เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งอีสาน เชื่อว่าหลายคนคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก เพลงลูกทุ่งอีสาน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่ กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน ตอนที่ 3 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้
กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน (3)
ปอง ปรีดา ชาวขอนแก่นผู้สร้างสรรค์ตำนานเพลงแห่งโขงสองฝั่ง ถือว่าเป็นขุนพลเอกอีสานอีกท่าน และติดหนึ่งในสี่เสือแห่งวงจุฬารัตน์ รัตน์ เป็นนักร้องที่ร้องเพลงเสียงสูง แต่ไพเราะและเป็นรุ่นบุกเบิกสำเนียงลายเพลงอีสานสองฝั่งโขง รวมทั้งทำให้คนรู้จักโขงนทีสายน้ำแห่งชีวิตนี้ผ่านบทเพลงของเขามากมายจนเรียกได้ว่า นี่แหละคือ ขุนพลเพลงอีสานยุคต้นผู้ยึดแม่น้ำโขงสองฝั่งได้ด้วยบทเพลงอมตะ
คนเกิดปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คำปัน ผิวขำ นามจริงของ ปอง ปรีดา เป็นหนึ่งในสี่ขุนพลแห่งวงจุฬารัตน์ เขาเคยประกาศประโยคเด็ดว่า “กูเกิดมาเพื่อร้องเพลง” และยึดหัวหาด ยึดครองสายน้ำโขงอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะมีเพลงที่ใช้คำว่า “โขง” เป็นชื่อเพลงร่วม ๆ 10 เพลง ไม่นับรวมเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ แต่ไม่ระบุคำว่า “โขง” ในชื่อเพลงอีกมากหลาย จวบจนเข้าสู่วัยชรา ปอง ปรีดา ในวัยกว่า 70 ปี ก็ยังรับจ้างร้องเพลงอยู่จนกระทั่ง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 11.30 น ที่โรงพยาบาลชัยบาดาล ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
เพลงลูกทุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำโขงมีเยอะมาก โดยเฉพาะเพลง สาวฝั่งโขง ของ ปอง ปรีดานั้นงดงามและคลาสิกยิ่งนัก ฟังครั้งใดก็ไม่เบื่อ ยืนยัดความดังความลาสิกมตั้งแต่ พ.ศ.2501 เป็นต้นมา ทั้งเสียงร้อง เสียดนตรี และเสียงผิวปาก ล้วนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาจนโดดเด่นและไพเราะ
“โอ้ฝั่งลำน้ำโขง ยามเมื่อแลงค่ำลง สาวเจ้าคงลงเล่นตามท่า สาวเจ้าคงสิเพลินหนักหนา ข้อยหรือมาคอยท่า สาวเจ้าอย่ามัวหลงลอย”ชวนให้เห็นภาพน้ำโขงยามเย็นได้แจ่มชัดง่ายงามจนทำให้ “พาใจข้อยนี้เลื่อนลอยเกรงฮักเฮาจะปล่อย ไหลล่องลอยบ่กลับคืนมา”
นอกจากเพลง สาวฝั่งโขง แล้ว ปอง ปรีดา นั้นยังมีเพลงอื่นๆ ที่เขาแต่งเองร้องเช่น ล่องโขงคืนเพ็ญ,เที่ยวฝั่งโขง,ฝั่งโขงในอดีต,สองฟากฝั่งโขง หรือเพลง เดือนคล้อยคอยสาว คลาสิกมาก ๆ ที่หนุ่มสาวชาวนาโดยเฉพาะท่อนจะจบเพลง ข้อยนี้เฝ้าคอยเจ้าอยู่นาน จวบเดือนคล้อยลอยผ่าน คนทุกบ้านจนเขาเข้านอน แว่วไก่แอ่วครวญ โศกกำสรวลชวนอาวรณ์ เหลือบมองเห็นสาวหาวนอน จำใจจรจากเจ้าไปเห็นภาพที่น่ารัก งดงามประสาไทบ้าน ให้เห็นถึงจินตนาการของนักแต่งเพลงฝีมือดีจากดินแดนที่ราบสูง ถือว่าเป็นหนึ่งแกนนำขบวนเพลงลูกทุ่งอีสานยุคแรก ๆ
แม่น้ำโขง จึงเป็นวัฒนธรรมที่เชื่อมร้อยภูมิภาคนี้และได้มอบของขวัญอันล่ำค่า เช่น นครวัด ให้กับมนุษยชาติกับแอ่งอารยวัฒนธรรมร่วมสองฝั่งโขงบนความเป็นแม่น้ำนานาชาติ—ปอง ปรีดา ก็ได้สำแดงพลังสร้างสรรค์ผานบทเพลงไว้อย่างเป็นอมตะ
เพลงลูกทุ่งอีสาที่จะเชื่อมโยงวัฒนธรรมข้ามพรมแดนเหนือแผ่นที่ไหลบ่าสู่แผ่นดินอีสานที่มีสายน้ำราวกับเส้นเลือดฝอยก่อนขยายลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในยุคสมัยใหม่จนถึงทุกวันนี้ และเพลงลูกทุ่งอีสานก็ปรับตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านกาลเวลา รวมทั้งก่อกำเนิดขุนพลเพลง และนักแต่งเพลงที่เป็นพลังสร้างสรรค์อย่างยาวนาน โดยเฉพาะหลังจากถนนมิตรภาพตัดผ่านเขาใหญ่ดงพญาไฟเป็นดงพญาเย็นที่หนุ่มสาวชาวอีสานเดินทางแสวงโชคสู่เมืองหลวงง่ายขึ้นจากเดิมที่อาศัยเส้นทางรถไฟและกองคาราวานทางเกวียน
อีกท่านหนึ่งก็ต้องถือว่าเป็น หน่วยหน้าเช่นกัน สงเคราะห์ สมัตณภาพงศ์ ครูเพลงเมืองชัยภูมิ ผู้อยู่เบื้องหลังเพลงดังของ เพลิน พรหมแดน ไม่ว่าจะเป็น ชัยภูมิบ้านพี่, คนโคราช, ข่าวสด ๆ จนเป็นตำนานคู่บุญของเจ้าพ่อเพลงพูดขุมกำลังสำคัญที่สร้างมิตรเพลงอีสานหลังการตัดถนนมิตรภาพ
เสาหลักสำคัญของเพลงลูกทุ่งอีสานอีกคนที่จะหลงลืมไปไม่ได้ นั่นคือ สัญญา จุฬาพร หรือ สันต์ ศิลปะสิทธิ์ ขุนพลเพลงจากเมืองเลย ผู้ล่วงลับ เมื่อ พ.ศ.2566 นักแต่งเพลงคนสำคัญของดินแดนที่ราบสูง สันต์ ศิลปะสิทธิ์ เป็นชาวจังหวัดเลย เป็นนักแต่งเพลงที่มีผลงานเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ใช้ชื่อ สันต์ ศิลปะสิทธิ์ และ สัญญา จุฬาพร ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้ในการร้องเพลงสมัยที่ยังอยู่กับวงจุฬารัตน์ และเป็นคนเดียวกันที่ ครูมงคล อมาตยกุล มอบหมายให้ดูแล ครูไพบูลย์ บุตรขัน คีตกวีเพลงแห่งเมืองไทย เมื่อครั้งมาอยู่วงดนตรีจุฬารัตน์ หลายที่ที่มักอ้างอิงถึงครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่เมื่อถามกับ อ.สัญญา จุฬาพร กลับเป็นคนละคำตอบ เพราะบางอย่างนั้นอยู่เหนือคำพูดแต่คนก็หลงเชื่อไปแล้วเขาคือเจ้าของผลงานเพลงที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ จากนักร้อง-นักแหล่พ่อเพลงภาคกลางมาเป็นนักร้องแนวลาวอีสาน ด้วยเพลง ลาก่อนบางกอก และเปลี่ยน “นักร้องเพลงหวานอาชีพ” อย่าง พนม นพพร ให้มาโด่งดังด้วยเพลงแนวอีสานด้วยเพลง เซิ้งสวิง
ครูเพลงท่านนี้แต่งให้นักร้องชื่อดังระดับตำนาน เช่นเพลง ลาก่อน-บางกอก, สาวสมัยใหม่ ให้กับ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพลง ทุ่งทองรวงทิพย์ ให้กับ ไพรวัลย์ ลูกเพชร กล่อมน้อง, ระฆังสวาท ให้กับ ทูล ทองใจ และทหารเสือราชินี, สัจจะผู้หญิงของ นกน้อย อุไรพร ตายซ้ำสา ของ เสน่ห์ เพชรบูรณ์ เจ้าของเสียงเพลง สิบหมื่น, แม่ร้อยใจ และเพลง แต่งงานกันเด้อ ของ สนธิ สมมาตร
นอกจากนี้ยังมีเพลง ฝนตกบ้านน้อง, แม่, ซำมาคักแท้น้อ, เซิ้งกระติ๊บข้าว, เซิ้งแห่นางแมว, แก้มเปิ่นเวิน เป็นอาทิ ปัจจุบัน ครูสัญญา จุฬาพร ยังวนเวียนอยู่ในวงการเพลงลูกทุ่ง เป็นพี่ใหญ่ที่เคารพสำหรับนักแต่งรุ่นน้องและครูของคนรุ่นหลัง ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ที่มา:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต