“ชาวบ้านศรีสะเกษ”ประกาศชัยชนะ! หลังค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลร่วม 6 ปี

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศาลาวัดบ้านตาจวน ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ตัวแทนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษและเครือข่าย ประมาณ 100 คน ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “6 ปี บทเรียนการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจากศรีสะเกษถึงภาคอีสานและการจัดการทรัพยากรชุมชน” โดยได้มีการอ่านแถลงการณ์ “6 ปี ประกาศชัยชนะ รัฐบาลหยุดเอื้อนายทุนเขมือบทรัพยากรชุมชน” ซึ่งมีข้อเสนอต่อรัฐบาลคือ 1.ให้หยุดเอื้อนายทุนเขมือบทรัพยากรชุมชน ยกเลิกโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน 2.รัฐจะต้องร่วมกับชุมชนสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อศึกษาและประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม(เอสอีเอ) เพื่อดูขีดความสามารถในการพัฒนาเชิงพื้นที่ซึ่งไม่ทำลายระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อชุมชน  

นายนรชัย สำราญ ตัวแทนกรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า กว่าจะมาถึงชัยชนะในวันนี้จากการร่วมมือกันในการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ทางกลุ่มได้ร่วมกันคัดค้านมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งรูปแบบในการขับเคลื่อนเพื่อคัดค้านเริ่มจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เพราะชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับการจะมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่เพราะมองว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรชุมชน จึงนำมาสู่การคัดค้านในรูปแบบ

น.ส.สุชชยานันท์ ศรีสันติแสง รองนายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์กระสังข์ กล่าวว่า รู้สึกมีความดีใจที่ได้มาร่วมในงานประกาศชัยชนะจากการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล การที่กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษและเครือข่ายพี่น้องหลายพื้นที่ช่วยกันคัดค้านอุตสาหกรรม เนื่องจากพื้นที่โรงตั้งโงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมาตั้งอยู่ใกล้ชุมชน วัด โรงเรียน และชาวบ้านรับรู้ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านมลพิษ เช่น ฝุ่น เสียง ควัน ตลอดการแย่งชิงทรัพยากรชุมชนด้วย

นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กล่าวว่า  นโยบายการขยายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ออกมาโดยรัฐบาลทหาร พ.ศ.2558 นั้น เป็นนโยบายที่จะสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 58 โรงในภาคอีสาน ซึ่งคนอีสานไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจแต่อย่างใด และแต่ละพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายก็เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ซึ่งนโยบายนี้เป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนน้ำตาลเพื่อปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้านอย่างแท้จริง

นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานคณะกรรมการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) ภาคอีสาน กล่าวว่า ถือว่าเป็นบทเรียนการต่อสู้ของกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้ร่วมกันยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาล ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ขนาด 40 เมกะวัตต์  ตั้งแต่ในช่วงปี 2561 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ลุกขึ้นมาคัดค้านโดยสันติวิธี เนื่องจากชาวบ้านไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อน และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม ขณะที่พื้นที่จะจัดตั้งโรงงานไม่เหมาะสมและพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตรนั้นไม่มีวัตถุดิบหลักของโครงการเนื่องจากส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และทำเกษตรผสมผสาน อาจจะมีการแย่งชิงทรัพยากรน้ำใต้ดิน เพราะว่าชุมชนส่วนใหญ่ใช้น้ำใต้ดินในการบริโภค นอกจากนี้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชน

“ผมมองว่าชุมชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการใช้สิทธิร่วมกันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน จึงทำให้วันนี้ทางกลุ่มกล้าที่จะประกาศชัยชนะว่าพวกเราได้ปกป้องวิถีชาติพันธุ์ได้สำเร็จจากทุน  ประกอบกับทางบริษัทที่ขอใบประกอบกิจการจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้หมดอายุลงแล้วตามกรอบระยะเวลา 5 ปี ตามสัญญา ตอนนี้เป็นระยะเวลา 6 ปีแล้ว และวันนี้ทางกลุ่มขอประกาศว่าชัยชนะจากการต่อสู้ของพี่น้องทุกคน เกิดจากการไม่ย่อท้อ และอยากเห็นการพัฒนาที่ไม่ทำลายชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้กำหนด”นายสิริศักดิ์ กล่าว