เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งอีสาน เชื่อว่าหลายคนคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก เพลงลูกทุ่งอีสาน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่ กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน ตอนที่ 1 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้
กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งอีสาน (1)
การเทครัวไพร่บ้านพลเมือง หลัง พ.ศ.2370 กวาดต้อนคนลาวไปอยู่สุพรรณ จากหลวงพระบาง, เวียงจัน, และสองฝั่งโขง ลงไปตั้งหลักแหล่งภาคกลาง โดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน เมืองสุพรรณบุรี เป็นต้นตอ
สำเนียงเหน่อลาว พบหลักฐานในนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ เมื่อนั่งเรือถึงเมืองสุพรรณ บอกว่าสองฝั่งแม่น้ำเป็นเรือนของพวกลาวสำเนียงเหน่อ ว่า “ลาวอยู่รู้เสียงสนอง เหน่อช้า”
วงการเพลงลูกทุ่งกำเนิดที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาคนในดินแดนสยามเป็นชาวสยามโดยไม่จำกัดเผ่าพันธุ์ แต่สื่อสารเข้าใจกันด้วยภาษากลางทางการค้า คือภาษาไต-ไท (ต้นตอภาษาไทย) มีประเพณีขับลำแบบลุ่มน้ำโขง (ปัจจุบันเรียกเหน่อ ซึ่งเป็นต้นตอสำเนียงเจรจาโขนสืบเนื่องจนปัจจุบัน) มีประเพณีเล่นเพลงขับลำเรื่องขุนแผน (ต้นตอขับเสภาสมัยรัตนโกสินทร์เรื่องขุนช้างขุนแผน)
“เหน่อสุพรรณ” เป็นสำเนียงที่มี “ดีเอ็นเอ” ลุ่มน้ำโขง ผลักดันคนเพลงสุพรรณ (และกลุ่มฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา) จำนวนไม่น้อย “แก้วเสียง” มีพลังสร้างสรรค์ เป็นนักร้องลูกทุ่งโดดเด่นพิเศษ ส่งผลให้นักร้องจากแดนสุพรรณบุรี จำเป็นเมืองหลวงของลูกทุ่งในภาคกลาง
คนลูกทุ่งทั้งมวลก็ กินน้ำร่วมห้วย กินกล้วยร่วมหวี กินปลีร่วมกาบ อาบน้ำร่วมวังกันมาแต่โบราณสืบเนื่องรากเหง้ายังมีในวิถีปกติ เพียงไม่อยู่บนเวทีห้องประชุมของราชการ แต่อยู่ในชุมชนหมู่บ้าน ได้แก่ งานบวช, งานวัด, งานวันเกิด จนถึงงานศพ ควบคู่ไปกับเรื่องราวของเพลงดนตรีทั้งแบบประเพณีและแบบป๊อปซึ่งล้วนมีกว้างใหญ่ไพศาล เป็นพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์
คำว่า “เพลงลูกทุ่ง” เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2507 ขณะที่คำว่า “เพลงลูกทุ่งอีสาน” ถูกบัญญัติโย ครูสุรินทร์ ภาคศิริ เมื่อ พ.ศ.2517 หลังจากมีคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” 10 ปี
เส้นทางรถไฟได้โลกใหม่ให้แผ่นดินที่ราบสูงอีสานภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแผ่นดินไทย รวมถึงการตัดถนนมิตรภาพเปลี่ยนดงพญาไฟกลายเป็นดงพญาเย็น และหนุ่มสาวอีสานไหลบ่าสู่เมืองกรุง
แม่น้ำโขงโอบแบ่งสองฝั่งซ้าย- ขวา เพลงลูกทุ่งเก่าสุดที่กล่าวถึงมหานทีแห่งชีวิตสายนี้ ตามหลักฐานที่พยามหามาได้ เริ่มจาก ชายฝั่งโขง ผลงานครูจำรัส รวยนิรันดร์ เพลงแรกในชีวิตของ เบญจมินทร์ ราชาเพลงรำวง ตามด้วยเฉลิมชัย ศรีฤๅชา เจ้าของเพลง เบิ่งโขง ,ลอยเรือล่องโขง ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด
สองเพลงคือ ชายฝั่งโขง กับ เบิ่งโขง ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจครูสุรพล สมบัติเจริญ ลูกทุ่งเลือดสุพรรณเชื้อสายสาแหรกสายแม่มีเชื้อลาวเวียงจัน แต่งเพลงแรกที่บันทึกแผ่นเสียงเพลง "น้ำตาลาวเวียง" รวมไปถึงเพลง สาวฝั่งโขง ผลงานการแต่งเองร้องเองของ ปอง ปรีชา ลูกทุ่งเมืองหมอแคนขอนแก่น ผู้ยึดแม่น้ำโขงด้วยบทเพลงลูกทุ่ง
ไทม์ไลน์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2480-2500 นับเป็นยุคบุกร้างถางพงตั้งไข่วงการเพลงลูกทุ่ง ที่จะเริ่มปรากฎนามนักร้อง - นักแต่ง เช่น แสงนภา บุญราศรี เสน่ห์ โกมารชุน คำรณ สัมบุญณานนท์ สมยศ ทัศนพันธุ์ เบญจมินทร์ ชาญ เย็นแข เฉลิมชัย ศรีฤๅชา จนมาถึง สุรพลม สมบัติเจริญ วงจันทร์ ไพโรจน์ ก้าน แก้วสุพรรณ ในยุคหลัง พ.ศ.2490
สองปฐมต้นตำนานเพลงแดนที่ราบสูง เบญจมินทร์ - เฉลิมชัย ศรีฤๅชา นั้นได้วางรากฐานให้กับวงการเพลงลูกทุ่ง โดยเฉพาะลูกทุ่งอีสานที่รับไม้ต่อยอดเมื่อถนนมิตรภาพตัดผ่านเข้าสู่เมืองกรุง งานสร้างสรรค์แบบหนึ่งโดยสามัญชนเมือง แล้วแพร่หลายสู่ชนบทด้วยสื่อชนิดใหม่ได้แก่ “ทรานซิสเตอร์” เทคโนโลยีใหม่ยุคนั้น
ความภาคภูมิใจ ที่ไม่ใช่ชาติภูมิภาคนิยม ต้องเริ่มจากชุมชนยกย่องให้เกียรติคนในท้องถิ่นที่มีพลังสร้างสรรค์ขุดบ่อห้วยหนองคลองบึงที่บอกเล่าบทเพลงบรรยากาศ “ชนบท” เพราะมักรวมประเภท “การเมือง” ด้วย แต่บางทีเรียกกันว่า เพลงชีวิต เพราะมักแต่งเพลงสะท้อนชีวิตสามัญชน ภายหลัง พ.ศ. 2507 พวกนี้จะถูกเรียกว่า เพลงลูกทุ่ง
คนชนบทที่เข้ามารับจ้างอยู่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อถนนมิตรภาพตัดผ่านดวงพญาไฟซึ่งกลายเป็นดวงพญาเย็น คนเหล่านั้นไม่ว่าจะเข้ามาชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม จะเริ่มมีฐานะทางสังคมแล้วเกิดการรวมตัวกันสร้าง “วัฒนธรรม” ของตัวเองขึ้นมาและเป็นกลุ่มหนึ่งที่สร้างเพลงลูกทุ่งอีสานมาจนปัจจุบัน
ที่มา:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต