเซียนที่ สปป.ลาว ในขณะที่สื่อมวลชนไทยไม่ได้เสนอข่าว แต่ กลับเป็น Bloomberg ที่เสนอข่าวว่า นายกรัฐมนตรีของไทยได้เจรจาพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรื่องการแบ่งผลประผลประโยชน์บนพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในอ่าวไทย หลังจากนั้นรัฐบาลไทยก็เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่
ด้วยเหตุข้างต้น เราจึงไม่สามารถจะให้ความไว้วางใจต่อรัฐบาลชุดนี้ได้เลย และเราก็ไม่ทราบว่า ทั้งสมเด็จ ฮุนเซ็น และคุณทักษิณ ได้ไปตกลงกับบริษัท Chevron อย่างไรบ้างหรือไม่ ซึ่งว่ากันว่า Chevron ได้รับสัมปทานในพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะไปเมื่อกว่า 50 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเริ่มการขุดเจาะได้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องอาณาเขต ที่น่าห่วงคือ นอกจากผลประโยชน์ของชาติแล้ว จะมีผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ของพรรคมาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ดี มีอีกประเด็นที่ฝ่ายที่คัดค้านหยิบขึ้นมาชี้ว่า MOU 44 เมื่อเป็นสนธิสัญญา ก็จะต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่ต้องการนำเข้าสภา เพราะต้องการทำเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด นายกรัฐมนตรีเองก็ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องนำเข้าสภา หลังจากที่หันไปขอคำยืนยันจากคุณภูมิธรรม เวชยชัย แล้ว
ดังนั้นเพื่อความแน่ใจ เราจึงต้องกลับไปดูรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับคือ
1. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 224 บัญญัติไว้ว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือกับองค์กรระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”
2. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 178 บัญญัติไว้ว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือกับองค์กรระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ..........ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ...”
3. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 150 บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกัน
คำถามคือ MOU 44 เป็นสนธิสัญญา หรือหนังสือสัญญาหรือไม่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ผู้ลงนามฝ่ายไทย ยืนยันว่า MOU 44 เป็นสนธิสัญญา และจากแถลงการณ์ร่วม หรือ Joint Communique ของไทยและกัมพูชา ที่นายกรัฐมนตรีไทย คุณทักษิณ ชินวัตร และสมเด็จ ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกันพูชาเป็นผู้ลงนาม ได้ให้การรับรอง MOU 44 ดังนั้นจึงถือได้ว่า MOU 44 เป็นสนธิสัญญาหรือหนังสือสัญญา แต่ไม่ว่าจะเป็นหนังสือสัญญาหรือไม่ ความจริงคือ ใน MOU 44 มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยอยู่อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย .... หรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และ MOU 44 เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ไม่ได้เคยได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ดังนั้น MOU 44 จะเป็นโมฆะหรือไม่
พิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดที่มีการนำเสนอออกมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้ ทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศไทยขณะนี้ คือยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า MOU 44 ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่ และหากต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา MOU 44 เป็นโมฆะหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า เมื่อมีปัญหาว่า หนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรค 2 (เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย) และวรรค 3 (มีผลกระทบต่อความมั่นคง) คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า MOU 44 ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาและเป็นโมฆะ รัฐบาลไทยควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยไม่ยอมรับประกาศเส้นเขตแดนใน พ.ศ.2515 ของกัมพูชา และพร้อมที่จะเจรจากับกัมพูชาโดยต้องเป็นไปตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พ.ศ. 2516 และต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยทะเล อาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ที่กระทำ ณ กรุงเจนีวา ค.ศ.1958 และยึดถือมูลฐานแห่งสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
ปัญหาคือ ทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศไทย อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดของพรรคเพื่อไทยและเจ้าของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น แทนที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 แกนนำฝ่ายคัดค้านทุกท่าน ควรร่วมมือกันกดดันให้รัฐบาลส่งเรื่อง MOU 44 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลหากรักชาติ และคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ของพรรคจริง ก็ควรเข้ามาร่วมกดดันด้วย
ท้ายที่สุด ประชาชนทุกคน ก็ควรร่วมกันกดดัน เพราะมีแต่ทำเช่นนี้จึงจะสามารถป้องกันไม่ให้มีการนำดินแดนที่ควรเป็นของชาติไปแบ่งให้ชาติอื่น เพื่อแลกกับการได้ผลประโยชน์ที่ควรเป็นของเราอยู่แล้ว ได้สำเร็จ
หากรัฐบาลไม่ยอมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยังคงดึงดันตั้งกรรมการ JTC และเดินหน้าเจรจากับกัมพูชา โดยไม่ฟังเสียงใครทั้งสิ้น ก็ฟันธงได้เลยว่า รัฐบาลมีวาระแอบแฝงที่เป็นผลประโยชน์อย่างมหาศาล
เราจึงต้องไม่ยอมมัน