ร้อยเอ็ดเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา กว่า70 คน บุกศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ดยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯค้านโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้หวั่นกระทบพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ สินค้า GI ของชุมชน พร้อมยื่นค้านจัดเวที ค.2 ประกอบ EIA ที่จะมีขึ้นวันที่ 18 ก.ค. นี้

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 เวลา 12.00 น.โดยประมาณ เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ประกอบด้วย สภาองค์กรชุมชนตำบลโนนสวรรค์ สภาองค์กรชุมชนตำบลสระบัว กลุ่มนาแปลงใหญ่อำเภอปทุมรัตต์ นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อยื่นหนังสือและเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงการดำเนินโครงการอุตสาหกรรม โครงการโรงงานผลิตน้ำตาล และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ หลังก่อนหน้านี้ได้มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้า GI (Geographical Indication) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการกำลังจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ค.2) เพื่อประกอบการจัดทำ EIA 2 ฉบับ คือ EIA โรงงานผลิตน้ำตาล และ EIA โรงไฟฟ้าชีวมวล ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 

ด้าน ทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ร่วมหารือกับเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาด้วยตนเอง เพื่อรับฟังข้อมูลสถานการณ์ รวมถึงข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ คือ 1. ขอให้ย้ายพื้นที่ตั้งโรงงานของบริษัททั้งสองออกไปจากพื้นที่ทุ่งกุลาฯ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการกำหนดพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยในอนาคต และ 2. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ค.2) เพื่อประกอบการจัดทำ EIA 2 ฉบับ ในวันที่ 18 กรกฎาคม นี้ เนื่องจากมองว่าจะมีการเกณฑ์คนเข้าร่วมรับฟังในเวทีเพียงฝ่ายเดียวและกีดกันคนที่เห็นต่างไม่ให้เข้าร่วมเวที

ภายหลังการเจรจา ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับปากจะแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้เลื่อนการจัดเวทีฯ วันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ออกไป ส่วนกำหนดวันและสถานที่ที่จะจัดในครั้งต่อไปจะมีการแจ้งอีกครั้ง โดยเน้นให้กระบวนการเป็นไปตามข้อกฎหมายและมีความเป็นกลาง พร้อมจะแจ้งไปยังนายอำเภอปทุมรัตต์ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านวางตัวเป็นกลาง หลังชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเรื่องการเกณฑ์คนเข้าร่วมเวที ค.2 แต่ยังไม่รับเรื่องให้ย้ายโรงงานออกจากพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ โดยให้ข้อมูลว่าต้องมีการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย

ทั้งนี้ พื้นที่ทุ่งกุลาฯ ดังกล่าว ขนาด 1,526,302 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตาม ‘ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ทะเบียนเลขที่ สช 50100022 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550  ที่มีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,107,690 ไร่ ประกอบด้วย  จังหวัดร้อยเอ็ด 986,807 ไร่  จังหวัดสุรินทร์ 575,993 ไร่  จังหวัดศรีสะเกษ 287,000 ไร่  จังหวัดมหาสารคาม 193,890 ไร่ จังหวัดยโสธร 64,000 ไร่ ซึ่งมีความสำคัญในการเพาะปลูก ผลิตและส่งออกข้ามหอมมะลิ GI ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรป

ช่วงท้ายนางหนูปา แก้วพิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา กล่าวว่า ตนและเครือข่ายได้ขับเคลื่อนเกี่ยวกับเรื่องมีมาตั้งแต่ปี2562 จนถึงปัจจุบัน เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ดนับครั้งไม่ถ้วน ครั้งนี้ก่อนจะเดินทางมายังศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ดได้ปรึกษาหารือกับเพื่อนพ้องน้องพี่ว่าถ้าไม่ได้รับคำตอบอะไรเลยจากทางจังหวัดจะพากันปักหลักนอนค้างคืนที่หน้าศาลากลางจังหวัด เตรียมเตา หม้อนึ่งข้าว หวดข้าว และอุปกรณ์การนอนมาพร้อม 

ย้ำกลุ่มตนไม่ได้ทำเรื่องส่วนตัวหรือหวังประโยชน์ส่วนตัวแต่กลุ่มตนทำเพื่อพี่น้องประชาชนชาวทุ่งกุลาทุกคน พร้อมฝากความหวังความฝันไว้กับรัฐบาลชุดต่อไปให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวทุ่งกุลาอย่างจริงจังและจริงใจ กราบขอบพระคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดที่ท่านเมตตารับไปดำเนินการให้ อย่างน้อยเรียกร้องมา2เรื่อง ได้1 เรื่องก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย นางหนูปา กล่าว ก่อนที่กลุ่มเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา จะได้สลายตัวและแยกย้ายกลับบ้านในเวลา15.30 น.