ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันมีผลกระทบด้านสภาวะแวดล้อมที่มีผลโดยตรงต่อเกษตรกรไทย โดยเฉพาะชาวนาไทยต้องประสบกับปัญหาในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก ได้แก่ ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น การประกอบอาชีพมีความเสี่ยงสูง ทั้งความเสี่ยงในด้านราคาผลผลิตที่แปรปรวนตลอดเวลา ความ เสี่ยงในด้านภัยธรรมชาติและความแปรปรวนของสภาพดิน ฟ้า อากาศ ทำให้รายได้ไม่แน่นอน และมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ต้นทุนการผลิต สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจึงจำเป็นที่จะ ต้องปรับตัวในการประกอบอาชีพ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าว ทางศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนในการลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก และเป็นวิธีการที่พึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง
นางวรรณลภัทร จันลาภา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี เปิดเผยว่า ทางศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้เกษตรกรได้ทราบถึงปริมาณปุ๋ยที่พืชต้องการ เนื่องจากในการวิเคราะห์ดิน ทำให้การใส่ปุ๋ยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรใส่ได้ตรงชนิดตามอัตราที่ข้าวต้องการ รวมถึงถูกเวลาในการเจริญเติบโตของข้าวอีกด้วย จึงทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 27-29 เปอร์เซ็นต์ และมีการนำเทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ไปปรับใช้กับพื้นที่นาของเกษตรกรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และต่อยอดเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร และยังทำให้เกิดความแม่นยำ ทั่วถึงทุกพื้นที่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย รวมไปถึงได้มีการดูแล ส่งเสริมสนับสนุนการปลูกข้าวแบบลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการทำนาโดยควบคุมระดับน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขัง สลับกับช่วงน้ำแห้ง สลับกันไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้รากและลำต้นของต้นข้าวแข็งแรงขึ้น เนื่องจากดินและรากได้รับอากาศ พอได้รับอากาศเสร็จ ก็สามารถดูดปุ๋ยได้ดีขึ้น ทำให้ลดการใช้ปุ๋ย เมื่อดูดอาหารได้ดีขึ้น ต้นข้าวแข็งแรง ลดการระบาดของโรค
ด้านนายปรีชา เกิดศิริ ประธานนาแปลงใหญ่อำเภอบางเตย จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ทางศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ได้เข้ามาส่งเสริม สนับสนุนทดลองการลดต้นทุนด้วยเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งช่วงแรกในการเตรียมพื้นที่มีการใช้เลเซอร์มาปรับหน้าดิน รู้สึกได้ว่า ช่วยในการประหยัดน้ำ ประหยัดเวลา รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเข้านาได้เป็นอย่างดี ซึ่งพื้นที่การทำนาทั้งหมด 7 ไร่ เคยใช้เวลาในการสูบน้ำเข้านาประมาณ 6 ชั่วโมง แต่พอใช้เลเซอร์ปรับหน้าดินลดเหลือเพียง 4 ชั่วโมง ลดลงไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าลดต้นทุนได้จริง และมีการผสมผสานวิธีการปลูกข้าวแบบทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สำหรับพื้นที่ตรงนี้คาดว่าจะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีได้มีการขยายผลสร้างองค์ความรู้ในการทำนาสู่ความยั่งยืน ยกระดับข้าวรักษ์โลก ให้สอดคล้องกับ BCG Model ในการกำหนดพื้นที่การปลูกข้าวของแต่ละพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคในการใช้สารชีวภัณฑ์ที่ดีต่อการทำนา รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรในนาข้าวให้เกิดประโยชน์ เช่น การอัดฟางข้าว เพื่อเป็นการลดการเผาตอซังในนาข้าวที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทำให้มีผลกระทบต่อโลกได้ เพื่อสนองตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่อยากให้การทำนาของประเทศเกิดความยั่งยืน เกษตรกรมีรายได้เพียงพอ และเกิดความปลอดภัยต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม