โพลแฮปปี้รัฐบาลใหม่เชื่ออยู่ครบเทอม ซูเปอร์โพล เผยประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยรัฐบาล-ครม.ชุดใหม่ เชื่อมั่นอยู่ครบเทอม ด้านสวนดุสิตโพล ระบุประชาชนเชื่อมั่นพรรค ประชาชน แก้ปัญหาท้องถิ่น อันดับ 1 รองลงมา เพื่อไทย - ภูมิใจไทย-พลังประขารัฐ ตามลำดับ
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.67 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง "รัฐบาลใหม่ ครม.ใหม่ ในความเห็นประชาชน" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 2,078 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 67 ก.ย.7 ที่ผ่านมา เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่ คณะรัฐมนตรีใหม่ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แบ่งออกตามกลุ่มคนเคยเลือกพรรคการเมือง พบว่า กลุ่มคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.2 เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 18.8 ไม่เห็นด้วย และเมื่อวิเคราะห์ความเห็นของกลุ่มคนเคยเลือกพรรคอื่นพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.6 ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 24.4 เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในด้านต่างๆ พบจุดแข็งของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เคยอยู่ในความนิยมของประชาชนมาช้านานอันดับแรกหรือร้อยละ 42.6 ได้แก่ เชื่อมั่นด้านสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชน รองลงมาอันดับที่สอง หรือร้อยละ 33.7 ที่เกิดจากการรณรงค์จุดกระแสใหม่ของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ เชื่อมั่นด้าน ซอฟต์พาวเวอร์ ฟื้นฟูการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและอื่นๆ อันดับที่สาม หรือร้อยละ 33.2 ได้แก่ ด้านเชื่อมั่นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ อันดับที่ สี่ หรือร้อยละ 25.3 ได้แก่ เชื่อมั่นด้าน การแก้ไขปัญหายาเสพติด และอันดับที่ห้า หรือร้อยละ 23.9 ได้แก่ เชื่อมั่นด้าน การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.0 ค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมากที่สุดว่า รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะอยู่ครบเทอม ในขณะที่ร้อยละ 38.0 ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย
รายงานของซูเปอร์โพลเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่และคณะรัฐมนตรีใหม่ นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของมุมมองจากกลุ่มผู้เลือกพรรคเพื่อไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่เลือกพรรคอื่นๆ ความนิยมและความเชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยที่ยังคงมีอยู่สะท้อนถึงความคาดหวังในหลายๆ ด้านที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลใหม่นี้ โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อการอยู่ครบเทอมของรัฐบาลนี้มีมากกว่าความไม่เชื่อมั่น สิ่งนี้อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายและการตัดสินใจของรัฐบาลในอนาคตเพื่อรักษาความนิยมและตอบสนองความคาดหวังของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
รายงานของซูเปอร์โพล ยังระบุด้วยว่า ผลสำรวจครั้งนี้สามารถช่วยให้นักการเมืองและนักวิเคราะห์นโยบายมองเห็นแนวโน้มและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ในหลายมิติ ได้แก่ ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลใหม่ ด้วยสัดส่วนของตัวอย่างที่ให้การสนับสนุนที่สูงจากกลุ่มที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยและการมีสัดส่วนความเชื่อมั่นที่ค่อนข้างสูงว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม แสดงให้เห็นว่ามีฐานเสียงที่มั่นคงและความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลนี้อยู่ในระดับสูง สิ่งนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลสามารถใช้เป็นกลไกในการผลักดันนโยบายหรือโครงการใหม่ๆ ได้
ด้านการให้ความเชื่อมั่นในด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นหลัก นักการเมืองและรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงนโยบายในสองด้านนี้เป็นพิเศษ การลงทุนในโครงการสาธารณสุขและการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอาจช่วยรักษาความนิยมและสร้างความเชื่อมั่นได้
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยความเชื่อมั่นที่ต่ำในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ แก๊งมิจฉาชีพ คอลเซ็นเตอร์ รัฐบาลใหม่อาจจำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มความพยายามและทรัพยากรในด้านเหล่านี้ เพื่อตอบสนองและสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนให้มากขึ้น
ผลกระทบต่อการเมืองไทย ความแข็งแกร่งของฐานเสียงและความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลนี้อาจนำไปสู่ความมั่นคงในระยะสั้นถึงระยะกลาง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องระมัดระวังในการตอบสนองความคาดหวังของประชาชนในทุกกลุ่ม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและเพิ่มศักยภาพในการอยู่รอดตลอดเทอมการบริหาร
การตีความผลสำรวจทางการเมืองครั้งนี้จึงต้องพิจารณาทั้งความนิยมและจุดอ่อนเพื่อวางแผนกลยุทธ์ทางการเมืองและการบริหารที่เหมาะสม รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นตามสถานการณ์ทางการเมืองที่รวดเร็วและไม่คาดคิดได้
ด้าน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศเฉพาะผู้ที่เคยออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่นเรื่อง การเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติ กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,149 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย.67 สรุปผลได้ ดังนี้ เมื่อถามว่า ประชาชนเชื่อมั่นพรรคการเมืองใดในการทำงาน แก้ไขปัญหาท้องถิ่นมากที่สุด ผลสำรวจพบว่า อันดับหนึ่ง พรรคประชาชน ร้อยละ 30.73 อันดับสอง พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 22.38 อันดับสาม พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 13.19 อันดับสี่ พรรคพลังพลังประชารัฐ ร้อยละ 10.67 อันดับห้า พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 8.82 อันดับหกพรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 7.89 และอันดับเจ็ด พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 6.32
เมื่อถามว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ว่าผลการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เกี่ยวข้องกับ ผลการเลือกตั้งระดับชาติ พบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 47.87 ส่วนไม่เห็นด้วย ร้อยละ 52.13 เมื่อถามว่า ประชาชนอยากให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นนำเสนอนโยบายด้านใดบ้าง ผลสำรวจพบว่า อันดับหนึ่ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมในชุมชน ร้อยละ 72.58 อันดับสอง แนวทางการแก้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่น น้ำท่วม ฯลฯ ร้อยละ 70.32 และอันดับสาม ส่งเสริมการศึกษา สถานศึกษาในท้องถิ่น ร้อยละ 64.06 เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าปัจจัยใดมีอิทธิพลมากที่สุดต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครในการเลือกตั้ง ท้องถิ่น ผลสำรวจพบว่า อันดับหนึ่ง นโยบายผู้สมัคร ร้อยละ 67.42 อันดับสอง ประวัติและผลงานในอดีตของผู้สมัคร ร้อยละ 65.77 และอันดับสามการลงพื้นที่หาเสียง ร้อยละ 62.80 เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด โดย อันดับหนึ่ง ร้อยละ 57.88 สำคัญมาก อันดับสอง ค่อนข้างสำคัญ ร้อยละ 38.47 อันดับสามไม่ค่อยสำคัญ ร้อยละ 3.48 และอันดับสี่ไม่สำคัญ ร้อยละ 0.17