เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 14 ก.ย. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการยกเลิกคำสั่งคสช. ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา จะดำเนินการอย่างไร ว่า เรื่องนี้ต้องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ากฎหมายบางข้อที่ไม่ได้ใช้ และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของราชการก็ยกเลิกไป ถ้ายกเลิกไม่ได้ก็นำกลับเข้าสู่ที่ประชุมครม.ใหม่ เป็นเพียงการพูดคร่าวๆ เราพยายามทำให้เป็นรัฐสนับสนุนถ้ากฎหมายอะไรที่บอกทำไม่ได้ก็อยากให้รีบทำ แต่ต้องไม่ขัดหลักนิติธรรมของการบริหารจัดการของประเทศ และการดำเนินธุรกิจ
เมื่อถามว่า การสื่อสารเรื่องกฎหมายต้องมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย หรือผู้ที่สามารถมาสื่อสารเรื่องกฎหมายได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้ขอรับไปปรับปรุง แล้วจะแจ้งมาอีกครั้งว่า จะดำเนินการอย่างไร เพราะหากยังไม่ครบทั้งหมด ก็อาจจะยังไม่รีบแถลง เข้าใจว่าประชาชนอยากทราบเรื่องที่เราคิดอยู่ทำอยู่ ต่อไปอะไรที่ยังไม่ครบ100% ก็อาจจะยังไม่แถลง
เมื่อถามย้ำว่า จะมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวมี จะมาบอก
เมื่อถามว่า มีการประสานกับกระทรวงกลาโหม เพื่อมาดูแลเรื่องความมั่นคงเองใช่หรือไม่ ว่า เรื่องของความมั่นคงมีหลายมิติทั้งภายในและภายนอก เรื่องการปกป้องอธิปไตยของประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องของภาวะภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความร้อนแรง แต่หนักไปทางด้านการค้ามากกว่า ที่อาจจะครอบคลุมไปถึงเรื่องความมั่นคงและเรื่องอื่นได้ด้วย ตรงนี้ต้องดูให้ดี เพราะเราเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มาก แต่เรามีความภาคภูมิใจที่เราเป็นประเทศไทย เรามีเอกราชมาโดยตลอด แต่เราอยู่บนโลกที่มีความขัดแย้งสูง ดังนั้น การที่ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ ในวันที่ 18-23 ก.ย.นี้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีการพูดคุยกับผู้นำหลายประเทศ ตรงนี้เป็นความมั่นคงนอกประเทศ ความมั่นคงด้านการค้า
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องความมั่นคงภายในนั้น เราก็ต้องมีความพร้อม ซึ่งเรื่องฝ่ายความมั่นคงกับประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในอดีตอาจจะมีการพูดจากันที่รุนแรงไปนิดนึง ก็พยายามลดช่องว่างระหว่างสถาบันทหารกับประชาชน โดยให้มีการสื่อสารที่ดีขึ้น มีการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น การสมัครใจเกณฑ์ทหารเป็นบางส่วน ใช้พื้นที่ของกรมทหารที่ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและกรมพัสดุมาให้ประชาชนทำการเกษตร หรือกระทั่ง การให้เจ้าหน้าที่ทหารมาช่วยเหลือในเรื่องภัยพิบัติ หรือดูแลน้ำท่วม ภัยแล้ง ตรงนี้มีหลายมิติที่ความมั่นคงสามารถทำได้ อยากจะใช้เวลาพูดคุยกัน และอะไรที่พร้อม ก็จะประกาศอีกทีหนึ่ง
เมื่อถามว่า เป็นการสร้างภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีดูแลทั้งเรื่องของกระทรวงการคลังและความมั่นคง นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับการสร้างภาพลักษณ์ แต่เป็นเรื่องที่สมควรทำ และเป็นเรื่องที่ประชาชนดูอยู่ เราต้องดูแลให้ครบทุกมิติ ถือว่าเป็นภารกิจที่หนักหน่วง แต่ก็เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ก็ต้องทำต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีที่ประชุมครม. แต่งตั้งน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ จะเป็นการดึงเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานนี้ใช่หรือไม่ ว่า จะเป็นการดึงคนทุกภาคส่วน ที่มีความรู้ความสามารถ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่น.ส.แพทองธาร แต่จะเป็นทุกคน ที่มีความรู้ความสามารถจะมีอีกหลายคนหลายภาคส่วน และมีอีกหลายคนที่รัฐบาลจะเชิญเข้ามาเพื่อให้ครบทุกมิติ ในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ทำความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น
เมื่อถามถึงกรณีการแบ่งงานของรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งด้านการเกษตรอยู่ในกำกับดูแลของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แทนที่จะอยู่ในกำกับดูแลของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเศรษฐา กล่าวว่า อย่าไปโฟกัสว่าใครอยู่พรรคไหนอย่างไร ซึ่งตนพูดตั้งแต่วันแรกว่ารัฐบาลชุดนี้ แม้จะมีพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 11 พรรค แต่เราก็เป็นรัฐบาลของประชาชน
“ขออย่าดูว่าเป็นรัฐบาลซีกไหน กลุ่มไหน ผมคิดว่าเป็นการดูแลที่ถูกฝาถูกคน เพราะนายภูมิธรรมก็ดูแลเรื่องการเกษตรและพาณิชย์ควบคู่กันไป เราเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเชื่อว่าเรื่องนี้เราไม่มีความขัดแย้งกัน” นายเศรษฐา กล่าว
เมื่อถามว่า เกณฑ์ชี้วัดหรือ KPI ในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการหารือกัน ในรายละเอียดว่าเคพีไอจะเป็นอย่างไร เพราะหากพูดไปแล้วอาจจะมีคำถามมากกว่าคำตอบ ขอไปพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงก่อน ซึ่งหากมีแผนการทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว จะมาแถลงให้ทราบอีกครั้ง แต่ขอให้สบายใจได้เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ