เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งอีสาน เชื่อว่าหลายคนคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก เพลงลูกทุ่งอีสาน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่  กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน ตอนที่ 5 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้


ผู้สร้างสรรค์เพลงลูกทุ่งอีสานคนที่ จะเป็นใครไม่ได้เพราะพ่วงด้วยความเป็นนักแต่งเพลง – นักร้องผู้สูงสง่าเทพพร เพชรอุบล  ผู้ชายสูงสง่าขุนพลเพลงลูกทุ่งจากจังหวัดอุบลราชธานี ถือว่าเป็นผู้เปิดโฉมให้เห็นภาพของอีสานไม่ได้แห้งแล้งอย่างที่เข้าใจจากเพลง อีสานบ้านเฮา ผลงานของ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรกขา จนทำให้ ดอกผักกะแยงหมอหวลทั่วแผ่นดินสยามและเพลง ลำนำอีสาน จากผู้แต่งคนเดียวกัน

อัตตลักษณ์อีสานอย่างหนึ่งคำผญา เพลงของเทพพร เพชรอุบล มีแทรกคำผญาอยู่ด้วยหลายเพลง เช่นเพลงที่สร้างชื่อให้ขุนพลเพลงอีสานผู้นี้คือเพลง คิดฮอดอ้ายแหน่เด้อ ฝีมือของ เทพบุตร สติรอดชมพู ในท่อนแยกของบทเพลง“หากคิดฮอดอ้าย เดือนหงาย ให้แนมเบิ่ง แนมเบิ่ง แนมเบิ่ง เดือนอีเกิ้ง อยู่เทิงฟ้าสิส่องทาง อ้ายกะสิเฝ้าแนมเบิ่งดาว ดอกเด้อบ่ห่าง ดวงเดือนเหมือนดั่งหน้านาง สองเราต่างส่งใจหากัน”ท่อนนี้นำคำผญาที่คุ้ยเคย “ถ่าแม้นเจ้าคึดฮอดอ้ายให้แหงนเบิ่งเดือนดาว สองตาเฮาสิจ้องกันอยู่เทิงฟ้า” และผญาบทนี้ก็ไปปรากฏในเพลง คิดถึงพี่ไหม ของ ศรคีรี ศรีประจวบ ที่ ครูพยงค์ มุกดา มาแทรกไว้เช่นกัน“คืนไหนข้างแรมฟ้าแซมดารา น้องจงมองหาดาวประจำเมือง ทุกคืนเราจ้องดูเดือนดาว ทุกคราวเราฝันเห็นกันเนื่องๆ ถึงสุดมุมเมืองไม่ไกล”ได้อารมณ์หวานไปอีกแบบครับ

ตลอดชีวิตในความเป็นศิลปินเพลงของ เทพพร เพชรอุบล ทำงานอย่างหนักมาตลอดชีวิต ทั้งงานเพลงและการใช้ชีวิต เป็นผลให้ปลายปี 2540 เขาล้มป่วยเนื่องจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน เป็นผลให้ไม่สามารถพูดหรือเคลื่อนไหวและช่วยตนเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็ง ทำให้เขาหายจากโรค และกลับมาแข็งแรง สามารถสร้างสรรค์ผลงานเพลงได้อีกครั้ง

นักร้องอีสานผู้ยิ่งใหญ่ที่เรียนขานกัน “สี่เด็ดเพชรอีสาน” นำขบวนด้วย ดาว บ้านดอน – ศักดิ์สยาม เพชรชมพู –สนธิ สมมาตร และ เทพพร เพชรอุบล สายัณห์ สัญญา ยิ่งใหญ่เพียงใดในภาคกลาง ในแผ่นดินอีสานนาม เทพพร เพชรอุบล ก็ยิ่งเช่นนั้น
ทั้งนี้ นอกเหนือความเป็นนักร้องที่เอกลักษณ์เฉพาะตัว บทเพลงสนุกสนาน ยังเป็นครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ในการแต่งเพลงและสร้างสายธารนักร้องลูกทุ่งอีสาน ผลงานแต่งทั้งร้องเอง แต่งเอง และแต่งให้ผู้อื่นก็มากมาย ไม่ว่าจะเป็น คิดฮอดอ้ายแหน่เด้อ,อีสานบ้านเฮา,อาลัยสาวเรณู,นับหมอนรถไฟ,เสียงแคนแทนใจ,ลำนำอีสาน,ของแซบอีสาน,สั่งฟ้าไปหาน้อง,ฮักสาวอุบล,นัดวันให้น้องรอ ,ฝังใจเวียงจันทน์ ,สามเกลือเที่ยวกรุง ตอน ๑ และ ๒ ,รำวงหาคู่,ครวญหาอังคนางค์,จนแท้น้อ ,ร้องไห้ทำไม,บ่ลืมบ้านนอก,สัมภาษณ์เทพี,ป๋ากันเถาะ,ไก่จ๋าไก่ ,คนอุ้มไก่,กลับมาเถิดน้อง รวมทั้งที่แต่งให้ ศักดิ์สยาม เพชรชมภู อย่างเพลง สัญญาเดือนสาม รวมทั้ง สิ้นกลิ่นคูณ ของ เทพรังสรรค์ ขวัญดารา เป็นต้น

ร่วมแต่งเพลงและร้องเพลง จำหน่ายเพื่อการกุศลในวาระ 200 ปี จังหวัดอุบลราชธานี และวาระสมโภชน์ 100 ปี จังหวัดอุดรธานี ปี 2535สนับสนุนณรงค์คนอีสานไม่กินปลาดิบ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด ขอนแก่น และคณะเพชรพิณทอง ปี 2535 สนับสนุนรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2536 ได้รับเกียรติจากสมาคมนักแต่งเพลง ให้เป็นตัวแทนนักร้องของภาคอีสาน แต่งเพลงและร้องเพลงเนื่องในงานส่งพระวิญญาณสมเด็จย่า- ได้เดินทางไปเผยแพร่ศิลปะพื้นบ้านที่วัดพระศรีนครินทร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ชีวิตในช่วงปลายต้องเทียวเข้าออกโรงพยาบาลตลอด  17  ปีที่ผ่านมา  จนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อเวลา 20.24น. วันที่ 22 ตุลาคม 2556 ในวัย 66 ปี เจนภพ  จบกระบวนวรรณ ได้กล่าวถึงการสูญเสียครั้งนี้ของชาวอีสานประหนึ่ง “พระธาตุพนมถล่มซ้ำสอง” เหมือนเสียงเพลง “พี่อ๋อ” ร้องไว้ในเพลง อาลัยพระธาตุพนม


ที่มา:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต