ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ก.พ.67 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วยนายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และในฐานะโฆษกสำนักงาน ปปง. นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย และในฐานะรองโฆษก และนายปิยะ ศรีวิกะ ผอ.กองคดี 2 สำนักงาน ปปง. ร่วมกันแถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือน ก.พ.2567 พร้อมแถลงผลการยึดทรัพย์สินเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ต้องหาคดีโกงหุ้น STARK และตอบคำถามในประเด็นสำคัญอื่น ๆ

โดย นายเทพสุ กล่าวว่า จากกรณีของกลุ่มผู้ต้องหาในคดีตบทรัพย์อธิบดีกรมการข้าว สำนักงาน ปปง. รับเรื่องมาจาก 2 หน่วย คือ 1.หน่วยภาคประชาชน โดยได้รับเรื่องจากนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ และ 2.หน่วยงานรัฐ โดยได้รับเรื่องจากคณะพนักงานสอบสวน บก.ปปป.

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้สำนักงาน ปปง. มีหน้าที่จะต้องตรวจสอบถึงความชัดเจนในเรื่องความผิดมูลฐานก่อน จากนั้นถ้ามีความชัดเจนแล้วนั้นเจ้าหน้าที่ ปปง. จะเสนอไปยังคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อมีมติให้ตรวจสอบเชิงลึก และออกคำสั่งมอบหมายไปยังกองคดีที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่จะทราบตัวละครผู้กระทำผิดในคดี แต่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมว่ายังมีบุคคลอื่นๆ เกี่ยวข้องอีกหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน เช่น ภรรยาหรือญาติและครอบครัว เพื่อดูว่ามีการผ่องถ่ายทรัพย์สิน หรือถ่ายโอนทรัพย์สิน เปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินไปยังกลุ่มบุคคลเหล่านี้หรือไม่ ต่อมาเมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงินและธุรกรรมทางการเงิน เพื่อเข้าสู่การยึดและอายัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ ปปง.ได้รับทราบว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่บก.ปปป. กำลังไล่ว่ามีการกระทำความผิดมาก่อนหรือไม่ อย่างไร หากสังเกตดูในจุดเริ่มต้นจะพบว่าช่วงที่กระทำ คือ ช่วงที่เอาเงินไปแขวนไว้ และถือเงินเข้าไปภายในบ้าน และรีบโยนทิ้ง ในส่วนนี้ก็ต้องไปดูเช่นกันว่าเงินก้อนดังกล่าว เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหรือไม่ และมีการบูรณาการกับ บก.ปปป และประสานงานกับ ป.ป.ช. และ ปปท. สิ่งที่เราประสานไปก็เพื่อต้องมีความชัดเจนในความผิดมูลฐาน

นายเทพสุ กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมหารือเรื่องรายการทรัพย์สินของนายศรีสุวรรณ จรรยา กับพวกในวันนี้นั้น มอบหมายให้คณะทำงานไปร่วมประชุมกับ บก.ปปป. เรียบร้อยแล้ว คาดว่าการประชุมจะเกิดขึ้นในเวลา 13.00 น. ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) 

นอกจากนี้ ปปง. ยังอยู่ระหว่างประสานงานกับ 3 หน่วยงานตามที่เรียนไปข้างต้น เพราะเวลาที่เราจะทำสำนวนเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการธุรกรรม จะต้องมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง เช่น พฤติการณ์ ห้วงเวลาการกระทำความผิด เพื่อใช้ไปต่อยอดในการตรวจสอบทรัพย์สิน เเละที่สำคัญ ปปง. จะไม่ได้ทำการตรวจสอบย้อนหลังในอดีต แต่จะตรวจสอบตอนกลุ่มผู้ต้องหากระทำความผิดและได้ทรัพย์สินอะไรบ้างในช่วงเวลานั้น

ทั้งนี้ คอนเซ็ปต์ดำเนินการตรวจสอบของ ปปง.ก็มาจากแนวทางคำวินิจฉัยของศาลฎีกาและคณะกรรมการธุรกรรม เพราะอำนาจของปปง. เป็นอำนาจที่เด็ดขาดรุนแรง การใช้จะไม่ใช้แบบครอบจักรวาลแต่ต้องทำผ่านการรวบรวมพยานหลักฐาน การจะไปตรวจสอบย้อนหลังถึงอดีตมันไม่ถูกต้อง ต้องดูและยึดตามพฤติการณ์ ห้วงเวลาการกระทำความผิดของพวกเขา


#อธิบดีกรมการข้าว #ศรีสุวรรณจรรยา