เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งเชื่อว่าหลายคนคงคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู ไม่ว่าจะเป็นลูกทุ่งยุคแรก จนกระทั้ง มีการวิวัฒนาการ มาสู่ เพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน  เรียกว่า เพลงลูกทุ่ง คือเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะซึ่งให้บรรยากาศ ความเป็นลูกทุ่ง 

วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก พัฒนาการเพลง"ลูกทุ่ง" ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่  พัฒนาการเพลง"ลูกทุ่ง" ตอนที่ 13 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้

เพลงลูกทุ่ง (13) จากเพลงลูกทุ่งนิทานถึงลูกทุ่งอินดี้ในปัจจุบัน เพลงลูกทุ่งส่วนมากจะบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น นับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมไทยในช่วงเวลาต่างๆ เช่น ภาวะสงคราม การเมือง สภาพสังคมสมัยต่างๆ ใช้ถ้อยคำบรรยายให้เกิดภาพพจน บางเพลงมีสำนวนโวหารที่สละสลวย ความรู้สึกตลก เศร้า เสียดสี สนุกสนาน สามารถเล่นเสียง ระเบียบแบบแผน มีลักษณะสัมผัสแบบกลอน มีท่อนวรรคสดับ รับ รอง ส่ง แต่ละวรรคจะมีคำร้องจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทำนองและจังหวะของบทเพลง พร ภิรมย์ นักร้อง – พระเอกลิเก แห่งวงจุฬารัตน์ ของ ครูมงคล อมาตยกุล ผู้สร้างชื่อเสียงจากเพลง บัวตูมบัวบาน ถือเป็นนักร้องที่นำเรื่องราวในนิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน มาดัดแปลงแต่งเป็นเพลงมากที่สุด เช่น  ดาวลูกไก่ 1-2, วังแม่ลูกอ่อน 1-2 , ริมไกลลาส 1-2,พ่อหม้ายตามเมีย เป็นอาทิ 

เสน่ห์ในบทเพลงของ พร ภิรมย์ อยู่ที่จุดนี้ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ ขณะเดียวกันก็มีนักร้องที่นำเรื่องเรื่องราวนิทานชาดก นิทานพื้นบ้านมาขับร้องในยุค 2500 เป็นต้นมาไม่ว่าจะเป็นเพลง ชูชกสองกุมาร,กาเอ๋ยกา ของ สุรพล สมบัติเจริญ  เพลงพิมพา,พ่อลูกอ่อน,มหาชนก,นกกระยาง ชาย เมืองสิงห์ เพลง ขุนศึกกำสรวล โกมินทร์ นิลวงศ์,น้ำตาเสือตก,ชายสามโบสถ์ คำรณ สัมบุญณานนท์,ยอยศพระลอ ของ ชินกร ไกรลาส (ร่วมแต่งโดย ไถง สุวรรณทัต- พยงค์ มุกดา) ,โสนน้อยเรือนงาม ก้าน แก้วสุพรรณ ที่สุรพล สมบัติเจริญเป็นผู้แต่ง และเพลงประกอบละครจากนวนิยายเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของ ยาขอบ – โชติ แพร่พันธุ์

เพลงที่บอกเล่าเรื่องราวสังคมในยุคแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ แสงนภา บุญราศี เช่น คนจรหมอนหมิ่น,ชีวิตนักมวย,ชีวิตเด็กวัด,ตื่นเถิดกรรมกร หรือเพลงสุภาพบุรุษปากคลองสาน,ผู้แทนควาย,โปลิศถือกระบอง ของ เสน่ห์ โกมารชุน ก่อนจะหันไปแสดง – กำกับ – อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เพราะเหตุผลทางการเมืองบีบบังคับ

ตาสีกำสรวล ตอน 1-2 ,มนต์การเมือง,หวยใต้ดิน ที่ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์ หลายเพลงที่ คำรณ แต่งเอง และ ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งให้ รวมทั้งนักแต่งเพลงร่วมสมัยในยุคนั้น

รวมทั้งเพลงที่มีอิทธิพลจากวรรณคดีในหลายเพลง อย่าง เพลงจูบมัดจำ ขับร้องโดย ทูล ทองใจ แต่ง นิยม มารยาท ซึ่งน่าจะได้อิทธิพลในเสภาขุนช้าง ขุนแผน ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ไปพบนางแก้วกิริยา เพลงนิทาน นี้มีรากฐานจากความเชื่อผูกเป็นเรื่องราวผ่านวรรณคดี ผ่านนิทานมุขปาฐะ ผ่านพระไตรปิฎก ผ่านพระสูตร-ธรรมาบท ผ่านจาก "ฟัง" ด้วยหู ไม่ใช่ "อ่าน" ด้วยตาอย่างทุกวันนี้ คือฟังผู้รู้นักบวชสวด-เทศน์ กับฟังพวกหมอลำ-ช่างขับ ผ่านการละเล่นต่างๆ

คนดึกดำบรรพ์ยุคแรกๆ ยังมีเรื่องราวบอกเล่าด้วยภาษาพูดปากต่อปากด้วย ถ้อยคำบอกเล่าเหล่านั้น ต่อมาเรียกกันว่านิทาน ซึ่งนอกจากพูดจาตามประสาชีวิตประจำวัน เช่น นิทานตำนานเรื่อง แถนและกำเนิดคน,กำเนิดมนุษย์,หมา 9 หาง กับพันธุ์ข้าวปลูก,พญาคันคาก รวมทั้ง เรื่องพญาพานฆ่าพ่อที่นครชัยศรี มีรากจากเทพปกรณัม อิดีปุสของกรีก เป็นต้น

คำบอกเล่ายุคแรกๆ ไม่ยึดยาว มักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ (ภายหลังต่อมาเรียกว่า ประวัติ) อำนาจเหนือธรรมชาติ พิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ จนถึงวิถีชีวิตของโคตรตระกูล ผู้คนทั้งชุมชนเชื่อถือร่วมกันอย่างศรัทธาว่าคำบอกเล่าเหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น พิธีขอฝนเพราะมีคำบอกเล่าว่ามีแถนอยู่บนฟ้า เป็นผู้มีฤทธิ์มีอำนาจบันดาลให้เกิดฝนตกลงมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน

ตำนานเรื่องทุ่งกุลาร้องไห้ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ปรากฏในเพลง ทุ่งกุลาร้องไห้ ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู แต่งโดย สุรินทร์ ภาคศิริ และ ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ของ เทพพร เพชรอุบล รวมทั้งเพลงพูดของ เพลิน พรหมแดน แม้จะแต่งเรื่องราวขึ้นมาใหม่ ก็จัดเป็นเพลงนิทานที่เล่าโดยอาศัยสถานการณ์สังคม

รวมทั้งเพลง การะเกด,ขุนทองไปปล้น,กล่อมขวัญวีรชน ของวงเจ้าพระยา ก่อน 6 ตุลาคม 2519  นกเขาไฟ ของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ รวมทั้งเพลงนิทาน พงศาวดาร ที่แต่งโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งมีเผยแพร่มากนักเพราะไม่ใช่ขายระบบค่ายเทปแต่ทำแจกเผยแพร่ความรู้ เช่น ดิน หญ้า ฟ้า แถน,เพลงกรุงเทพมหานคร,กำเนิดอยุธยา เป็นอาทิ จรัล มโนเพ็ชร ขุนพลเพลงล้านนาผู้ล่วงลับ แต่งเล่าเรื่องราวตำนาน นิทาน แห่งล้านนา มาผูกเรื่องเป็นเพลง อย่าง เพลง อุ๊ยคำ,มิดะ,มะเมียะ ฯลฯ
รวมทั้งเพลงเจ้าจันทร์ผมหอม ขับร้องโดย สุนทรี เวชานนท์ ซึ่งประพันธ์ขึ้นสืบเนื่องจากวรรณกรรมเรื่อง เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน (นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ พ.ศ. 2534) ของ มาลา คำจันทร์ (เจริญ มาลาโรจน์) ซึ่งทั้งผู้แต่งประพันธ์และเพลง

เพลงนิทาน ถือเป็นเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวทางสังคมจะเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประวัติศาสตร์สังคม (ความเป็นมนุษย์) ที่หล่อหลอมด้วยเศรษฐกิจ-การเมืองยุคนั้นๆ และช่วยสังคมให้อยู่ร่วมกันระหว่าง ความเชื่อที่อยู่ดั้งเดิมก่อนรับพระพุทธศาสนาและก่อนจะมีวิทยาศาสตร์

หากจะนับเพลงลูกทุ่งในแง่เพลงนิทานจาก พร ภิรมย์ ถึง จรัล มโนเพ็ชร แล้ว ในปัจจุบันแทบจะไม่ปรากฏเพลงนิทานอีกเลย และเห็นแต่เพลงที่โหยหาความเหงา เรื่องเฉพาะตัวและหาผัวหาเมียเป็นส่วนมาก ทำให้สังคมมีเส้นระหว่างความแตกต่าง ก้าวร้าว เห็นแก่ตัว มากขึ้น
สังคมไทยขาดหายและโหยหาเพลง- วรรณกรรมนิทาน สังเกตได้จาก กรณีความคลั่ง แฮรี่ พล็อตเตอร์ เพราะสังคมไทยขาดเพลงนิทาน หากจะนับเอาตั้งแต่สิ้น จรัล มโนเพ็ชร ก็ขาดช่วงไป

โลกบันเทิงการฟังเพลงเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ พ.ศ.2540-2566 ผันผ่านจากยุคเทปเป็นชุด 10 เพลงมาสู่แผ่นCD จนมาถึงออนไลน์ปัจจุบัน นักร้องไม่จำเป็นต้องออกผลงานเป็นชุดดั่งอดีต แต่เปลี่ยนผ่านฟังผ่านมือถือและยอดวิว รวมไปถึงการประกวดที่สร้างนักร้องมาทุกยุคทุกสมัย เปลี่ยนงานวัดมาสู่หน้าจอทีวี

นักร้องรุ่นต่างโรยรา บางรายยังรับงานร้องเพลง แต่อยู่ในกลุ่มแฟนคลับดั่งเดิมติดตามกัน ส่วนนักร้องหน้าใหม่เปลี่ยนผ่านมาเป็กระแสปรากฎการณ์ หลายบทเพลงยื่นระยะได้ยาวนาน บางเพลงแค่เพียงลมพัดผ่านแล้วลมระลอกใหม่ก็พัดมา เพลงแนวรำวงยังแพร่หลายได้รับความนิยมในงานต่าง ๆ นักร้องบางคนมีรายได้เสริมจากการทำขวัญนาค และบางคนก็มีอาชีพนี้อยู่ก่อนหน้าจะผันตัวมาเป็นนักร้องลูกทุ่ง ปัญหาเพลงเก่าไม่ได้ถูกนำมาร้องออกอากาศใหม่ เพราะบทเพลงของครูเพลงหลายคนถูกถือลิขสิทธิ์ขาดจากค่ายเพลงที่มีการต่อรองในราคาที่สูงจนผู้จัดสู้ราคาไม่ไหว อาจมีบางรายการที่เป็นของค่ายเพลงแต่ก็มีความซับซ่อนในการอ้างกรรมสิทธิ์ ตรงที่เป็นช่องให้คนรุ่นใหม่ สามารถแต่งเพลงเองร้องเองที่เรียกว่า “ลูกทุ่งอินดี้”  และใช้สื่อสารออนไลน์ในการนำเสนอผลงานและได้มาซึ่งยอดวิว

ขณะที่นักร้องรุ่นใหม่ หลาย ๆ คนที่มีทุนในการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์นำมาร้องและทำดนตรีใหม่จนเป็นที่นิยมผ่านโลกออนไลน์ ผลพลายได้ให้นักร้องเก่าได้แทรกเขามาเสนอผลงานต้นตำหรับไปด้วย เพลงลูกทุ่ง เป็นกระแสของการปรับตัวที่สามารถอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วในสังคมยุคใหม่ที่ไม่ต้องการอะไรเอื้อนมากลากยาว แต่เน้นเนื้อหาที่โดนใจสั้น ๆ กระชับ แนวเพลงแบบร้านเหล้ารถเห่จึงเป็นที่นิยมตามยุคสมัย

ความละเมี้ยนละไมของภาษาจึงจางหายไป แต่ก็มีความหลายบทเพลงที่หยิบคำวรรณศิลป์มาใช้ในบทเพลง และเพลงบอกนามสถานที่ยังมีอยู่สม่ำเสมอ และแนวเพลงลูกทุ่งอินดี้ยังคงระเบียบแนวทางของการแต่งเพลงที่มีบทสดับ/รับ/รอง/ส่ง อยู่แบบเดิม เพียงแต่ถ้อยคำภาษาตรงมึงมาพาโว้ยมากขึ้น และหลายเพลงเน้นเนื้อหาเชิงสังวาสตรงจนบางคนมองว่าเกินงาม ต่างเพลงยุคเก่าที่นำเสนอเชิงสังวาสด้วยสัญลักษณ์ภาษาความหมายอย่างง่ายและงามที่มีชั้นเชิงวรรณศิลป์ในการประพันธ์เพลง
ทั้งนี้ ยังมีเพลงลูกทุ่งอินดี้ยุคปัจจุบันที่หยิบตัวละครในวรรณคดี ความเชื่อท้องถิ่นมาใส่ในเนื้อหาเพลงเพียงแต่มีการตีความใหม่และได้รับกระแสนิยม


ขอบคุณ:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต