เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งเชื่อว่าหลายคนคงคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู ไม่ว่าจะเป็นลูกทุ่งยุคแรก จนกระทั้ง มีการวิวัฒนาการ มาสู่ เพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน เรียกว่า เพลงลูกทุ่ง คือเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะซึ่งให้บรรยากาศ ความเป็นลูกทุ่ง
วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก พัฒนาการเพลง"ลูกทุ่ง" ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่ พัฒนาการเพลง"ลูกทุ่ง" ตอนที่ 12 ต่อจากตอนที่แล้ว ไว้ดังนี้
เพลงลูกทุ่ง (12)
เมื่อกระแสเพลงสมัยใหม่ที่เรียกว่าสตริงได้รับความนิยมมาแทรกอยู่กับความเงียบไปของเพลงลูกกรุง แนวเพลงลูกทุ่งยังได้รับความนิยมถึงแม้จะเปิดออกอากาศแต่เพียงคลื่น AM. และความแปลกใหม่ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่ฝ่ายหญิงไม่ใช่ร้องแต่เพียงเพลงแก้ แต่มีความกล้ามากขึ้นจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีเพลงลูกทุ่งคนที่สอง” ต่อจาก ผ่องศรี วรนุช
พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีความเป็นผ่องศรีแล้สผสมผสานลีลาของบุปผา สายชล และเตือนใจ บุญพระรักษา ขณะที่นักร้องฝ่ายหญิงเริ่มมีความโดดเด่นขึ้นมาตามหลังไม่ว่าจะเป็น ศิรินทรา นิยากร ,สุนารี ราชสีมา,บุษบา อธิษฐาน,,จันทรา ธีรวรรณ เป็นต้น
ความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบเพลงแนวสตริง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ฟังกลุ่มผู้ใหญ่ บรรดาค่ายเทปเพลงต่างเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะได้จากผู้ฟังกลุ่มผู้ใหญ่
กระแสเพลงลูกทุ่งถูกปลุกให้ตื่นและโอกาสกลับมาของเหล่าบรรดานักร้องรุ่นแรกเมื่อลังจากงานมหกรรมกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทยครั้ง 1 และ ครั้งที่ 2 โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ค่ายเพลงต่าง ๆ จึงได้นำเอาเพลงเก่าที่มีคุณค่าและเป็นที่รู้จัก คือ เพลงของวงสุนทราภรณ์มาเรียบเรียงเสียงประสานขับร้องใหม่ เช่น ชุด เยื่อไม้ เพลงหวานเมื่อวานนี้ ตราบนิรันดร์ มหาอมตะนิรันดร์กาล แน่นอนย่อมรวมไปถึงนักเพลงลูกทุ่งรุ่นเก่าได้กลับมามีชีวิตชีวาหวนคืนวงการอีกครั้ง เช่น ชาย เมืองสิงห์ ที่ผันตนเองไปเป็นชาวสวนชาวไร่ที่สิงห์บุรี รวมทั้งการยุบวงดนตรีของ สายัณห์ สัญญา จนมีคำพูดที่ว่า “เพลงลูกทุ่งตายแล้ว” จากนักเขียนชื่อดังอย่าง วณิช จรุงกิจอนันต์
การปลุกกระแสความนิยมเพลงลูกทุ่งกลับมาอีกครั้ง จนกระทั่งใน พ.ศ. 2535 ราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทำให้วงการเพลงลูกทุ่ง ได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย เนื่องจากพุ่มพวงเป็นความหวัง ที่จะฟื้นฟูความนิยมของเพลงลูกทุ่งที่ล้าสมัย ให้กลับมาแข่งขันกับเพลงแนวสตริง ที่ครองตลาดอยู่ จึงนับเป็นจุดเปลี่ยน ของวงการเพลงลูกทุ่ง ที่ส่งผลให้มีศิลปินนักร้องใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการแข่งขัน เพื่อเป็นนักร้องยอดนิยม ทั้งแนวทางที่เลียนแบบนักร้องเก่าหรือหาแนวทางใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ยุ้ย ญาติเยอะ สุนารี ราชสีมา ศิรินทรา นิยากร จินตหรา พูนลาภ และเกิดความนิยม
หลายค่ายที่นำเพลงเก่ามาทำมีทั้งนักร้องเก่า และนักร้องนวสตริงที่มาร้องเพลงลูกทุ่งไม่ว่าจะเป็น แซม ยุรนันท์ ภมรมนตร์ ,ดอน สอนระเบียบ,พรพิมล ธรรมสาสาน์,โอภาส ทศพร การนำเพลงลูกทุ่งยอดนิยมในอดีต มาเรียบเรียงเสียงประสาน และขับร้องใหม่ หรือนำนักร้องเพลงสตริงมาร้องเพลงลูกทุ่ง เช่น ชุดอภิมหาลูกทุ่ง แม่ไม้เพลงไทย ไปจนถึงหัวแก้วหัวแหวน ของจักรพรรณ์ อาบครบุรี ซึ่งออกติดต่อกันถึง 9 ชุด
ในห้วงของกระแสที่ซบเซาระยะสั้น ๆ ความโด่งดังของ ยิ่งยง ยอดบัวงาม จากเพลง สมศรี 1992 และบทเพลงที่ใส่ภาษาท้องถิ่นอีสานได้ปลุกกระแสเพลงทุ่งให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งและกล่าวขวัญมากที่สุดคือชุด มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งมีการนำภาพยนตร์เพลงเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง มาสร้างใหม่เป็นละครโทรทัศน์ใน พ.ศ. 2539
ละครเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง จึงทำให้เพลงลูกทุ่งกลับมาได้รับความนิยมอย่างสูงสร้างกระแสอย่างต่อเนื่องจนถึงความโด่งดังตำนานเพลงชุด รักน้องพร ของ นักร้องลูกทุ่งรุ่นกลางกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้ง เมื่อคลื่นสถานีวิทยุ FM”หันมาเปิดเพลงลูกทุ่งเป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบันโดยมี วิทยา ศุภพรโอกาสเป็นแกนนำสำคัญ ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เพลงลูกทุ่งยังคงได้รับความนิยมจากผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง หลายเพลงเป็นเพลงยอดนิยมที่มีเนื้อหา ที่ประทับใจผู้ฟัง เช่น เพลง กระทงหลงทาง ของ ไชยา มิตรชัย เพลง จดหมายผิดซอง ของ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย เพลง ยาใจคนจน ของไมค์ ภิรมย์พรเพลง รองเท้าหน้าห้อง ของสายัณห์ นิรันดรเพลง เพลง ปริญญาใจ ของ ศิริพร อำไพพงษ์ เพลง ขอใจกันหนาว ของ ต่าย อรทัย
เพลงลูกทุ่งเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมทั่วประเทศ เริ่มเข้าสู่ยุคทองของนักแต่งเพลงหน้าใหม่ผลัดใบจากรุ่นเดิม เช่น สลา คุณวุฒิ ,สัญลักษณ์ ดอนศรี ซึ่งเป็นนักเขียนกลุ่มวรรณกรรมลุ่มน้ำมูนเข้ามามีบทบาทใหม่ในฐานะนักแต่งเพลงลูกทุ่ง ก่อนจะเปลี่ยนผ่านจากยุคเทปมาสู่แผ่นCD.และมีแนวเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิต - ลูกทุ่งอีสาน และลูกลูกทุ่งปักษ์ใต้ของสองค่ายเพลงยักษ์ใหญ่จนมาถึงลูกทุ่งอินดี้ในปัจจุบัน
ขอบคุณ:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต