เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งอีสาน เชื่อว่าหลายคนคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก เพลงลูกทุ่งอีสาน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่ กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน ตอนที่ 4 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้
กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน (4)
2 ผู้ยิ่งใหญ่ที่ใช้พลังลาวชาวอีสานสร้างเพลงลูกทุ่งอีสานที่ต้องกล่าวถึงคือ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ปราชญ์เพลงแห่งอุบล ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง – กำกับภาพยนตร์) พ.ศ. 2557 ผู้ล่วงลับ เมื่อ 1 กันยายน 2558
เพลงแรกในชีวิตการเป็นนักแต่งเพลง คือ ดาวบ้านนา แต่งให้กับ สมนึก นิลเขียว นักร้องหนุ่มรูปหล่อเสียงดีจากเมืองเพชรบุรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลงหวานคลาสสิกผสมกลิ่นอายลิเก และไพรวัลย์ยังร้องเพลงนำในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลำน้ำมูล ที่ครูพงษ์ศักดิ์เป็นผู้อำนวยการสร้างอีกด้วย
เพลง ทุ่งรัก ของ ศรคีรี ศรีประจวบ ที่ครูพงษ์ศักดิ์แต่งนั้นภาษางดงามมาก จนหลายคนหลงคิดว่าเป็นเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ยังมีเพลงอื่น ๆ ที่ภาษางดงามมากอีก เช่น เสียงซุงเว้าสาว, ตะวันรอนที่หนองหาน
เพลง สาละวันรำวง ที่ครูแต่งให้กับลูกศิษย์คนสำคัญอย่าง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นเสมือนสะพานเชื่อมวัฒนธรรมสองฝั่งโขงผ่านบทเพลงก่อนหน้านั้นมีเพลง สาวคนโก้ และ สาวชุมแพของขุนพลเพลงเมืองสุพรรณท่านนี้ด้วยส่วนเพลง อีสานบ้านของเฮา นั้นครูพงษ์ศักดิ์ประมวลความเป็นภาคอีสาน ทั้งวัฒนธรรมการอยู่การกิน การประกอบอาชีพ เรียกว่าได้บรรยากาศอีสานครบถ้วนสมบูรณ์เลยทีเดียว เมื่อบวกกับเสียงร้องโทนสนุกสนานรื่นเริง ของ เทพพร เพชรอุบล ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เพลงนี้มีมนต์เสน่ห์ยิ่งนัก จากเพลง “อีสานบ้านของเฮา” สำทับความเป็นอีสานตามมาด้วยเพลง ลำนำอีสาน
นอกจากนี้ยังมีเพลงดังข้ามยุคสมัยเป็นอมตะไม่ว่าจะเป็นเพลง รอรักใต้ต้นกระโดน ของ ดาว บ้านดอน ด่วน บขส., แคร์ด้วยหรือน้อง, ดอกอ้อริมโขง, อดีตรักทุ่งอีสาน ของ สนธิ สมมาตร รักร้าวหนาวลม ของ บรรจบ เจริญพร ร้องแก้กับ ผ่องศรี วรนุช, เพลง รักลาอย่าเศร้า, คำหมอบอก ของ พรสวรรค์ ลูกพรหม ดวงใจคนจน, หนาวเดือนห้าแล้งเดือนหก ให้กับ รังษี บริสุทธิ์ ฯลฯ
อีกหนึ่งในตำนานสำคัญผู้ล่วงลับ คือ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ นักเขียนรางวัลนราธิป พ.ศ.2563 เสือปืนไวจากอำนาจเจริญ มีชื่อจริงว่า ชานนท์ ภาคศิริ ใช้ชื่อจัดรายการวิทยุว่า ทิดโส โปข่าว หรือ ทิดโส สุดสะแนน เกิดเมื่อ พ.ศ.2485 ที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ จบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 (ม.6 เดิม) จากโรงเรียนอำนาจเจริญ เมื่อ พ.ศ.2503มีพรแสวงและพรสวรรค์ในการประพันธ์มาตั้งแต่เด็ก เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้จากคณะละครอุลิตราตรีศิลป์ และคณะเทพศิลป์ 2 ที่ไปปักหลักเปิดการแสดงที่บ้านต่างจังหวัดสมัยเรียนมัธยมปีที่ 3 และเริ่มแต่งกลอน นวนิยาย เรื่องสั้น และแต่งเพลงเชียร์กีฬาของโรงเรียน พอจบ ม. 6 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตามหาความฝันของชีวิต ศึกษาด้านการเป็นนักร้องนักประพันธ์ด้วยการอาศัยชายคากุฏิวัดนรนารถสุนทริการาม เทเวศร์ พึ่งใบบุญข้าวก้นบาตรพระ มีอุปสรรคด้านการศึกษาเล่าเรียนจึงหันมาแต่งเพลง ประพันธ์กลอน เรื่องสั้น และฝากตัวเป็นศิษย์ของ ครู ก. แก้วประเสริฐ ครูเพลงชื่อดังในยุคนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างดี
ขณะเดียวกันก็ได้สอบเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรมราชทัณฑ์ สมัยที่ยังสังกัดอยู่กับกระทรวงมหาดไทย จึงหมดโอกาสที่จะเดินสายเป็นนักร้อง หันมาเอาดีกับงานประจำและแต่งเพลง ฉะนั้นครูจึงพูดเล่นเสมอ ๆ ว่า อดีตคือ “คนรับจ้างหลวงเฝ้าคุก” และผลงานหลาย ๆ เพลงก็มาจากเหตุการณ์ในคุก เช่นเพลง ผ้าขาวม้า ของวงรอยัลสไปรท์
ผลงานชิ้นแรก ๆ คือ คนขี้หึง ขับร้องโดย ชื่นกมล ชลฤทัย เพลง คนขี้งอน ร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลง เมษาอาลัย ร้องโดย หมาย เมืองเพชร ตอนหลัง ศักดิ์สยาม เพชรชมพู นำมาร้องใหม่ และเพลง เต้ยเกี้ยวสาว ขับร้องโดย กบิล เมืองอุบล ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อด้วยแนวการร้องแบบศิลปะหมอลำ
จากนั้นก็แต่งเพลงป้อนให้นักร้องดัง ๆ อีกหลายคน เช่น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร, ไวพจน์ เพชร สุพรรณ, สนธิ สมมาตร, กาเหว่า เสียงทอง, ศรคีรี ศรีประจวบ, ศรชัย เมฆวิเชียร, เรียม ดาราน้อย, วงรอยัลสไปรท์, ศักดิ์สยาม เพชรชมพู, สันติ ดวงสว่าง, เอ๋ พจนา, ชาย เมืองสิงห์ เป็นต้น
พรไพร เพชรดำเนิน ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากเพลง งานนักร้อง ในปี 2514 ผลงานของครูสุรินทร์ ภาคศิริ ครูสุรินทร์แต่งเพลงแรกในการบันทึกแผ่นเสียงของนักร้องลูกทุ่งหลายคน เพลง รูปไม่หล่อพ่อไม่รวย ของ ดำ แดนสุพรรณ, เพลง อย่าเดินโชว์ ของ บรรจบ ใจพระ (ภายหลังคือ บรรจบ เจริญพร)
เพลงที่สร้างชื่อให้มากที่สุดคือ วอนลมฝากรักของ บุปผา สายชล อ.ส.รอรัก ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู รวมทั้งยังแต่งเพลงแนวช้าให้กับนักร้องที่ถนัดเพลงแนวสนุกอย่าง ศักดิ์สยาม ในเพลงทุ่งกุลาร้องไห้ จนได้รับรางวัลลูกทุ่งกึ่งศตวรรษทหารเกณฑ์ผลัด 2 ทำให้ ศรชัย เมฆวิเชียร แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจากเพลงนี้ หนาวลมที่เรณู ของศรคีรี ศรีประจวบ กลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม หอมกลิ่นดอกคำใต้ ให้กับนักร้องเสียงดีเมืองขอนแก่น ก้องเพชร แก่นนคร หนุ่ม นปข. ของ สุริยา ฟ้าปทุมลำกล่อมทุ่ง ของ ไพรินทร์ พรพิบูลย์ ลูกทุ่งคนยาก ให้กับ สนธิ สมมาตร
โดยเฉพาะเพลง อีสานลำเพลิน ของ อังคนางค์คุณไชย ที่นับเป็นการเปิดศักราชเพลงลูกทุ่งอีสานทำให้เพลงลูกทุ่งอีสานกลายเป็นแนวเพลงแนวหนึ่งที่แพร่หลายเป็นที่นิยมสนใจของคนในสังคมปัจจุบันอย่างกว้างขวาง
รายละเอียดความยิ่งใหญ่ของครูสุรินทร์ ภาคศิริ หาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ "สุรินทร์รำพันอีสานลำเพลิน"
ที่มา:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต