วันที่ 26 ม.ค.67 ที่ศาลปกครองสูงสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นที่น่าดีใจว่าในที่สุดศาลได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยให้ชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะชนะคดีหลังต่อสู้กันมาอย่างยาวนานกว่า 12 ปี

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และเครือข่ายสิทธิผู้ป่วย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พร้อมด้วยผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง จำนวน 47 คน(ไม่รวมผู้ที่เสียชีวิตไปหลายคนแล้ว) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จ.ลำปาง (คพรฟ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อศาลปกครองกลางเมื่อ 15 ส.ค.2555

เนื่องจากทางคณะกรรมการ คพรฟ. มีการอนุมัติโครงการที่ใช้เงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม่เมาะไม่สอดคล้องกับการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และขัดหรือแย้งกับระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ.2553 ที่กำหนดไว้ว่าโครงการต่างๆ จะต้องจัดทำโดยชุมชนเพื่อชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และจะต้องจัดโครงการให้มีการชดเชยเพื่อเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทั้งด้านสุขภาพ อาชีพ และสิ่งแวดล้อม

แต่ขณะเดียวกันโครงการซึ่งเป็นของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในนามองค์กรชาวบ้านที่มีชื่อว่า “เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ” ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินงานผลิตไฟฟ้า และการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบตามตรงทางกฎหมาย จำนวน 11 โครงการ กลับไม่ได้รับความเห็นชอบ โดยที่คณะกรรมการกองทุนระดับตำบล หรือ คพรต. ไม่นำโครงการทั้ง 11 โครงการส่งให้ คพรฟ. ระดับจังหวัดและให้ กกพ.ได้พิจารณาแต่อย่างใด อันเป็นการตัดสิทธิของชาวบ้านไปโดยปริยาย ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อปี 2558 ในคดีหมายเลขแดงที่ ส.190/2558

"ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ และผู้ร้องทั้ง 47 คน ได้ยื่นอุทธรณ์และสู้ด้วยข้อเท็จจริงในสิทธิของผู้ป่วยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า กระทั่งมาวันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยสั่งให้คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จ.ลำปาง (คพรฟ.) นำ 11 โครงการฯพัฒนาชุมชนของชาวบ้านผู้ฟ้องคดีมาพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ระเบียบ กกพ.เมื่อปี 2553 กำหนดทั้งนี้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ซึ่งคดีนี้ถือว่าเป็นที่สุดแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องที่จะต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาต่อไป" นายศรีสุวรรณ กล่าว