“นายกฯ” เผย พักหนี้เกษตรกรทั้งต้นทั้งดอกปลายปีนี้ รับปาก ช่วยดูเรื่องรายได้ข้าราชการ-ครู ให้เหมาะสมกับวินัยการเงินการคลัง "จุลพันธ์" รับคลังยังทำสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้ เหตุงบประมาณไม่เพียงพอ บอกต้องตื่นจากฝันต้องอยู่กับความจริง ยันเดินหน้าสวัสดิการแห่งรัฐตามความเหมาะสม "พีระพันธุ์" ขอสมาชิกมั่นใจรัฐบาลให้ความสำคัญค่าพลังงานมากกว่าการทำงานธุรกิจพลังงาน เตรียมส่งเสริมพลังงานทางเลือกให้คนพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงได้
วันที่ 12 ก.ย.2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ต่อมาเวลา 13.14 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง นายกฯ ชี้แจงย้ำถึงการพักหนี้เกษตรกรว่า รัฐบาลตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของประชาชนทุกคน นอกเหนือจากปากท้องแล้ว เรื่องการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกจะมีเรื่องการพักหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเป็นเรื่องเร่งด่วนจะทำให้ได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเป็นการพักหนี้ทั้งต้นและดอก พร้อมแผนสร้างรายได้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างปลูกและผลิตตามที่ตลาดโลกต้องการ และการพักหนี้ทั้งต้นทั้งดอกนี้จะทำให้เกษตรกรมีแรงทำมาหากินสร้างรายได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และไม่เสียวินัยการเงินการคลัง เช่น การใช้ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ดิน ลดจำนวนปุ๋ยเคมีและเพิ่มผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ ส่วนเรื่องการใช้ดาต้าเข้ามาสนับสนุนการเพาะปลูกนั้น เราจำเป็นต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการให้ความรู้เกษตรกรทั่วไป
“สำหรับประเด็นเรื่องหมูเถื่อนที่เข้ามานั้น ตนได้รับฟังปัญหานี้มาก่อนแล้ว เป็นปัญหาใหญ่ที่ลามไปทั่วประเทศ จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อหาแผนสั่งการต่อไป ส่วนเรื่องของรายได้ครูและข้าราชการนั้นถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการดูแลประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ และรับปากว่าจะไปดูแลเรื่องรายได้ให้เหมาะสมกับงบประมาณโดยรักษาไว้ซึ่งวินัยการเงินการคลัง” นายกฯ กล่าว
ต่อมาเวลา 13.20 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า การแก้ปัญหาการพักหนี้เกษตรกร สมาชิกหลายท่านอภิปรายให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตนในฐานะรมช.คลัง รวมถึงท่านนายกฯ เน้นย้ำการเดินหน้าเรื่องการพักหนี้ เราเตรียมการล่วงหน้าไปมากแล้ว โดยเชื่อมั่นว่าภายในไตรมาสนี้จะเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องการพักหนี้เกษตรได้ การพักหนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต่อชีวิตให้พี่น้องภาคการเกตร หลังจากนั้นรัฐบาลจะมีโครงการอีกจำนวนมาก พร้อมกับวางเป้าเพิ่มมูลค่าทางเกษตรภายใน 4 ปี เพื่อให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้อย่างแท้จริง รวมถึงจะมีการเจรจาการค้าเอฟทีเอกับหลายๆประเทศเพื่อเปิดประตูการค้า เพราะรัฐบาลมองสถานการณ์เอญนีโญที่จะเกิดขึ้นเป็นโอกาส เพราะจะเกิดภาวะขาดแคลนด้านอาหารจำนวนมากในโลก ถ้าประเทศไทยสร้างความแข็งแกร่งด้านการเกษตรได้ เราจะกลับมาเป็นครัวโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการพูดถึงสวัสดิการถ้วนหน้า เราต้องตื่นจากความฝันและอยู่กับความเป็นจริง เนื่องจากจีดีพีของไทยต่ำกว่าประเทศที่ทำสวัสดิการถ้วนหน้ามาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่การจัดเก็บภาษี ยังไม่สามารถอยู่ในจุดที่เราจะทำสวัสดิการถ้วนหน้าได้จริงๆ เราเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลกันมาช่วงหนึ่ง ทราบดีว่าข้อจำกัดคืออะไร ตนอยากถามกลับว่าหากท่านต้องการให้ทำสวัสดิการถ้วนหน้า ท่านคาดว่าจะเอางบประมาณมาจากไหน หรือท่านจะเอาเงินมาจากการขายทรัพย์สินของรัฐมาทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือจะขายกองทุน กู้แบงก์ แต่สำหรับรัฐบาลนี้ เราตระหนักเรื่องวินัยการเงิน การคลัง ฉะนั้น เราคงจะทำแบบนั้นไม่ได้
"ด้วยภาระของรัฐบาลปัจจุบันหากทำสวัสดิการถ้วนหน้าจะเกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีงบประมาณมากเพียงพอ ที่จะรองรับการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า สิ่งสำคัญที่ทุกท่านทราบคือรัฐจะต้องจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจเดินหน้าสวัสดิการโดยรัฐให้กับประชาชนในระดับที่เหมาะสม และจะทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแน่นอน"รมช. คลัง กล่าว
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงาน ชี้แจงว่า ในความเป็นจริง ปัญหาเรื่องพลังงานไม่ได้เป็นแค่เรื่องการดำรงชีพหรือธุรกิจ แต่เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศและรัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องความมั่นคงของการดำรงชีพด้วย แม้จะไม่ใช่ปัจจัย 4 แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตประชาชน เรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานหรือการทำให้มีพลังงานที่เพียงพอในราคาที่ถูกต้อง เป็นธรรม และเหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและตนให้ความสำคัญ และเป็นห่วงอย่างมาก ฉะนั้น เรื่องราคาพลังงาน รัฐบาลจะเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยการแก้ไขปัญหาระยะสั้น จะต้องเร่งแก้ไขทันทีเท่าที่สามารถทำได้ภายใต้โครงสร้างปัจจุบัน แต่ในระยะยาวเราก็ต้องดูเรื่องราคาพลังงานเหล่านี้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าว่าจะปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้เกิดโครงสร้างระยะยาวที่สามารถทำให้เกิดการให้พลังงานที่เพียงพอ ในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสมกับประชาชน
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของโครงสร้างเหล่านี้จะมีทั้งโครงสร้างด้านการผลิต โครงสร้างด้านการกำหนดราคาที่มาของวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตทั้งพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องดูความเหมาะสมและให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งราคาและการให้บริการ สำหรับปัญหาการกำกับดูแลของภาครัฐ ตนได้ดูกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือการที่ดำเนินการอยู่หลายส่วนในขณะนี้ คิดว่าคงต้องนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การกำกับดูแลเรื่องพลังงานดีขึ้น ส่วนความเป็นห่วงเรื่องการให้บริการที่ไม่ทั่วถึง
โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ฉะนั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าที่เป็นปัญหามากในต่างจังหวัด เห็นว่าควรต้องส่งเสริมเรื่องพลังงานทางเลือกไม่ว่าจะเป็นเรื่องโซลาร์ พลังงานน้ำที่สามารถทำได้ ซึ่งใช้ผลิตพลังงานอยู่แล้วเพียงแค่อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร รัฐบาลนี้จะเข้าไปดูแลให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงพลังงานได้มากขึ้น
"เราจะพยายามมุ่งเน้นเรื่องของการพลังงานไฟฟ้ามากระตุ้นเศรษฐกิจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องการผลิตรถพลังงานไฟฟ้า การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวีของรถยนต์ ซึ่งมีผลกระทบด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า ในขณะที่ประหยัดน้ำมันแต่มากินไฟมากขึ้น โดยเราต้องดูเรื่องไฟฟ้าเสถียรเพื่อจะให้การให้บริการเหล่านี้และทำให้การที่จะผลิตพลังงานนี้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ขอให้สมาชิกมั่นใจได้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนมากกว่าการทำธุรกิจด้านพลังงาน เราจะทำให้พี่น้องประชาชนเข้าให้การให้บริการด้านพลังงานในราคาที่เหมาะสม และจะวางโครงสร้างในระยะยาวเพื่อให้เกิดความมั่นคงในด้านพลังงาน" นายพีระพันธุ์ กล่าว