วันนี้ (12 ธ.ค.66) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานการเลือกตั้ง(กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเล็ก ร่วมกับอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ไปรับจ้างผู้สมัคร สส.เขตในจังหวัดอุตรดิตถ์จัดทำโพล เพื่อหยั่งเสียงคะแนนนิยมด้วยค่าจ้าง 300,000 บาท ชอบด้วยกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่
ทั้งนี้สืบเนืองจาก ข่าวที่ปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อพรรคเล็ก อายุ 70 ปี เข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 กองบัญชาการตำรวจนครบาล เกี่ยวกับการไม่ได้รับเงินจำนวน 100,000 บาทที่เหลือจากผู้สมัคร ส.ส.เขต พรรคการเมืองใหญ่รายหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ในการว่าจ้างทำโพลสำรวจความนิยมของประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ในราคา 300,000 บาท โดยว่าจ้างด้วยวาจา โดยผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อพรรคเล็กอ้างว่าตนเองเป็นตัวกลางในการช่วยประสานงานเท่านั้น
โดย ผู้สมัคร ส.ส. รายนี้ ได้มอบหมายให้ภรรยา โอนเงินค่าทำโพลผ่านธนาคารแห่งหนึ่งจำนวน 200,000 บาทให้ก่อนแล้ว โดยแจ้งว่าจะชำระอีก 100,000 บาท ในภายหลัง ซึ่งปรากฏว่าเมื่อการทำโพลเสร็จสิ้น และแจ้งผลโพลให้ผู้สมัคร ส.ส. เขตอุตรดิตถ์ทราบ สร้างความไม่พอใจต่อผลโพลที่บ่งบอกว่าผู้สมัคร ส.ส. และบุตรสาว จะแพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคคู่แข่งอย่างมาก สส.อุตรดิตถ์รายดังกล่าว จึงปฏิเสธการจ่ายเงินที่เหลือ อีกทั้งยังมอบอำนาจให้สำนักงานทนายความมีหนังสือไปยังอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ผู้รับจ้างทำโพล ให้คืนเงิน 200,000 บาท ที่จ่ายไปก่อนหน้านี้คืนด้วยเพราะส่งมอบงานไม่เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ คือวันที่ 2 พ.ค.66
กรณีดังกล่าว เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเชิงลึกพบว่า ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อพรรคเล็กเป็นผู้ขึ้นไปจัดทำโพลเองแทบทั้งสิ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าได้ร่วมประชุมกับผู้สมัคร ส.ส ที่ไม่ใช่พรรคที่ตัวเองสังกัด ช่วยวางแผนการเลือกตั้ง จัดทำป้ายหาเสียง รับจ้างจัดทำโพล ประชุมกำหนดแนวทางในการนำชาวบ้านมาฟังปราศรัย ร่วมประชุมเกณฑ์คนมาตอนรับอดีตนายกๆ และฟังปราศรัย โดยได้ร่วมประชุมกับผู้สมัคร ส.ส , คณะทำงาน หัวคะแนน เจ้าหน้าที่สำนักงาน ส.ส ที่อยู่ต่างพรรคกัน รวมทั้งรับเงินค่าตอบแทนค่าจ้างจากผู้สมัคร ส.ส ที่อยู่ต่างพรรคกันนั้น สามารถทำได้ด้วยหรือไม่
"ที่สำคัญ เมื่อผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้วผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อพรรคเล็กและผู้สมัคร สส.พรรคการเมืองใหญ่ต่างสอบตกทั้งหมด แต่ทั้งคู่ได้มีการรายงานค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งในกรณีการจ้างจัดทำโพลกันไว้อย่างไร ผิดกฎหมายเลือกตั้ง 2561 หรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย" นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด