เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 31 ส.ค. 66 ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์  เทพสุทิน สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 160 (4) แห่งรัฐธรรมนูญว่า มีบุคคลภายนอกร้องเรียนเรื่องของตนเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมาย และระเบียบแบบแผนของทางราชการ ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งเมื่อตนได้ดูในรายละเอียดมีอยู่ 2-3 ข้อ ประกอบด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวหรือลดโทษให้แก่ผู้ต้องขังในกรณีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจากสถานการณ์โควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลอดจนเหตุการณ์แหกคุกและทำลายทรัพย์สินราชการที่จ.บุรีรัมย์ รวมถึงเหตุการณ์ในจ.กระบี่ที่มีความต่อเนื่องกันจะเห็นได้ว่ามีความรุนแรง 

โดยการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจนั้น ไม่สามารถกระทำได้โดยเฉพาะเจาะจง ผู้ต้องขังทั้งหมดควรได้รับสิทธิ์ แต่อำนาจในการขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ต้องเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการส่วนอื่นๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางกฎหมาย โดยมีอดีตอัยการสูงสุดและผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน พิจารณาในข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่าไม่พบความผิดอะไรทั้งสิ้นในการใช้กฎหมายของตนและผู้เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังได้มีการประมาตรการหรือมาตรฐานในการขอพระราชทานอภัยโทษตามหลังมาอีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จบสิ้นแล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยว่า ได้มีการถอนหนังสือร้องเรียนดังกล่าวออกจาก ป.ป.ช. ไปในวันที่ 3 ก.พ. 66 แล้ว โดยที่ตนไม่ได้รับการประสานให้ไปชี้แจง กับ ป.ป.ช. แต่อย่างใด 

ขณะที่ประเด็นที่ตนใช้ระเบียบของกรมบัญชีกลาง ในการจัดซื้อต่างๆ ก็ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่ได้มีการขัดต่อระเบียบของทางราชการแต่อย่างใด และได้มีการทำหนังสือชี้แจง ส่งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้รับหนังสือในช่วงบ่ายวันนี้ 

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า การร้องเรียนต่างๆ นี้ทำได้ง่ายเหลือเกิน ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายที่ตนพยายามผลักดันเมื่อครั้งที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คือ Law of efficiency เพื่อเป็นกลไกกำหนดกฎเกณฑ์ในการร้องเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาทำเรื่องดีๆ ให้เสียไป