เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 ก.ย. 66 ที่อาคารรัฐสภา กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-Move ยื่นหนังสือถึงที่ประชุมรัฐสภา โดยมี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 นายซูการ์โน มะทาสส.ยะลา พรรคประชาชาติ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ โฆษกพรรคประชาชาติ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ รับ โดยเรียกร้องเชิงนโยบาย 9 ด้าน โดยครอบคลุมถึงประเด็นด้านสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย, การกระจายอำนาจ, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ, การป้องกันภัยพิบัติ, การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์, สิทธิของคนไร้สถานะ และ รัฐสวัสดิการ

โดยนายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานกลุ่ม P-Move กล่าวว่า จากกการติดตามคำแถลงนโยบายรัฐบาลซึ่งนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน และพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ พบว่า มีหลายนโยบายที่ไม่สอดคล้องข้อเสนอของภาคประชาชน และอาจสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน มีบางนโยบายเอื้อประโยชนต่อกลุ่มทุนและชนชั้นนำ อาทิ นโยบายการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนด อันอาจจะขัดต่อหลักเจตนารมณ์การปฏิรูปที่ดินที่เกิดจากการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และอาจเกิดผลกระทบทำให้การกระจุกตัวของที่ดินอยู่ที่มือนายทุนอย่างหนัก รวมถึงนโยบายการฟอกเขียวทุนอุตสาหกรรมม โดยการสนับสนุนคาร์บอนเครดิต และสานต่อนโยบายเศรษฐกิจชีวิตภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่ไม่ได้ช่วยแก้โลกร้อน และรวมถึงนโยบายด้านรัฐสวัสดิการที่อาจไม่เป็นไปอย่างถ้วนหน้าตามที่ภาคประชาชนเรียกร้อง

“เรายังข้อกังวลต่อท่าทีของคณะรัฐบาลชุดนี้ที่ยังไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมที่ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทุกหมวด ทุกมาตรา โดย สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด” จำนงค์กล่าว 

ทั้งนี้ กลุ่ม P-Move จึงเรียกร้องข้อเสนอเชิงโยบาย 9 ด้าน เพื่อประกอบการบริหารราชแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดังต่อไปนี้

1.ด้านสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย โดยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่มีบทบัญญัติผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในด้านต่างๆ เช่น นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก สส., สว. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน, ที่มาของประธานศาลฎีกาต้องยึดโยงกับประชาชนตามกลไกของระบบรัฐสภา

2.ด้านการกระจายอำนาจ โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม 

3.นโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง โดยให้มีการแต่งตั้งกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิชุมชน, สิทธิมนุษยชน หรือคดีกลั่นแกล้ง และคดีฟ้องปิดปากประชาชน โดยเบื้องต้นให้เร่งออก “กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. ...” 

4.นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า(เก็บตามมูลค่าและขนาดการถือครองอย่างแท้จริง), พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน,พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร,พ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อป้องกันมิให้ที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรถูกนำไปดำเนินการใช้ประโยชน์และเปลี่ยนแปลงผิดประเภท

5.นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดย ยุตอ หรือยกเลิกนโยบายและกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

6.นโยบายด้านการป้องกันภัยพิบัติ  โดยจัดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุและการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ

7.นโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ โดยให้มีคณะกรรมการอำนวยการด้านแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ชาวเล ตามที่มีมติ ครม.รับรอง สามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์ประกอบจากภาคประชาสังคมและชุมชนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้มีหน้าที่ในการร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา นโยบายต่อคณะกรรมการระดับชาติในการติดตามการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์  

8.นโยบายสิทธิของคนไร้สถานะ โดยแก้ปัญหาด้านสถานะและสิทธิบุคคล ของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องมายาวนานเป็นการเร่งด่วนภายใน ๓ ปี  

9.ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยนำชุดข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ไปปรับใช้เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ