"ศาล รธน." มีมติเอกฉันท์ตีตกคำร้อง "รมว.ยุติธรรม-ราชทัณฑ์" เอื้อประโยชน์ "ทักษิณ" รักษาตัว "ชั้น 14" ชี้หลักฐานยังห่างไกล "พริษฐ์"ชี้"ปปช."สอบปม"ทักษิณ"ชั้น 14 ประชาชนสนใจ ต้องทำอย่างเที่ยงตรง แนะให้กลไกกมธ.สอบคู่ขนาน ด้าน”จตุพร-กปปส.”บุก “ปปช.”ยื่น 4 ข้อเสนอ เร่งรัดคดีนักโทษชั้น 14 "แก้วสรร" ชี้หากพบกระบวนการช่วยเหลือ ศาลฎีกานักการเมืองสั่งจับ "ทักษิณ" กลับขังคุก ไม่ต้องรอปปช.ชี้มูล
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) พร้อมเครือข่ายอดีตแกนนำพันธมิตรและคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือให้เร่งรัดพิจารณาข้อกล่าวหา นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ,พล.ต.ท. ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กรณีส่งตัวผู้ต้องขัง นายทักษิณ ชินวัตร จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ
โดย นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ(คปท.) อ่าน 4 ข้อเสนอ เพื่อประกอบการพิจารณา คือ 1.คดีส่งตัวไปรักษานอกเรือนจำ พบว่ามีพยาน เป็นบุคคลชัดเจน ได้เข้าไปเยี่ยมและพบว่าไม่มีอาการเจ็บป่วย อีกทั้งยังไม่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ควบคุม หรือประจำอยู่ห้องพิเศษดังกล่าว และยังไม่ปรากฏ หลักฐานการตรวจ หรือหลักฐานความเห็นของแพทย์ที่อนุญาต ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งพิธีการทั้งหมดขัดต่อขั้นตอนกฎกระทรวง ทั้งสิ้น และไม่ว่าป.ป.ช.จะขอความร่วมมือ ไปเท่าไรก็ไม่ได้รับ จึงเป็นหลักฐานที่เพียงพอว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าขทุจริตช่วยเหลือกัน โดยมิชอบ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ ของกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง ป.ป.ช.จึงต้องเร่งไต่สวน
2.คดีให้อยู่บ้านพักโทษ โดยมติการให้พักโทษ โดยอ้างว่า นักโทษมีสภาพร่างกายที่ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งการนั่งเดินขึ้นบันไดอาบน้ำแต่งตัวรับประทานอาหาร จึงจำเป็นต้องพักโทษให้ แต่ปรากฏว่าหลังการพักโทษ นักโทษกับแข็งแรงขึ้นมาโดยพลัน เดินทางไปทั่วประเทศ ขึ้นปราศรัย ร่วมงานเลี้ยง ใช้ชีวิตปกติได้ทุกอย่างจึงไม่อาจเชื่อได้ว่า การพักโทษ มาจากการประเมินสภาพร่างกายโดยสุจริตและถูกต้อง ดังนั้นจึงอยากให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าไปเป็นอีกหนึ่งคดีในชั้นการพิจารณาของป.ป.ช.ด้วย
3.เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย โดยกฎหมายไทยพยายามปราบปรามคดีทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นพิเศษ แต่ปรากฏว่า หลังดำเนินคดีไปแล้วไม่มีกรอบ เกณฑ์การตรวจสอบที่เคร่ง ปล่อยให้กระบวนการทุจริตตัดทอน โทษทัณฑ์ตามคำพิพากษา กำเริบเสิบสานเป็นผลให้ความยุติธรรมเสื่อมสลาย จนประชาชนสิ้นศรัทธา
4.เข้าข่ายเป็นกระบวนการทุจริตระดับชาติ ใช้เงินสร้างอำนาจ แล้วใช้อำนาจมา สร้างเงิน สร้างพวก สร้างสื่อ สร้างผลงานทุจริตไว้ 2 ทศวรรษ จนเสียหายไปกว่าแสนล้าน และ หัวหน้ากระบวนการก็ยังยอมรับคำขออภัยโทษ ว่าได้ทำผิดไปแล้วจริงๆ แต่มาบัดนี้แทนที่จะยอมรับโทษ กับหลีกเลี่ยงแสงตน เข้าครอบงำพรรค ผลักดันนโยบายทุจริต สร้างประชานิยมไม่หยุดยั้งและล่าสุด ยังประกาศจะพาน้องสาวที่เป็นจำเลยหนีคดีทุจริตรับจำนำข้าวกลับมาด้วย ถือเป็นพฤติการณ์ทุจริตฉ้อฉลรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมหยุดบทบาทการเมือง และพาประเทศไปในทางต่ำ
นายพิชิต กล่าวอีกว่า นี่คือหายนะ ที่เห็นได้ชัด และอนาคตที่มืดมิดเช่นนี้ จึงฝาก ป.ป.ช. ตระหนักและทุ่มเท รับผิดชอบ กู้อนาคตบ้านเมืองอย่างเต็มสติกำลัง ขณะเดียวกัน ยังจะมีการยื่นให้สอบบุคคลเพิ่มเติม ทั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และนางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพราะมองว่าอยู่ในกระบวนการที่ช่วยนายทักษิณด้วย
ด้าน นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า จากที่เคยเป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย และตรวจยึดทรัพย์นายทักษิณมาแล้ว มองได้ว่างานนี้หลักฐานและข้อกฎหมายชัดเจนว่ามีมูลความผิด และตนมั่นใจในการทำงานของป.ป.ช. และคิดว่ากฎหมายกำลังเดินไปตามทางที่ถูกที่ควร จึงขอให้เดินหน้าเต็มที่ และคิดว่าจะใช้เวลาไม่นาน พร้อมขอให้แพทย์ที่รักษานายทักษิณออกมาพูด โดยขอให้เอาตัวการจริงๆ มาลงโทษ หลายคนถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับนายทักษิณ คำตอบในทางกฎหมายถ้าหมายศาลให้ขัง และหากไม่มีการขังตามหมาย ต้องออกหมายใหม่กลับไปเข้าคุก เป็นอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง ที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กำลังจะไปร้อง ซึ่งศาลสามารถเรียกสำนวนจากป.ป.ช.ไปดูและวินิจฉัยได้ จุดสำคัญศาลสั่งกลับเข้าคุกได้ถ้าหลักฐานชัดเจน โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของป.ป.ช. เพราะคดีนี้เป็นคดีเจ้าหน้าที่ ดังนั้น นายทักษิณ เตรียมตัวได้ พร้อมกับกล่าวยามว่าหากป.ป.ช.ทำเรื่องนี้ให้กระจ่างจะยอมกราบเลย
ส่วน นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ที่มาวันนี้ไม่ได้ต้องการกวักมือให้ใคร ยึดอำนาจหรือตีงูให้กากิน หรืออยากได้ตำแหน่งแห่งหนอะไร เพราะทุกคนก็แก่กันหมดแล้ว แต่เป็นสำนึก ในการเป็นพลเมือง ที่ไม่ควรสยบยอมให้ใครคนใดคนหนึ่งกดข่มกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรให้ใครลอยตัวอยู่เหนือโทษทัน
ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำ นปช. กล่าวว่า มาให้กำลังใจ ป.ป.ช. เพราะมีความไม่สบายใจในอนาคต และท่านทราบดี เพราะคดีของนายทักษิณ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูลเอง วันนี้เรามาด้วยความหวังในการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.อย่างตรงไปตรงมา ในจำนวนผู้ที่ถูกตั้งองค์คณะไต่สวน 12 คนนี้ ใครไม่ผิดคือไม่ผิด ไม่ได้ต้องการมาทำให้ดำเป็นขาว ขาวเป็นดำ แต่ต้องการมาให้ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ดีเป็นดี ชั่วเป็นชั่ว ยอมรับว่าเรื่องการไต่สวนวันนี้ยังไม่ไว้ใจจนกว่าท่านจะได้พิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัยแล้ว และได้ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถึงวันนั้นตนและคณะจะมาขอบคุณอีกครั้ง
นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นที่ประจักษ์นายทักษิณไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว เราต้องการเห็นน้ำยาของ ป.ป.ช.ไม่ต้องการเห็นขนมจีน เวชระเบียน ป.ป.ช.ไม่มีปัญหาเรียกมาใช่หรือไม่ กรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ มีการขอไปยัง รพ.กรมราชทัณฑ์และรพ.ตำรวจ ไม่ได้ล้วงความลับผู้ป่วย ซึ่งการจะอ้างเป็นความลับ ป.ป.ช.สามารถขอเรื่องการทำหน้าที่ว่าได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ หากโรงพยาบาลตำรวจไม่ให้เวชระเบียน ป.ป.ช.ต้องดำเนินคดีตั้งแต่ ผบ.ตร. รพ.ตำรวจ แม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร. คือ นายกรัฐมนตรี
ด้าน นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการป.ป.ช ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวน บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับคดีนี้แล้ว และทางคณะกรรมการปปชมีมติชัดเจน ว่าหากพบ บุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมกระทำความผิด ก็ให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปด้วย ดังนั้น ไม่ต้องกังวล เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตามความคาดหวังของประชาชน และต่ำกว่ามุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และขอยืนยันว่าทางป.ป.ช เราทำงาน ตามพยานหลักฐาน เป็นหลัก ทำให้บางเรื่องบางอย่างอาจไม่ตรงตามใจของประชาชน แต่การพิจารณาของเราต้องดูพยานหลักฐาน ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไต่สวน จะรวบรวมมาพิจารณา เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และพร้อมเป็นเสาหลัก ในกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากยื่น 4 ข้อเสนอ บรรดาแกนนำได้เข้าไปพูดคุยเป็นการภายในกับ เลขาธิการ ป.ป.ช. ด้านในอาคาร
ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะไต่สวนกรณีการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประชาชนให้ให้ความสนใจ และมีกรรมาธิการฯ ที่มี สส.ของพรรคเราเป็นประธาน หรือสมาชิกที่เป็นแกนนำในเรื่องดังกล่าว นำเรื่องเข้าหารือในชั้นกรรมาธิการฯ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มาแทนที่การทำงานของ ป.ป.ช.และต้องการเห็นการเดินหน้าดังกล่าว ดำเนินการอย่างเที่ยงตรงอย่างเป็นธรรม
"บทบาทของ กมธ.เข้ามาตรวจสอบคู่ขนานกันก็จะมีประโยชน์ ช่วยแก้ไขข้อสงสัยที่ประชาชนมีกับกรณีต่างๆ การที่ประเทศไทยมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกคน ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นในนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น" นายพริษฐ์ กล่าว
วันเดียวกัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาคำร้องของ นายคงเดชา ชัยรัตน์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ถูกร้องที่ 1 มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์และรับทราบการบังคับใช้กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ พ.ศ.2563 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯผู้ถูกร้องที่ 3 มีอำนาจให้ความเห็นชอบและอนุญาตบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าวส่งตัว นายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีอาการป่วยรุนแรง
อีกทั้งไม่ได้ดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรค 1 ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 11 พ.ย.67 โดยขอให้อัยการสูงสุดร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณชินวัตรเลิกการกระทำที่เป็นการครอบงำหรือจูงใจ ให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 เลิกการกระทำดังกล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำพร้อมเป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นที่ชัดเจนเพียงพอและยังห่างไกลเกินกว่าเหตุที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 กระทำการอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพผู้พิการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา