วันที่ 5 ก.พ.67 นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลยุติการกระทำเกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองว่า ขณะนี้ปรากฏว่าเกิดความสับสน หรือเข้าใจผิดต่อคำวินิจฉัยของศาล และมีผลต่อเนื่องให้เกิดเสียงวิพากษ์และมีความเห็นแตกต่างกันออกไป แม้กระทั่งเรื่องที่พรรคก้าวไกล ถอดนโบายหาเสียงแก้ไข ม.112 ออกจากหน้าเพจเฟซบุ๊ก ขณะที่ฝั่งผู้ร้องยังมองว่าผลที่เกิดตามมาแตกต่างกัน ต้องการให้ยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค
นายอุเทน กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นคนหนึ่ง ที่เรียนมาทางด้านกฎหมาย ได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลหลายรอบ จับประเด็นในชุดแรกได้ว่า ศาลพยายามตีวงในเหตุการณ์ต่างๆที่บรรดาสาวกของก้าวไกลตั้งแต่หัวหน้าพรรค สส.พรรค และหรือบรรดามวลชนผู้สนับสนุนพรรค มีการออกมาชูนิ้วและอะไรต่างๆหลายอย่างที่ได้พูดถึง และอาจจะพูดว่านำไปผูกข้อหา 112 แต่ปรากฏว่าศาลไปผูกโยงว่าเหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้น หากยังปล่อยไว้ จะกระทบไปถึงการล้มล้างระบอบการปกครอง เพราะฉะนั้นจึงให้พรรคก้าวไกลและคุณพิธาหยุดการ กระทำที่ผ่านมา โดยเหตุที่สั่งให้หยุดการกระทำต่างๆที่ผ่านมา เพราะกลัวว่าจะก่อให้เกิดการล้มล้างระบบการปกครอง ซึ่งศาลไม่ได้บอกว่าที่ทำสิ่งต่างๆข้างต้นมานั้น ถือเป็นการล้มระบบการปกครอง แต่ให้หยุดซะก่อนที่มันจะบานปลายไป
ส่วนชุดที่ 2 ศาลก็บอกว่า ม.112 หรือกฎหมายในหมวด 2 ไปแตะต้องไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ความมั่นคงของรัฐ ซึ่งไม่ได้บอกว่า ม.112 แตะต้องไม่ได้ แต่ยังบอก ม. 112 สามารถแก้ไขได้ แต่บอกว่าจะดำเนินการแก้ไขได้โดยสภานิติบัญญัติ โดยชอบ นั่นก็คือการใช้กระบวนการผ่านสภา ฯ แล้วเหตุนี้บรรดานักร้องเรียนทั้งหลายที่ไปร้องป.ป.ช.ให้ออกใบดำบรรดา สส. 44 คน ที่เสนอแก้ไข ม.112 จะไปร้องได้อย่างไรในเมื่อศาลบอกแล้วว่าแก้ไขได้ถ้าผ่านสภานิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่ง ส.ส ทั้ง44 คนนั้น ก็ทำตาม กระบวนการ ตามขั้นตอนของสภาฯ จึงเป็นการกระทำโดยชอบ ที่สส. มีสิทธิ์เสนอแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายได้
และประการสุดท้าย ศาลไม่ได้ชี้เลยว่าผิดอะไรบ้าง เพียงแต่บอกว่า"เกรงว่าหากปล่อยไปไม่กำราบให้หยุด ก็เกรงว่าต่อไปจะทำให้เกิดการล้มล้างการปกครอง ศาลกำลังพูดไปข้างหน้าว่าเกรงว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงได้สั่งว่าให้ยุติการกระทำซะ ห้ามปลุกระดม ห้ามประกาศ ห้ามอะไรอย่างเนี่ยพูดง่ายๆ แต่ก็จะเห็นว่าบรรดานักร้องทั้งหลายไปโยนว่ามีความผิดแล้ว ผิดตรงไหน ศาลไม่ได้บอกว่าผิดเลย ไม่ได้บอกว่าทำไม่ได้ แต่ศาลเกรงว่าที่ผ่านมา ทำแล้วนี่บ้านเมืองมันจะวุ่นวายลุกเป็นไฟ แล้วเดี๋ยวเกิดกระบวนการทำให้เกิดการล้มล้างการปกครอง ก็อยากจะฝากถึงบรรดานักร้ององค์กรอิสระทั้งหลายว่าท่านเป็นใคร มาจากไหนเพราะฉะนั้นอย่าทำจนเกิน เลยหน้าที่ อย่าทำจนน่าเกลียด สักวันหนึ่งลูกหลานจะถามแล้วท่านจะตอบไม่ได้
"ทุกวันนี้ที่มีปัญหาคือคนที่ไม่รู้กฎหมายแล้วมาวิพากษ์ผิดๆ โดยที่ไม่ได้อ่านไม่ได้ฟัง เอาแต่ที่เขาว่า มาบอกต่อ ว่าล้ม แต่ไม่จำว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เขียนอย่างไร ซึ่งศาลฯไม่ได้บอกเลย บอกเพียงว่า หากไม่หยุดการกระทำ หากปล่อยไว้ ให้กระทำต่อไปเช่นนี้ จะทำให้เกิดการล้มล้างการปกครอง ประโยคชัดๆประเด็นอย่างนี้ เขาไม่ได้บอกเลยว่าก้าวไกลล้มล้างการปกครอง เขาบอกว่าถ้าปล่อยไปสังคมจะถูกนำพาไปสู่ตรงจุดนั้น เพราะฉะนั้นจึงให้หยุดการกระทำเสีย วันนี้ที่ผมออกมาแสดงความเห็นเพียงอยากกระตุ้นสังคมให้เห็นว่าศาลยังไม่ได้บอกว่าอะไรผิดอะไรถูก ไม่ได้บอกว่าแก้ม.112 ไม่ได้" นายอุเทน กล่าว
ส่วนกรณีที่นายสนธิญา สวัสดี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ไปยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.เพื่อให้ตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ ของสส.พรรคก้าวไกล 44 คน หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยล่าสุดนั้น นายอุเทน กล่าวว่า เขาอ่านคำวินิจฉัยของศาลไม่เข้าใจ ซึ่งกฎหมายประเทศไทยเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรแบบกล่าวหา ตนจึงให้ไปถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญท่านสั่งตรงไหนว่า 44 สส.ยื่นไม่ได้ เป็นสส.แล้วยื่นแก้กฎหมายไม่ได้
"ซึ่งคำว่า โดยชอบ ในความหมายของผม คือโดยชอบตามข้อบังคับกฎระเบียบของรัฐสภาของสภาผู้แทนฯ ส่วนหากการเสนอแก้ไขกฎหมายไม่ได้รับเสียงข้างมากในสภาฯเห็นชอบให้ผ่านนั้น ก็ไม่เป็นไร กฎหมายที่เสนอแก้ไขก็ตกไป ก็นั่นก็เป็นเพราะจำนวนมือที่ยกน้อยกว่าเขา แต่ถ้าประชาชนอยากได้ คราวหน้าก็เลือกมากหน่อย นี่คือกระบวนการทางรัฐสภา" นายอุเทน กล่าว