“ชวน” แนะ “เศรษฐา”  ไม่โกงจะได้แคล้วคลาดคดี รอดพ้นกลุ่มโคตรโกง ยกบทเรียนสอนเห็นแก่ลูกพี่ติดคุกภายหลัง เล่าเหตุฝ่ายบริหารสมัยนั้นสั่งจัดการคนร้าย กลายเป็นเหตุรุนแรง3จ.ชายแดนถึงปัจจุบัน "สส.เพื่อไทย" ลุกโต้ ชี้พูดถึงความหลังมากไป

วันที่ 12 ก.ย.2566  ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา วันที่ 2 ต่อมาเมื่อเวลา 17.90น.นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า สาเหตุที่ตนไม่เห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น ไม่ใช่เพราะขาดคุณสมบัติ แต่เนื่องจากนายเศรษฐา มาจากพรรคการเมืองที่เลือกปฏิบัติกับประชาชน เมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทยเคยมีนโยบายว่าพัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกเรา ซึ่งตนและเพื่อนเคยรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านเลือก อยู่ๆมาวันหนึ่งจะให้ตนเลือกคนที่มาจากพรรคนี้เป็นรัฐบาล เท่ากับหักหลังชาวบ้าน

นายกฯคนที่30 คือนายกฯที่ถูกตรวจสอบเข้มข้นที่สุด นำประวัติการทำธุรกิจมาเปิดเผย นายเศรษฐา คุณสมบติไม่ด้อยกว่าคนอื่นๆ แต่ข้อเสนอแนะที่ดีคืออย่าล้ำเส้น อย่าต้องหนีออกต่างประเทศ อย่าทำอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว การที่ต้องตรวจสอบความเป็นไปได้ของนโยบายอันเกิดจากผู้ปฏิบัตินั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่จะแนะนำนายกฯคือ เราจะหนีชะตากรรมเรื่องคดี คือต้องไม่โกง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการอภิปรายนั้น นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย ประท้วงว่าขอให้พูดเฉพาะเรื่องนโยบาย ไม่อยากให้พูดเรื่องความหลัง อย่าพูดความหลังมาก ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น วินิจฉัยว่านายชวนยังไม่ได้ทำผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 


 

จากนั้น นายชวน อภิปรายต่อว่า ข้อวิตกกังวลนักธุรกิจมาทำการเมืองจะมีปัญหาหรือไม่ นักธุรกิจมาทำการเมืองไม่แปลก แต่ขอว่าอย่าทำธุรกิจเป็นการเมือง อย่านำธุรกิจส่วนตัว ส่วนพวกพ้องมาทำการเมือง ถ้าทำวิธีนี้ไม่เพียงกระทบส่วนรวมบ้านเมืองเท่านั้น เพื่อนตนที่ติดคุก 10 คน เพราะทำธุรกิจเป็นการเมือง หลายคนเป็นคนดีแต่เพราะเกรงใจลูกพี่ก็มีอันเป็นไปอย่างน่าเสียดาย เป็นโอกาสอันดีที่ได้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ อย่างน้อยก็คิดว่ามีความเข้าใจเรื่องบาปบุญ คุณโทษ มาจากครอบครัวที่ดี คงรู้ว่าคนที่ถูกเอาเปรียบ เลือกปฏิบัติ นอกจากขัดต่อระบอบประชาธิปไตยแล้ว เราไม่ควรมองข้ามหรือละเลย  จึงขอให้นายกฯทบทวนชดเชยกับพื้นที่ที่โดนเลือกปฏิบัติ ด้วยการทำถนนให้แก่พื้นที่ภาคใต้ด้วย

นายชวน กล่าวต่อว่า ตัวเลข 7520 คือชีวิตที่เสียไปในภาคใต้ในเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างปี 47 -66 สถานการณ์ใน3จังหวัดมีนโยบายอย่างไร ซึ่งในเอกสารแถลงนโยบายรัฐบาล 14 หน้าไม่มีเขียนไว้ คงจะอยู่ในภาคผนวก เป็นครั้งแรก นับแต่ปี 48 เป็นต้นมา นโยบายความสงบไม่มีการพูดถึง แม้นายกฯจะกล่าวถึงในวันโปรดเกล้าฯคณะรัฐมนตรี(ครม.)เล็กน้อย แต่ถ้าเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทำไมไม่เขียนไว้ใน 14 หน้า 

“วันที่ 8 เม.ย. 44 เป็นจุดเริ่มต้นนโยบายแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ นโยบายละเมิดหลักนิติธรรม คือ คนร้ายไม่เกิน 20 คน จัดการเดือนละ 10 คน สองเดือนก็หมด คำว่าจัดการท่านเข้าใจดี วันหนึ่งตนไปงาน นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สว. ไปตลาดโต้รุ่ง ได้ยินว่าเกิดเหตุยิงกัน ซึ่งเมื่อไปถึงพบ 3ศพ ที่สุดกลุ่มอาร์เคเคเกิดขึ้น จนถึง4ม.ค. 47 เป็นเวลาเกือบ 3 ปี เกิดปล้นอาวุธสงครามในค่ายทหาร และอาวุธเหล่านั้นคนร้ายใช้ทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ จำนวน 7520 คน”นายชวน กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประท้วงนายชวน เพราะพูดจาส่อเสียด และไม่อยู่ในประเด็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกว่า 20 ปี พูดซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ วินิจฉัยขอให้นายชวนพูดอยู่ในเนื้อหา เพราะเรื่องที่พูดอยู่นั้นลึกเกินไปกว่านโยบายรัฐบาล 

นายชวน กล่าวตอนท้ายว่า เป็นความจริงที่ต้องยอมรับถ้าจะแก้ไขปัญหา การที่ฝ่ายบริหารตัดสินเองแทนศาลให้จัดการเดือนละ10 ราย ซึ่งผลพวงปรากฏถึงทุกวันนี้ เชื่อว่านายกฯจะแก้ไขปัญหานี้ และคำแนะนำที่ดีที่สุด คือ พระบรมราโชวาทในหลวง ทรงแนะนำว่าเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เราจะใช้วิธีแก้แค้นนอกกฎหมาย อาจสะใจคนบางกลุ่มแต่เป็นที่มาของปัญหา ดังนั้น เราจำเป็นต้องยึดว่า พุทธทำผิด ตำรวจอัยการฟ้อง ศาลตัดสิน เช่นเดียวกับมุสลิมทำผิด ตำรวจอัยการฟ้อง ศาลตัดสิน อย่าให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้ตัดสินเองว่าตายเดือนละ 10 คน อันเป็นที่มาของการละเมิดหลักนิติธรรม

“หากนายกฯหากทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ท่านนายกฯจะปลอดภัย เมื่อครบ4ปีหรือไม่ครบก็ตาม โดยไม่ต้องติดคุกอันเกิดจากการทุจริต ไม่ไปอยู่ในกลุ่มโคตรโกง โกงทั้งโคตร” นายชวน กล่าว