เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งอีสาน เชื่อว่าหลายคนคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก เพลงลูกทุ่งอีสาน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่ กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน ตอนที่ 2 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้
กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน (2)
ประเด็นนี้น่าสำคัญของการบุกเบิกเพลงใส่สำเนียงอีสาน ท่วงทำนองดนตรีสองฝั่งโขง ซึ่งเป็นจังหวะก้าวสำคัญของขุนพลเพลงจากแดนอีสาน จังหวะก้าวสำคัญนี้ สุรินทร์ ภาคศิริ เริ่มต้นชีวิตเป็นนักแต่งเพลงด้วยผลงาน 4 เพลง และหนึ่งในนั้นคือเพลง ลำเกี้ยวสาว โดย กบิล เมืองอุบล เป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกที่แทรกทำนองลำเข้ามาในบทเพลง พ.ศ.2508
เพลง “ลำเกี้ยวสาว” เสียงร้องของ กบิล เมืองอุบล ลักษณะเพลงพันทางแนวแขนงเพลงลูกทุ่งเป็นเพลงแรกที่นำกลอนลำมาแทรกในบทเพลง เป็นร่องรอยแรกที่ปรากฏบุกเบิกให้เกิดเพลงผสมแบบลูกทุ่งอีสาน เพลงพันทางที่ขึ้นต้นทำนองสากล แล้วตัดเข้าเป็นทำนองแหล่ ,ลิเก ลำตัด ฯ พบได้จากผลงานครูคำรณ สัมมบุญณานนท์ ,ไพบูลย์ บุตรขัน ,พร ภิรมย์ ,ชาย เมืองสิงห์ ,ชัยชนะ บุญนะโชติ,ไพรวัลย์ ลูกเพชร เป็นต้น แต่กึ่ง ๆ หมอลำนั้นยังไม่เคยมีมาก่อน จนมาถึง ลำเกี้ยวสาว จากปลายปากกาของ สุรินทร์ ภาคศิริ จึงถือว่าเป็นเพลงแรก ๆ ของวงการลูกทุ่ง
ก่อนจะประกาศความยิ่งใหญ่ที่ใส่แบบจัดเต็มให้ขบวนคาราวานชาวอีสานในเพลง อีสานลำเพลิน ของ อังคนางค์ คุณไชย ในภาพยนตร์เรื่อง บัวลำภู ของ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ใน พ.ศ.2517 นับเป็นปีเริ่มต้นที่บัญญัติคำใหม่ที่ว่า “ลูกทุ่งอีสาน”
ก่อนหน้านี้ พ.ศ.2513 สุรินทร์ ภาคศิริ ได้ทดลองนำคำอีสานในบทเพลงมาแล้ว จากภาพยนตร์เรื่องมนต์ลูกทุ่ง ในเพลงหนุ่มพเนจร เสียงร้องของ บรรจบ เจริญพร ในเงาภาพของ เชน เมืองอุบล โดยเฉพาะ เพลงอีสานลำเพลิน ของ อังคนางค์ คุณไชย ที่เป็นการเปิดศักราชเพลงลูกทุ่งอีสานก็ว่าได้ เพลงลูกทุ่งอีสาน จึงเป็นแนวเพลงแนวหนึ่งที่แพร่หลายเป็นที่นิยมสนใจของคนในสังคมปัจจุบันอย่างกว้างขวาง โดยมี รำเต้ย ของ เบญจมินทร์ เป็นเส้นทางหมายเลขหนึ่งบุกเบิกคำอีสานในบทเพลง
ลูกทุ่งอีสาน กลายเป็นตลาดใหญ่ที่ค่ายเพลงต่างกอบโกยเงินมหาศาล เบญจมินทร์ เฉลิมชัย ศรีฤๅชา พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา สุรินทร์ ภาคศิริ เทพพร เพชรอุบล คือกลุ่มนักแต่งผู้บุกเบิกให้เกิดบรรยากาศพลังลาวชาวอีสานผ่านบทเพลงลูกทุ่ง ก่อนจะมาเติมเต็มโดย สลา คุณวุฒิ
สุภาษิตจีนมีอยู่คำว่า "เมื่อกินน้ำอย่าลืมคุณคนขุดบ่อ" ครูเพลงที่เอ่ยนามล้วนเป็นคนที่วงการลูกทุ่งภูมิใจ มิใช่เฉพาะภาคอีสานเท่านั้นแต่ทั้งประเทศให้การยอมรับทั้งในแง่ตัวตนและผลงานซึ่งเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวยุคไว้ในบทเพลงที่ยังคงความอมตะมาตราบจนทุกวันนี้ในหลายร้อยบทเพลงที่เสมือนเรื่องสั้นที่มีชีวิตเติมสีสันให้กับผู้คนที่ได้เสพย์อย่างสุนทรียรสของคีตกาล
วัฒนธรรมสองฝั่งโขงที่นำท่วงทำนองเพลงเพื่อนบ้านที่เครือญาติทางวัฒนธรรมมาประยุตได้อย่างกลมกลืน จึงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมวัฒนธรรมผ่านบทเพลง
ที่มา:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต