เมื่อเอ่ยถึง เพลงลูกทุ่งเชื่อว่าหลายคนคงคงจำ เนื้อร้อง และทำนองได้ ติดหู ไม่ว่าจะเป็นลูกทุ่งยุคแรก จนกระทั้ง มีการวิวัฒนาการ มาสู่ เพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน  เรียกว่า เพลงลูกทุ่ง คือเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย โดยมีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะซึ่งให้บรรยากาศ ความเป็นลูกทุ่ง 

วันนี้ สยามรัฐออนไลน์ พาไปรู้จัก พัฒนาการเพลง"ลูกทุ่ง" ว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดย เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้เผยแพร่  พัฒนาการเพลง"ลูกทุ่ง" ไว้ดังนี้


เพลงลูกทุ่ง (1)

คำว่า “เพลงลูกทุ่ง” มีพัฒนาการจากเพลงไทยสากลแล้วค่อยถูกเรียกขานว่า “เพลงชาวบ้าน” หรือ “เพลงตลาด” และ “เพลงชีวิต” อยู่บนวิถีเศรษฐกิจสังคม การเมือง ก่อน พ.ศ.2475 จาก “สยาม” มาเป็นประเทศ “ไทย”


หากยึดตามข้อเขียนของ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ได้สรุปพัฒนาการไว้เป็น 7 ยุคคือ 1) ยุคต้น เป็นยุคบุกเบิกเพลงลูกทุ่ง  2) ยุคทองของเพลงลูกทุ่ง เป็นยุคที่คำว่า “เพลงลูกทุ่ง” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก  3) ยุคภาพยนตร์เพลง เป็นยุคที่เริ่มนำเพลงลูกทุ่งมาประกอบในภาพยนตร์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องแรกที่โด่งดังเป็นอย่างมากคือ มนต์รักลูกทุ่ง  4) ยุคเพลงเพื่อชีวิต เป็นยุคที่เกิดกระแสความคิดแบบเพื่อชีวิต วงการเพลงลูกทุ่งจึงแต่เพลงแนวเพื่อชีวิตมากขึ้น  5) ยุคหางเครื่องและคอนเสิร์ต เป็นยุคที่เนื้อหาของเพลงกลับมานิยมเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีและความรักของหนุ่มสาว  6) ยุคเพลงลูกทุ่งแนวสตริง เป็นยุคที่ความนิยมเพลงลูกทุ่งลดลง ทำให้เพลงลูกทุ่งปรับตัวไปเป็นแนวสตริงคอมโบ นักร้องลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และ 7) ยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่เกิดช่องว่างระหว่างผู้ฟังเพลงกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้ใหญ่ จึงเกิดกระแสการอนุรักษ์เพลงเก่าเข้ามาสู่วงการเพลงลูกทุ่ง (สุรพล วิรุฬห์รักษ์.  (2551).  “เพลงลูกทุ่ง.”  สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  เล่ม 33: หน้า 39-79.)
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ คือมีความเป็นเสรี ไม่ปฏิเสธวัฒนธรรมภายนอก แต่สามารถนำมาปรับใช้กับ วัฒนธรรมที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม ได้อย่างกลมกลืน ลงตัว เนื้อหาฟังง่าย กับสาระเข้าใจง่าย สามารถนำมาร้องตามได้ ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรในการประพันธ์เพลงมาตั้งแต่แรกเริ่มที่การแต่ง 

การร้องที่ร้องอย่างเต็มเสียง ชัดถ้อยชัดคำ การเอื้อนเสียง การใช้ลูกคอ หรือการระรัวเสียงลูกคอ

ทุนทางวัฒนธรรมที่มีจึงสามารถนำเพลงพื้นบ้าน เช่น ลิเก ลำตัด แหล่ หมอลำ เซิ้ง มโนราห์ มาร้องและปรับแต่งทำนองเนื้อหา ตลอดจนนำเพลงไทยเดิม หรือเพลงต่างประเทศ เช่น เพลงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาปรับปรุงแต่งเนื้อร้องเพิ่มทำนองใหม่ หลักสำคัญของการสร้างทำนอง คือ ให้สามารถบรรจุคำร้องและบันทึกเป็นโน้ตสากลเพื่อบรรเลงด้วยดนตรีสากลได้

พัฒนาการคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ก่อนจะมีนิยามคำเรียกใช้ จึงถูกเรียงลำดับมาจาก พ.ศ.2480 เป็นมาเริ่มปรากฏครั้งแรกเป็นชื่อของภาพยนตร์เพลง ที่พรรณนาธรรมชาติ ชมท้องไร่ปลายฟ้าฟ้าคราม การแก้เกี้ยวหนุ่มสาวในบทภาพยนตร์ โดยเฉพาะ ภาพยนตร์ที่สร้างโดยบริษัทภาพยนตร์ไทย หรือไทยฟิล์ม เมื่อ พ.ศ. 2481 โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นผู้กำกับ ผู้แต่งทำนองเพลงคือ หม่อมหลวง พวงร้อย อภัยวงศ์ ผู้แต่งเนื้อร้องคือ พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น) 

จนกระทั่ง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมชาติ หรือ สวช. กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น (ปัจจุบันคือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม) ธันวาคม พ.ศ.2530 พลเอกมานะ รัตนโกเศศเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ริเริ่มจัดงาน 30 ปี เพลงลูกทุ่งไทย จึงได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานปรึกษาหารือหาข้อยุติในการจัดงานดั่งกล่าว ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเอาหลักฐานความทรงจำ โดย ครูใหญ่ นภายน ลูกศิษย์คนสำคัญของครูเหม เวชชกร อดีตหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้เอาหลักฐานความทรงจำว่า  เพลง สาวชาวไร่ ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของ ครูเหม เวชกร ใช้ร้องประกอบการแสดงละครวิทยุเรื่อง สาวชาวไร่ ใน พ.ศ. 2481 จากหลักฐานที่ค้นพบมีเค้าที่น่าเชื่อว่า เพลงสาวชาวไร่ เป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกของเมืองไทย  ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์

จึงได้มีการนับร่องรอยกาลเวลาจาก พ.ศ.2481 จนถึง พ.ศ.2531 ตัวเลชจะบรรจบที่ 50 ปี พอดี เมื่อมีการเสนอและได้ข้อสรุป และงานจะเกิดขึ้นใน พ.ศ.2532 นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หนึ่งในคณะกรรมการดำเนินงาน จึงใช้คำว่า “กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย” และบุคคลที่ต้องกล่าวถึงและหลงลืมไม่ได้ที่เป็นกำลังสำคัญให้งานนี้เกิดขึ้นทั้งการเขียนบทของการแสดงในมหกรรมเพลงครั้งนั้นคือ เจนภพ จบกระบวนวรรณ พร้อมกับการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจนเป็นสัญลักษณ์ประจำว่านี่คือ “โฆษกลูกทุ่ง”
โปรดติดตามอ่านต่อตอนต่อไป

 

ขอบคุณ:เพจเฟซบุ๊ก ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต