เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 13 ก.ย. 66 ที่ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารเอ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ นางพิชญา  ธารากรสันติ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ กองคดีฮั้วประมูลฯ ร่วมกันแถลงรายละเอียดการสืบสวนเครือข่ายบริษัทของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก ผู้ต้องหาในคดีสั่งยิงสารวัตรทางหลวง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรแบงก์ ที่อาจเข้าข่ายฮั้วประมูลฯ

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ผอ.กองคดีฮั้วฯ กล่าวว่า จากที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น อธิบดีดีเอสไอได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้และเนื่องด้วยประชาชนให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม ตนได้ทำคดีนี้มาตั้งแต่ปี 2547 แต่อาจไม่เป็นที่สาธารณะรู้จัก และดำเนินการสืบสวนกำหนดเครือข่ายดังกล่าวจนพบว่ามีการประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจของรัฐ โดยรับโครงการจากภาครัฐ จำนวน 1,544 โครงการ มูลค่า ณ ตอนนี้ งบประมาณ 7,500 ล้านบาท ราคารวมทุกสัญญา 6,900 ล้านบาท อีกทั้งดีเอสไอมีหน้าที่ในการสืบสวนเรื่องฮั้วประมูลสำหรับโครงการที่มีมูลค่าเกิน 30 ล้านบาท จึงได้ดำเนินการตรวจสอบโครงการของกำนันนกจำนวน 1,544 โครงการ (จำนวนโครงการที่รับงานจากภาครัฐ) และหลังจากดีเอสไอตรวจสอบก็พบว่าโครงการของ ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด มี 2 โครงการ ส่วนของ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด มี 18 โครงการ ที่มีมูลค่าเกิน 30 ล้านบาท แต่ที่ดีเอสไอเห็นข้อพิรุธคือ 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม - ต.ลำลูกบัว และ 2.โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว - บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกรมทางหลวง และดีเอสไอได้รับเอกสารข้อมูลโครงการจากกรมทางหลวงเรียบร้อยแล้ว

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวอีกว่า จากการสืบสวนต่อเนื่อง มีข้อมูลระดับค่อนข้างดี ล่าสุดมีชาวบ้านซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ซื้อซองจากทั้งสองโครงการดังกล่าว ได้แจ้งข้อมูลทางลับมาที่ดีเอสไอ และดีเอสไอมองว่าอาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์สมยอมราคากัน กรอบของดีเอสไอ คือ ดำเนินการตรวจสอบโครงการทั้ง 20 โครงการนี้ก่อนตามที่ได้รับข้อมูล โดยจะทำให้เป็นโครงการตัวอย่างก่อน 2 โครงการตามที่เรียนข้างต้น และอาทิตย์หน้าเตรียมรับเป็นคดีพิเศษ ส่วนเรื่องโครงการใดที่เห็นความผิดชัดเจนแล้วนั้น ยังไม่เรียกว่ามีความผิด แต่เรียกว่ามีข้อพิรุธ คือ มีการประมูลในราคาต่ำ หรือเรียกว่าฟันราคา และทั้งสองโครงการนี้ใกล้เคียงกัน คือ กลุ่มได้งานคือกลุ่มเดียวกัน กลุ่มซื้อซองก็ใกล้เคียงกัน อีกทั้งเมื่อเช้านี้จากการที่มีการเข้าตรวจค้น ก็พบว่าในกลุ่มผู้ซื้อซองอาจเป็นคนได้รับผลประโยชน์ได้

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวถึงลักษณะผู้จัดฮั้วประมูล ว่า มีการแตกสาขา กลุ่มใครกลุ่มมัน อาจมีบ้านเล็กบ้านใหญ่ หรืออาจเกี่ยวข้องกับนักการเมืองได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากำนันนกคงมีลูกมือลูกไม้คอยทำหน้าที่ข่มขู่คุกคามไม่ให้คนเข้ามาเปิดซื้อซอง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเป็นการคีย์ระบบ e-bidding คนซื้อซองไม่จำเป็นต้องรับรู้ แต่ในกรณีนี้อาจจะมีความสามารถในการรับรู้การซื้อซอง แล้วดำเนินการบล็อกไว้ เพราะตอนยื่นซื้อซองของทั้งสองโครงการ มีประมาณ 30 กว่าราย แต่ในวันประมูลเหลือเพียงไม่กี่ราย และในช่วงสัปดาห์หน้า ตั้งแต่วันที่ 18-20 ก.ย.นี้ ได้เรียกบริษัทที่เคยยื่นซื้อซอง จำนวน 58 บริษัทเข้าให้ข้อมูล โดยทยอยเข้าให้ข้อมูลวันละประมาณ 20 บริษัท หากการให้ปากคำเป็นประโยชน์เราก็จะกันเป็นพยาน แต่ถ้าให้ข้อมูลไม่เป็นประโยชน์ อาจแปลได้ว่าสมยอมหรือไม่ และดีเอสไอจะสอบถามเรื่องความสัมพันธ์ต่างๆรวมถึงจะดูเรื่องเบอร์โทรศัพท์และการติดต่อด้วย เพื่อหาความสัมพันธ์เชื่อมโยง ทั้งนี้ เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เราจะตรวจสอบดูให้ครบทุกมิติ

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวด้วยว่า มีพยานบางส่วนแจ้งเรื่องข่มขู่มาแล้ว โดยมีพฤติกรรมไม่ให้พยานไปยื่นซองประมูล อ้างว่าโครงการนี้เป็นของผู้ใหญ่ ซึ่งคนที่ถูกข่มขู่นั้น ถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์ สำหรับการออกหมายเรียกนายประโยชน์ จันทร์คล้าย และนางสุวีณา จันทร์คล้าย (บิดา-มารดากำนันนก) ดีเอสไออาจจะไม่ได้ออกหมายเรียกพยาน แต่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนมีความชัดเจน ซึ่งหากพบความผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฮั้วประมูลโครงการของภาครัฐ ดีเอสไอก็จะดำเนินการออกหมายผู้ต้องหาได้ทันที

เมื่อถามว่ามีผู้ที่มีอิทธิพลมากกว่ากำนันนกหรือไม่นั้น ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า กำนันนกเป็นผู้มีอิทธิพล แต่ถ้ามีอิทธิพลมากกว่านั้น เราก็จะตรวจสอบให้หมด เพราะเป็นนโยบายที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยธ. สั่งการมอบหมายมา ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนหาผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม และในตอนนี้ ตนทราบว่ากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหนังสือเวียนเรื่องระบบบล็อกเชนมาใช้เพื่อป้องกันการทุจริตฮั้วประมูลฯ แต่ไม่มีสิ่งใดสามารถป้องกันได้ 100% มันมีช่องโหว่อยู่แล้ว แต่ดีเอสไอไม่กลัว เราทำเต็มที่ และจะทำให้ดี เพื่อฟื้นความเป็นธรรม ส่วนเรื่องจะมีการยึดอายัดทรัพย์สินใดๆของกำนันนกและครอบครัวหรือไม่ ก็ต้องมีคดีความผิดมูลฐานก่อน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความผิดมูลฐาน

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับการสอบปากคำพยานบุคคลต่างๆ ถ้าพยานให้ปากคำเชื่อมโยงไปถึงกำนันนก และพบว่ามีความผิดจริงตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ ดีเอสไอก็จะต้องไปแจ้งข้อหาต่อเจ้าตัว แต่คงไม่ได้ไปสอบปากคำกำนันนก และโครงการที่จะพบความผิดในอนาคตนั้น ก็จะเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งโทษสูงสุด หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง มีโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็จะมีโทษลดหลั่นกันไปตามความผิดที่เข้าไปเกี่ยว แต่ถ้าบุคคลใดมีการสมยอมฮั้วราคากัน อัตราโทษจำคุก 3 ปี หากมีการเรียกรับสินบนอัตราโทษ 5 ปี และถ้ามีการข่มขู่ อัตราโทษ 10 ปี ซึ่งกลุ่มคนที่ข่มขู่ผู้อื่นจะโทษหนักกว่า นอกจากนี้ ดีเอสไอจะต้องดำเนินการเรียกคณะตรวจรับงานของโครงการที่บริษัทกำนันนกประมูลไปได้นั้น มาสอบถามว่าการตรวจรับงานเป็นไปตามสเปคถูกต้องหรือไม่ 

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวปิดท้ายว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอขอบคุณข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง สำนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร. หรือ DGA) และองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) (ACT) และขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า ได้มีบุคคลที่ไม่ประสงค์จะแจ้งตัวตนได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเครือข่ายบุคคลที่เกี่ยวข้องมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการขยายผลการดำเนินคดีกับเครือข่ายได้เป็นอย่างดี และขอให้บุคคล/บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ได้รับหรือเคยได้รับผลกระทบจากการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการข่มขู่ คุกคาม หรือกีดกัน ไม่ให้เข้าร่วมการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐอย่างเป็นธรรม จากนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก และเครือข่าย ขอให้แจ้งข้อมูลมายังกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กคร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษโดยเร็ว กรมสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณาในเรื่องการคุ้มครองพยานตามมาตรการคุ้มครองพยาน เพื่อกวาดล้างขบวนการและร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในรูปแบบของผู้มีอิทธิพลอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวพบว่ามีเจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นำโดย ว่าที่ พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภกุล ผกก.3 กองบังคับการปราบปราม เดินทางมาพร้อมคณะทำงาน เพื่อนำเอกสารเกี่ยวกับโครงการฮั้วประมูลของกำนันนก มาพูดคุยหารือกับดีเอสไอ