นราพัฒน์ เผย "ปชป." ยังไม่มีเทียบเชิญร่วมรัฐบาล ลั่นพร้อมเป็นได้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ด้าน "ภูมิธรรม" ชี้เร่งกระบวนการตั้ง "ครม." ให้เสร็จสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ยังกั๊ก "ปชป." ร่วมรัฐบาล ขณะที่ "นิด้าโพล" เผยผลสำรวจ "ปชช." ไม่เชื่อ "อุ๊งอิ๊ง" จะบริหารประเทศโดยปราศจาก "ทักษิณ"
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อวันที่ 25 ส.ค.67 นายนาราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวการร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ถึงขณะนี้ยังไม่มีการเชิญประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหาร(กก.บห.)พรรคและสส.พรรค ตนยืนยันว่า การจะร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น ตามข้อบังคับพรรคได้กำหนดไว้แล้วชัดเจนว่า หากมีเทียบเชิญ หรือมีข้อเสนอใดๆมา จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม กก.บห.พรรคก่อน จากนั้นจึงจะมีการประชุมร่วมระหว่าง กก.บห.และสส.พรรคเพื่อหามติ
"ยืนยันว่าพรรคปชป.เราทำงานในฐานะฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้ หากมีการประชุมร่วมก็ต้องหารือกันว่า หากเป็นฝ่ายค้าน จะทำประโยชน์อะไรให้กับประชาชน และถ้าร่วมรัฐบาลจะทำประโยชน์ให้ประชาชนด้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีใครสามารถ ตัดสินใจคนเดียวได้ ต้องออกเป็นมติพรรค
เมื่อถามว่า หากพรรคปชป. ตัดสินใจร่วมรัฐบาลแล้ว มีความกังวลว่าจะเสียฐานเสียงของประชาชนหรือไม่ นายนาราพัฒน์ กล่าวว่า การเมืองต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ถ้าเราสามารถทำอะไรแล้วประชาชนได้ประโยชน์ เราทำตรงนั้นดีกว่า การที่จะมาไกล่เกลี่ยกันว่าพรรคเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สังคมเขามองว่าพรรคไหนจะทำงานให้ประชาชนได้ ชึ่งพรรคปชป.มีการเตรียมตัว เราเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับในอนาคต หากพรรค จะเป็นพรรคทางเลือกให้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เราก็พร้อมทำหน้าที่
วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแพทองธาร 1 (ครม.) ที่มีกระแสข่าวว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ 26 ส.ค.นี้ ว่า ยังไม่ได้ระบุถึงขั้นนั้นอยู่ที่ความพร้อมทั้งหมด แต่กำลังเร่งเพราะต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งได้ทำงานเต็มที่ ขออย่ากังวลเพราะเราทำหน้าที่ เสมือนรัฐบาลจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ จึงจะพ้นจากหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับ แต่ก็อยากให้ ทุกอย่าง เสร็จภายในสิ้นเดือน สิงหาคมนี้ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนจะมีการโปรดเกล้าฯเมื่อใด อยู่ที่กระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบ ส่วนตัวยังไม่ได้ยื่นใบกรอกประวัติ และยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะดำรงตำแหน่ง กระทรวงใด
เมื่อถามว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา นายภูมิธรรม กล่าวว่า ได้มีการเตรียมคู่ขนานไว้แล้ว ทันทีที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งก็จะสามารถ เรียกประชุมได้ คาดว่าภายในต้นเดือน ก.ย.หรือไม่เกินกลางเดือนก.ย.รัฐบาลชุดใหม่จะสามารถทำหน้าที่ได้
เมื่อถามว่ากรณีที่จำนวนคนของพรรคเพื่อไทยเกินกว่าตำแหน่งรัฐมนตรี ได้มีการเคลียร์เรื่องนี้หรือยัง นายภูมิธรรม กล่าวว่า เกินเกือบทุกพรรค เพราะไม่รู้ตามดุลยพินิจใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คำว่าจริยธรรมไว้กว้างมาก จึงต้องระมัดระวัง
เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐมีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วหรือไม่ หลังมีกระแสข่าวส่งชื่อมา 2 บัญชี นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องขออนุญาตเพราะตามมารยาทไม่ควรพูดถึงพรรคอื่น แต่เชื่อว่าแต่ละพรรครู้ดีอยู่แล้ว ต้องรีบดำเนินการให้ทันกับสถานการณ์ของประเทศ เพราะภัยพิบัติต่างๆรออยู่ไม่อยากให้ช้า ถึงขั้นกระทบต่อภัยพิบัติที่ประชาชนได้รับ ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการ
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะนับรวมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลครั้งนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลมันพูดชัดเจนไม่ได้ จนกว่าสุดท้ายจะตกลงและมีชื่อยื่น และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯลงมา เพราะในกระบวนการต่างๆเราไม่รู้ว่าใครจะมีปัญหาหรือไม่ หรือแต่ละพรรคจะได้ ตามโควต้าที่เป็นอยู่หรือไม่ หรือเกิดปัญหาภายในพรรคที่จัดการไม่ได้หรือไม่ เราไม่รู้ข้อเท็จจริง
เมื่อถามว่าการเชิญพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลจะต้องมีการ เทียบเชิญหรือไม่ หรือสามารถส่งชื่อเข้ามาได้เลย นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้เราไม่ควรดำเนินการแบบนี้เพราะจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจ หรือไม่มั่นคงในพรรคร่วมรัฐบาล เป็นไปตามขั้นตอนหรือ step by step ถ้าเกิดปัญหาตรงไหนค่อยคลี่คลายไปตามสภาพ เพราะวันนี้เราได้ร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลและทุกคนได้เสนอตัวมาแล้ว ขึ้นอยู่กับรายละเอียด จะลงตัวอย่างไร
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมจะต้องแจ้งให้พรรคอื่นที่ร่วมรัฐบาลทราบใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ขอคิดในขั้นตอนปัจจุบัน และขอคิดเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนก่อน
ที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง บทบาทอดีตนายกฯ ทักษิณ ในรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของคุณทักษิณ ชินวัตร ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ นิด้าโพล สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนถึงความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะบริหารประเทศโดยปราศจากคุณทักษิณ ชินวัตร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 59.01 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย รองลงมา ร้อยละ 15.42 ระบุว่า ไม่น่าเป็นไปได้ ร้อยละ 14.96 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ ร้อยละ 9.77 ระบุว่า เป็นไปได้แน่นอน และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านบทบาทที่คุณทักษิณ ชินวัตร ควรมีในรัฐบาลนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 37.79 ระบุว่า ไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ไม่อยู่หลังฉาก แต่อาจให้คำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการในฐานะพ่อ-ลูก รองลงมา ร้อยละ 28.85 ระบุว่า ไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ แต่อยู่หลังฉากในการช่วย หรือให้คำปรึกษาในการบริหารประเทศแก่นายกฯ แพทองธาร ร้อยละ 26.95 ระบุว่า ไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ไม่อยู่หลังฉาก และปล่อยให้นายกฯ แพทองธาร เป็นอิสระในการบริหารประเทศ ร้อยละ 6.03 ระบุว่า ดำรงตำแหน่งที่เป็นทางการในการช่วย หรือให้คำปรึกษาในการบริหารประเทศแก่นายกฯ แพทองธาร และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงบทบาทของ คุณทักษิณ ชินวัตร ในความเป็นจริงที่ประชาชนจะได้เห็นในรัฐบาลนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตรพบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.39 ระบุว่า ไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ แต่อยู่หลังฉากในการช่วย หรือให้คำปรึกษาในการบริหารประเทศแก่นายกฯ แพทองธารรองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า ไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ไม่อยู่หลังฉาก แต่อาจให้คำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการในฐานะพ่อ-ลูก ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ไม่อยู่หลังฉาก และปล่อยให้นายกฯ แพทองธาร เป็นอิสระในการบริหารประเทศ ร้อยละ 9.08 ระบุว่าดำรงตำแหน่งที่เป็นทางการในการช่วย หรือให้คำปรึกษาในการบริหารประเทศแก่นายกฯ แพทองธาร และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.86 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.37 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.94 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.24 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.81 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.26 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.75 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.99 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 35.42 สถานภาพโสด ร้อยละ 62.75 สมรส และร้อยละ 1.83 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 12.83 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.63 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 11.22 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 39.16 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 9.16 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.34 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.83 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 6.79 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.50 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.53 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.11 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 17.71 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 13.74 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.54 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 14.20 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 6.95 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 8.32 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.54 ไม่ระบุรายได้