เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งอีสาน เชื่อว่าหลายคนคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก เพลงลูกทุ่งอีสาน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่  กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน ตอนที่ 8 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้


กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน (8)

เมื่อกำเนิดคำว่า “ลูกทุ่งอีสาน” ในพ.ศ.2517 เป็นห้วงจังหวะเดียวกันกับกระแสการเมืองที่เปลี่ยนผ่านจากกรณี 14 ตุลาคม 2516 ของขบวนการนักศึกษาแห่งประเทศไทยกับการยึดครองอำนาจทางเมืองอย่างยาวนานนับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ต่อเนื่องถึง จอมพลถนอม กิตติขจร - จอมพลประภาส จารุเสถียรถึง พันเอกณรงค์ กิตติขจร

เป็นช่วงเดียวกันกับแนวเพลงเพื่อชีวิตที่มีความเป็นลูกทุ่งจากเพลงชีวิตตั้งแต่ยุคแรกที่ก่อนจะมีคำว่า “ลูกทุ่ง” จากเพลงชีวิต – เพลงตลาด คาราวานถือกำเนิดมาจากการรวมวงดนตรีสองวง คือ ท.เสนและสัญจร และ บังคลาเทศแบนด์ โดยมีอีพีชุดแรกออกมาในปี พ.ศ. 2517  และเป็นได้ออกเทปชุด คนกับควาย เมื่อ พ.ศ.2518 ทำให้บทเพลงลูกทุ่งเริ่มมีเพลงที่ทำนองลีลาแนวคิดทางการเมืองด้วยดังที่ปรากฏในบทเพลงของ สดใส รุ่งโพธิทองเขาเป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทยที่มีการศึกษาสูงระดับอุดมศึกษา รักการร้องเพลงอย่างมาก อยากจะก้าวเข้ามาสู่ถนนนักร้อง เกาะเพลงไทยเดิมสร้างชื่อมาโดยตลอด เรียกว่า ถ้าเมื่อไหร่เป็นทางเพลงไทยก็เข้าปากเขาทันที ด้วยวิธีการร้องที่เฉียบคมเสียงแหลมสูงสดใสสมชื่อ  สดใส ร่มโพธิ์ทอง มีหลายเพลงและดังๆ ก็มีมาก ไม่ว่าจะเป็นที่แต่งเองร้องเองอย่าง ข้าด้อยเพียงดิน(เพลงแรกที่บันทึกแผ่นเสียง),รักจางที่บางประกง,เราคนจน,โอ้ชาวนา,ตามองใจ,ศาลรักหลักเมือง,ขวัญใจชาวนา,นั่งห้องโชว์,ลอยกระทงเสี่ยงรัก เป็นอาทิ หรือที่ผู้อื่นแต่งให้ร้อง หน้าอย่างเธอจะรักใครจริง ชลธี ธารทอง,บอกรักฝากใจ ทินกร ทิพยมาศ,สาวงามเมืองเมืองพิจิตรแจ่ม ชาว ไร่ และล่าสุด รักน้องพร เกียรติ เฉลิมชัย

นอกจากที่แต่งให้พุ่มพวง ดวงจันทร์ในเพลง ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน แล้วยังแต่งให้สายัณห์ สัญญา ร้องในเพลง ขออยู่ด้วยคน สดใส รุ่งโพธิ์ทอง นั้นเมื่อก่อนเคยถูกคนในวงการขนานนามว่า “ลูกทุ่งนิติศาสตร์” เนื่องเพราะว่าคุณสดใส เคยเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง เรื่องฝีมือการแต่งเพลงนั้น คุณสดใส มีพื้นฐานมา “หมอขวัญ” มาจากครอบครัว 

บทเพลงที่มีกลิ่นอายเกี่ยวพันกับการเมืองมีอยู่สองเพลงที่เกี่ยวนั้นคืออิทธิพลของเพลงเพื่อชีวิตและกลายเป็นเพลงต้องห้ามข้อหาเพลงปลุกระดม คือเพลง เราคนจน และเพลง โอ้ชาวนา ทั้งสองเพลงนี้มีอิทธิพลมาจากสองเพลงของวงคาราวาน เราคนจน มีอิทธิพลทำนองเพลง คนกับควาย แต่งเนื้อร้องโดย สมคิด สิงสง

กระแสเพลงเพื่อชีวิตเป็นสิ่งแปลกใหม่และน่าสนใจของคนหนุ่มสาวยุคแสวง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา  สดใส รุ่งโพธิ์ทองได้นำเอาเพลงของคาราวานไปใส่เนื้อร้องใหม่เป็นเพลงลูกทุ่ง เช่นเพลง เราคนจน มาจากเพลง คนกับควาย เพลงโอ้ชาวนา มาจากเพลง เปิบข้าว เป็นต้น เป็นที่ตอบรับอย่างดีของนักฟังเพลงที่ตื่นตัวทางการเมือง ไปพร้อมกับยุควรรณกรรมเพื่อชีวิต

ลูกทุ่งอีสานเพชรอีกเม็ดเด็ดหนึ่งที่มาในแนวเพลงหวานจนได้รับฉายาว่านี่คือ “ทูล ทองใจแห่งที่ราบสูง” จะเป็นใครไม่ได้นอกจาก สนธิ สมมาตร ลูกทุ่งคนยากจากเมืองอุบลราชธานี ก่อนจะเป็น สนธิ สมมาตร เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักร้องในนามที่เขาตั้งเองที่ประทับชื่อนักร้องอดีตลูกวงสุรพล สมบัติเจริญ และ สายัณห์ สัญญาคือ คม ขวัญแก้ว เจ้าของเพลง ขุนแผนฟันม่าน มาเป็นชื่อให้ตนเองว่า “คม คีรีบูร” เป็นนักร้องลูกวง ขวัญจิตต์ ศรีประจัน และแจ้งเกิดจากเพลง ออกพรรษาที่เชียงคาน แต่งโดย ทอง ธานาทิพย์ นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวสุรินทร์ คนลุ่มแม่น้ำมูนเช่นกัน มีเพลงพอเป็นรู้จักหลายเพลงพอสมควร เช่น รักเหลือเดน เป็นต้น

ปี 2518 สนธิ สมมาตร ลาออกจาก วงดนตรีขวัญจิต ศรีประจันต์ และไปเก็บตัวอยู่ที่เชียงใหม่อย่างเงียบๆ ร่วมครึ่งปี โดยให้เหตุผลว่า "ไปตามที่ใจอยากไป"  และเพลงออกพรรษาที่เชียงคาน เริ่มจางเพราะมีนักร้องเกิดขึ้นมากมาย จนกระทั่งครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา กับครูสุรินทร์ ภาคศิริ ไปตามกลับมาร้องเพลง เห็นเงียบหายไปจากวงการและสะกิดใจกับเสียงของนักร้องเมืออุบลคนนี้ เป็นช่วงเดียวกับก็เริ่มวางแผนทำภายนตร์เรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูน โดยครูทินกร ทิพย์มาศ เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า สนธิ สมมาตร

โดยครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ต้องนั่งรถเที่ยวไปเที่ยวมาระหว่างกรุงเทพฯ กับ จังหวัดอุบลราชธานี จึงเกิดเพลง ด่วน บขส. แจ้งเกิดให้กับ สนธิ สมมาตร กลับสู่วงการ จนกระทั่งโด่งดังในฐานะนักร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูน คู่กับนักแสดงที่รับบทนักร้อง สุริยา ชินพันธุ์ โดยภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูน เข้าฉายตรงกับวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2520 เป็นภาพยนตร์อีสานเรื่องแรกได้เงินล้าน แม้จะอยู่ในช่วงบรรยากาศของการปฏิวัติรัฐประหาร

สนธิ สมมาตร ได้ร้องเพลง ลูกทุ่งคนยาก ซึ่งเป็นเพลงเด่นของ ภาพยนตร์เรื่องนี้จากการแต่งของครูสุรินทร์ ภาคศิริ จึงเป็นเสมือนเพลงแนะนำตัวให้กับ ทูล ทองใจ แห่งแดนอีสาน บอกเล่าเรื่องราวของคนอีสานหลาย ๆ ที่เริ่มต้นออกจากบ้านเกิดเมืองนอนไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายรถไฟหรือสถานีบขส.รอนแรมจากลุ่มน้ำมูน – ชี –สงคราม ชายฝั่งแม่น้ำโขง ทุ่งกุลาร้องไห้ เทือกเขาภูพาน จากปากช่องเข้าสู่เมืองกรุงจนได้เป็นนักร้องดาวค้างฟ้าประดับหล้าเรืองโพยม ที่นักแต่งเพลงและนักร้องคนจนเคยกล่อมบรรเลงฝากเพลงลอยลมถึงบ้านผู้ฟัง

ที่สำคัญ ฝากเพลงถึงเธอ หนึ่งในเพลงดังเพลงเอกของภาพยนตร์เรื่อง สวรรค์บ้านนา ของ สุรสีห์ ผาธรรม ที่เขาร่วมแสดเป็นนักจัดรายการเพลงที่ วิสา คัญทัพ แต่งเนื้อร้องเป็น สนธิ สมมาตร คนนี้แหละที่เรียบเรียงคำร้อยในท่วงทำนองอันไพเราะที่ติดหูคนฟังมาจนบัดนี้ อีกบริบทเขาก็มีเพลงที่แต่งเองร้องเองถึงแม้จะโด่งดังเท่ากับบทเพลงที่มาจากปลายปากกาสองคู่แฝดแห่งที่ราบสูง พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขาและสุรินทร์ ภาคศิริ


ที่มา:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต