เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งเชื่อว่าหลายคนคงคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู ไม่ว่าจะเป็นลูกทุ่งยุคแรก จนกระทั้ง มีการวิวัฒนาการ มาสู่ เพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน  เรียกว่า เพลงลูกทุ่ง คือเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะซึ่งให้บรรยากาศ ความเป็นลูกทุ่ง 

วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก พัฒนาการเพลง"ลูกทุ่ง" ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่  พัฒนาการเพลง"ลูกทุ่ง" ตอนที่ 10 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้

เพลงลูกทุ่ง  (10)

ช่วงรุ่งโรจน์ของเพลงลูกทุ่งนับตั้งแต่เริ่มใช้คำว่าเพลงลูกทุ่ง ทำให้นักร้อง และวงดนตรีต่างเรียกขานตนเองว่า นักร้องลูกทุ่ง - วงดนตรีลูกทุ่ง นักร้องเด่นของยุคนี้ได้แก่ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพลิน พรหมแดน พร ภิรมย์ ชาย เมืองสิงห์ ศรคีรี ศรีประจวบ ก้าน แก้วสุพรรณ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ผ่องศรี วรนุช สุ ชาติ เทียนทอง ฯลฯ

นอกเหนือจากนักร้องภาคกลางที่มีแหล่งใหญ่จากจังหวัดสุพรรณบุรี ,เพชรบุรี ,ราชบุรี และชลบุรี แล้ว ถนนมิตรภาพตัดผ่านสู่ประตูอีสานให้นักร้องจากดินแดนที่ราบสูงได้มาโลดแล่นกันอย่างคึกคัก ขณะที่แดนดามขวานทองปักษ์ใต้ก็มีโชนฉายสำเนียงเสียงเพลงไม่ว่าจะเป็น โรม ศรีธรรมราช ,สาลิกา กิ่งทอง คนนี้ต้องถือว่าเป็นนักร้องเพศทางเลือกคนแรก ๆ ของวงการ ฉัตรทอง มงคล และ ดาวใต้ เมืองตรัง เป็นต้น

ด้านนักแต่งเพลงครูเพลงแดนปักษ์ใต้ไม่ว่าจะเป็น ประจวบ วงศ์วิชา,จูเลี่ยม กิ่งทอง,เสรี ศรีสุราษฎร์

ตลาดเพลงลูกทุ่งจึงกินหัวเมืองต่าง ๆ อย่างขยายวงไปเรื่อย ๆ อย่างกลมกลืน  และเป็นช่วงที่ภาพยนตร์เพลงลูกทุ่ง เข้าไปแทรกอยู่ร่วมอย่างขาดเสียไม่ได้ เพราะกระแสเรียกร้องจากคนฟังและผู้ชมทำให้นักร้องที่เกิดจากภาพยนตร์แนวนี้และโด่งดังในวงการเพลงลูกทุ่งต่อมา ได้แก่ สังข์ทอง สีใส โดยเป็นผู้ร้องเพลง ประกอบภาพยนตร์เรื่อง โทน และแสดงคู่กับพระเอกไชยา สุริยัน นักร้องคนอื่น เช่น ระพิน ภูไท เสกศักดิ์ ภู่กันทอง ศรคีรี ศรีประจวบ สมัย อ่อนวงศ์ พนม นพพร ยุพิน แพรทอง ชาตรี ศรีชล กาเหว่า เสียงทอง กังวานไพร ลูกเพชร ฯลฯ และยังสร้างนักแต่งเพลงให้ประสบความสำเร็จในช่วงนี้ อาทิ กานท์ การุณวงศ์ ฉลอง ภู่สว่าง ช. ค าชะอี พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา สุรินทร์ ภาคศิริ ฯลฯ วงการดนตรีลูกทุ่งมีการประชันขันแข่งสูงมาก

ซอยบุปผาสวรรค์เริ่มกลายมาเป็นชุมชนคนลูกทุ่งในช่วงนี้เอง หลังจากเพลิน พรหมแดน และบรรจบ เจริญพร ย้ายเข้ามาอยู่เป็นคนแรก ๆ เมื่อปี 2512ขณะเดียวกันเป็นช่วงรอยเปลี่ยนสู่บรรยากาศความคิดเห็นทางการเมือง ที่เรียกว่ายุคเพลงเพื่อชีวิต หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา นักร้องและนักแต่งเพลงลูกทุ่งทอดแทรกแนวความคิดผสมกับวิถีชีวิตของชนชั้นกรรมาชีพเป็นแนวกึ่งเพื่อชีวิตมากขึ้น สะท้อนความยากจนของชาวนาชาวไร่ เช่น เพลงข้าวไม่มีขาย แต่งโดย โผผิน พรสุพรรณ มี ศรเพชร ศรสุพรรณ ขับร้อง สะท้อนให้เห็นภาพของหนุ่มชาวนาที่ทำนาแล้วไม่ได้ผล ทำให้ไม่มีข้าวไปขาย เพลงนี้ได้รับรางวัลเพลงยอดนิยมประจำปี พ.ศ. 2518ตีคู่ความดังไปพร้อมกับสายัณห์ สัญญา และ ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ดที่กำลังโด่งดังจากเพลงจดหมายเป็นหมั่น ผลงาน ก้อง กาจกำแหง 

นอกจากนี้มีเพลงล้อเลียนการเมืองหรือเสียดสีนักการเมือง และเกิดเพลงลูกทุ่งผสมบทพูดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง หรือชีวิตประจำวัน สร้างความขบขันเฮฮา แฝงด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น เพลงผสมบทพูดตลกโดย เพลิน พรหมแดน ซึ่งเป็นผลิกบทเพลงเพลงครั้งสำคัญ และปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของหางเครื่องก็มาจากวงดนตรีเพลิน พรหมแดน

หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ความเข้มข้นของบทเพลงเกี่ยวกับความทุกข์ยากของชาวนา กรรมกร และแนวเพื่อชีวิตมีน้อยลง เนื่องจากการปิดกั้นของภาครัฐ ส่งผลให้กลับมานิยมเนื้อหาด้านการเกี้ยวพาราสีและความรักของหนุ่มสาว ยุคนี้มีนักร้องใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ผลงานหลากหลาย วงดนตรีลูกทุ่งมีการแข่งขันมากขึ้น ใช้เงินลงทุนมากขึ้น ใช้เทคนิคแสง สี เสียงที่ทันสมัย การเต้นประกอบเพลงของหางเครื่องมีความอลังการมากขึ้น เนื้อหาของเพลงในช่วงนี้สะท้อนปัญหาใหม่ๆ ของสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การขายแรงงานในต่างประเทศ การย้ายถิ่นฐานในการประกอบอาชีพของชาวชนบท เข้าสู่เมืองหลวง อาทิ เพลงน้ำตาเมียซาอุ ร้องโดย พิมพา พรศิริ เพลง  ฉันทนาที่รัก ร้องโดย รักชาติ ศิริชัย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มเขียนจดหมายถึงสาวคนรักชื่อฉันทนา ที่ทำงานอยู่โรงงานทอผ้า ซึ่งเพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง จนกระทั่งสื่อมวลชนใช้คำว่า "ฉันทนา" แทนผู้หญิงที่ทำงานในโรงงาน

เพลงฉันทนาที่รัก ขับร้องโดย รักชาติ ศิริชัย ทำให้คำว่า ฉันทนา กลายเป็นคำที่ใช้แทนผู้หญิงที่ทำงานโรงงาน นักร้องลูกทุ่งจากที่เคยอัดแผ่นเสียงก็มาสู่ยุคเทป และการพัฒนาบ้านเมืองอย่างรวดเร็ว

ขอบคุณ:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต