เคาะเวลาแล้ว! แถลงนโยบาย 11-12 ก.ย.นี้ รวม 30 ชั่วโมง ย้ำ ก้าวไกล ยันอภิปรายในกรอบไม่ใช่ซักฟอก มอง หากม็อบบุก ไม่เกิดประโยชน์ อนุทิน-3รมช. คิกออฟทำงานวันแรก มท.1ลั่นยุคนี้ ต้องไร้วิ่งซื้อขายตำแหน่ง ขอ แรง ปลัดมหาดไทย-ผู้ว่าฯ ช่วยหนุนนโยบาย กระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่น กระตุ้น ศก.ในประเทศ ส่วน บิ๊กจิ๋ว เชื่อมือ  สุทิน คุมกลาโหม พร้อมชู ทหารพรานชดเชยทหารเกณฑ์

     เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 7 ก.ย. 66 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร เป็นประธานการประชุม และมีตัวแทนจากวุฒิสภา (สว.) สส. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ นายสมคิด เชื้อคง ตัวแทน ครม. นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทองพรรคภูมิใจไทย ตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ นายประมวล พงษ์ถาวราเดชสส.จ.ประจวบคีรีขันธ์ และประธานสส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนสว. นายมหรรณพ เดชพิทักษ์ สว. เป็นต้น เพื่อวางกรอบเวลา และแบ่งสัดส่วนเวลาของแต่ละฝ่าย ในการอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยใช้เวลาการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที 

     จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นผ่อนปรนไปมา เพื่อให้การประชุมเรียบร้อย โดยการประชุมเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11-12 ก.ย.นี้ จะใช้เวลา 2 วัน รวมทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น ประธานรัฐสภา 1 ชั่วโมง ฝ่ายครม.แถลงและชี้แจง 5 ชั่วโมง ฝ่าย สว. 5 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง ทั้งนี้ คิดว่าคงเพียงพอในการที่ทุกฝ่ายจะปรับเวลาที่ชัดเจนให้ตามจำนวนคน คาดว่าคงไม่เกินในเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้การประชุมจบด้วยดี ไม่มีใครไม่ยอม แม้ทุกฝ่ายจะอยากได้เวลา แต่เมื่อทราบข้อจำกัดของเวลา และความสนใจของพี่น้องประชาชนแล้ว จึงตกลงกันเช่นนี้ 

     นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คาดว่าในวันแรกอาจจะเลิกประชุมดึก แต่คงไม่เกินเที่ยงคืน และวันที่สองคงไม่เกิน 23.00 น. แม้บางฝ่ายจะบอกว่าไม่อยากให้เกิน 21.00 น. แต่เพื่อให้การอภิปรายในวันถัดมามีคุณภาพมากขึ้นและอยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน รวมถึงครม. แจ้งว่าในวันที่ 13 ก.ย. 66 จะมีการประชุมครม. ทุกฝ่ายจึงบอกว่าจะกลับไปเตรียมทั้งตัวบุคคล และเนื้อหาสาระให้ดี เพื่อให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

     เมื่อถามว่า อยากฝากอะไรถึงฝ่ายค้านหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายค้านอยากใช้เวทีนี้ในการซักฟอกรัฐบาล นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านยืนยันเองว่า จะอยู่ในกรอบของการอภิปรายเรื่องนโยบาย และความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามนโยบายนั้น แต่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนคิดว่าฝ่ายค้านตอนนี้เป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ มีข้อมูลพร้อมที่จะอภิปรายในกรอบกฎหมาย และข้อบังคับ รวมถึงความสนใจของพี่น้องประชาชน

     เมื่อถามว่า การรักษาความปลอดภัยในวันนั้น จะเป็นไปตามกฎระเบียบ หรือต้องมีการรักษาความปลอดภัยเข้มที่เป็นพิเศษหรือไม่ เนื่องจากอาจจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาในบางวัน นายวันมูหะมัดนอ์ กล่าวว่า คิดว่าคงไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุม หรือมีการกดดันสภา เพราะพี่น้องประชาชนติดตามการประชุมตลอดเวลาผ่านการถ่อยสดในหลายช่องทาง เนื่องจากทุกฝ่ายคงอยากให้การอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีคุณภาพ ไม่มีแรงกดดันใดๆ นอกจากเนื้อหาที่จะพูดอย่างเต็มที่ หากมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาที่สภาคงไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ได้หมายความว่าสภาจะรังเกียจ การมีผู้ชุมนุมหรือผู้สนับสนุนก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ช่วงอภิปรายต้องใช้เวลา หากมาคงเสียทั้งค่าใช้จ่าย และเวลามาก

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ได้เดินทางถึงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในเวลา 8.09 น. จากนั้นกราบสักการะพระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเข้ากราบสักการะสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จากนั้นเข้ากราบถวายสักการะสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยมีรมช.มหาดไทย ทั้ง 3 คน ได้แก่ นายทรงศักดิ์ ทองศรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ เข้าร่วมด้วย ในโอกาสเข้าทำงานที่กระทรวงมหาดไทยเป็นวันแรก 
   
  ทั้งนี้นายอนุทิน กล่าวว่ายุคที่ผมอยู่ที่นี่จะไม่มีคำว่าท่าน ไม่มีคำว่านาย มีแต่พี่น้องในหมู่ข้าราชการ ทำงาน ด้วยเป้าหมายเดียวกัน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข อย่างเดียวไม่พอประชาชนต้องอุดมสมบูรณ์พูนสุขกันถ้วนหน้าทุกคน และ นายกฯจะมีนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต คนละ10,000บาท ให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย ล้วนเป็นเงินที่จะต้องใช้ภายในประเทศ ไม่ใช่นำไปใช้ที่ต่างประเทศ พวกเราทุกคนต้องขอความร่วมมือปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในการจัดเตรียม เราต้องพัฒนาฝีมือ สินค้าที่เป็นของคนไทย เพื่อให้เงินหมุนเวียนในประเทศเป็นเม็ดเงินมหาศาล ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ทุกคนได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้
   
  เมื่อถามว่านายกฯออกมาระบุจะไม่มีการซื้อขายตำแหน่งเด็ดขาด ทางกระทรวงมหาดไทยก็จะไม่มีเรื่องนี้เด็ดขาดใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องไม่มี ไม่ใช่จะไม่มี เรื่องนี้นายกฯเน้นย้ำในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดพิเศษ วานนี้(6ก.ย.) ซึ่งตรงกับเจตนารมย์ของรัฐมนตรีทุกคน เมื่อถามว่า นายชวรัตน์ บิดา ให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง นายอนุทิน กล่าวว่า ตนจะไปกราบท่าน 
  
   ที่บ้านพักย่านเกษตร-นวมินทร์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เดินทางเข้าพบว่า การที่พลเรือนมาคุมกองทัพเป็นสิ่งที่ดี จะได้รู้ได้เห็นว่า ในฐานะที่เป็นพลเรือน   ที่ดี เมื่อมารับผิดชอบในเรื่องความมั่นคง ก็จะเห็นว่าต้องปรับปรุงแก้ไขบ้าง 
    
 ปัญหาในกองทัพมีมาก เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนคือเรื่องคน ต้องมีการพัฒนายกระดับให้ทัดเทียม และ เป็นที่ยำเกรงของต่างประเทศ รวมถึงพัฒนายุทโธปกรณ์ แต่เรื่องที่สามคือปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้
   
  พล.อ.ชวลิต กล่าวถึงแนวคิดยกเลิกเกณฑ์ทหารและปรับมาเป็นการสมัครใจว่า ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นถึงปัญหา เพราะในหนึ่งปีมีการเกณฑ์ทหารครั้งเดียว โดยการระดมชายไทยทั่วประเทศมาเกณฑ์ทหาร และที่ผ่านมาเราก็แก้ไขกันมาตลอด จนมาถึงปัจจุบันนี้ที่ไม่อยากให้มีการเกณฑ์ทหาร กองทัพก็มีทหารพราน เปรียบเหมือนทหารบ้าน ที่มาจากคนในพื้นที่ มีความเชี่ยวชาญ และถนัด รวมทั้งรู้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งใช้จำนวนคนไม่มากก็สามารถทำงานแก้ปัญหาได้ แต่หากเป็นทหารจากพื้นที่อื่นต้องใช้เวลาปรับตัวและเรียนรู้มากกว่า ดังนั้นจึงสอดคล้อง การทำงานในพื้นที่ ไม่จำเป็นต้อง ใช้ทหารจากพื้นที่อื่นมาทำงาน