เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 สิงหาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางไปยื่นคำร้องกรณี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งมีการเปิดเผยว่า นำงบรับแขกไปใช้เลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านรัฐสภา
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางมายื่นคำร้องกรณีท่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้มีน้ำจิตน้ำใจเลี้ยงหมูกระทะพนักงาน แม่บ้านสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา แล้วท่านเองให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเงินที่ทางสำนักงานจัดไว้ให้ เป็นค่าใช้จ่ายในการรับรอง ของท่านรองประธานสภา จำนวน 2 ล้านบาท จริงๆในปีงบประมาณที่ผ่านมาเขาจัดเงินให้ประธานสภาผู้แทนและรองประธานทั้ง 2 คน รวมทั้งสิ้น 8 ล้านบาท แยกเป็นประธานสภา 4 ล้านบาท รองประธาน 2 คน คนละ 2 ล้านบาท แต่เงินดังกล่าววัตถุประสงค์ตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินค่าใช้จ่ายในการรับรองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ปี 2519 ซึ่งอนุโลมมาใช้กับท่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นค่ารับรองที่ใช้ในกิจการเรื่องการเมือง และเรื่อง เกียรติยศของประธานสภาและรองประธานสภาเท่านั้น
การที่ท่านรองประธานสภาเอาเงินมาเป็นการใช้จ่ายในการจัดเลี้ยงพนักงานแม่บ้านของรัฐสภา ต้องเข้าใจว่าพนักงานแม่บ้านเรานี้เป็นพนักงานที่เป็นลูกจ้าง outsource จากบริษัทต้นสังกัดอีกทีหนึ่ง ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ราชการแต่อย่างใด การนำเงินดังกล่าวมาใช้ซึ่งเป็นการเข้าข่ายผิดวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเงิน คนทราบว่ามีหนังสือจากกรมบัญชีกลางมาถึงรัฐสภา ว่าประธานสภารวมทั้งรองประธานสภามีการใช้เงินค่ารับรองมากน้อยเพียงใด เพียงแต่หนังสือฉบับนี้กำลังขอไปยังทางงบบัญชีกลาง แต่เบื้องต้นได้พิจารณาแล้วว่าเป็นการใช้เงินลักษณะที่ผิดประเภท ไม่น่าจะถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวรวมถึงพรรคการเมือง และพรรคท่านรองประธาน โดยมีคุณเจี๊ยบเป็นผู้ประสานงานดำเนินการในครั้งนี้ ซึ่งคุณเจี๊ยบไม่ได้เป็นส.ส. เพียงแค่เป็นคณะผู้บริหารของพรรคก้าวไกลเท่านั้น และรองประธานสภา ท่านเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล
ดังนั้นจึงอาจเข้าใจว่าเป็นการใช้เงินแผ่นดินหรือใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ที่พรรคการเมืองที่ตนสังกัด ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นขัดกันเรื่องผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ได้ระบุไว้ ซึ่งการขัดเรื่องผลประโยชน์ โดยกฎหมายเป็นหน้าที่ของป.ป.ช. ต้องไต่สวนและวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความคิดเรื่องจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ โดยเฉพาะการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเองมาเหนือกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวมที่กำหนดไว้ มาตรฐานจริยธรรมที่รัฐธรรมนูญเป็นคนกำหนด วันนี้ จึงมาร้องป.ป.ช.ให้ไต่สวน ในเรื่องนี้ หลายคนอาจจะพูดว่าเข้าข่าย กฎหมายประมวล อาญามาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 152 รวมทั้งการละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา 157 ด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ที่จะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดและวินิจฉัย ว่าเป็นไปตามคำร้องหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามคำร้องให้ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาเพื่อลงโทษ เฉกเช่นเดียวกับส.ส.รายอื่น ที่มีการกระทำผิด ที่ผ่านมา