ข้าว เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของวิถีแห่งชีวิต และเป็นพืชเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงคนไทยทั้งชาติ เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน การทำนาได้แทรกซึมอยู่ในวิถีวัฒนธรรม ก่อให้เกิดประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์มากมาย เมล็ดข้าวนอกจากจะเป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิตแล้ว ยังมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย
กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 ตลอดระยะเวลา 18 ปี แห่งการเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลด้านการผลิตข้าว การขับเคลื่อนงานบริหารจัดการข้าวของประเทศอย่างครบวงจร ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่าย มีบทบาทสำคัญในการดูแลชาวนาจำนวนกว่า 4 ล้านครัวเรือน กว่า 16 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนมาก เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งยังส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชาวนาให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมาย ที่รัฐบาลมุ่งดำเนินการ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดี และเพิ่มเสถียรภาพให้กับประเทศ
โดยปัจจุบันมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 2 ท่าน มีแนวนโยบายที่ส่งเสริมอาชีพการทำนา โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวนาเป็นหลัก และได้มอบแนวทางมายัง นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์อธิบดีกรมการข้าว เป็นผู้ขับเคลื่อน ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกข้าวไทยที่ลดลง ต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงขึ้น ตลอดจนสถานการณ์ภัยธรรมชาติและแมลงศัตรูข้าวแต่ถึงอย่างนั้นเอง รัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว ได้ตระหนักและเข้าใจปัญหาที่พี่น้องชาวนาเผชิญอยู่ จึงมีนโยบายช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการด้านข้าว อาทิ โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 2566 ที่มุ่งเน้นให้ชาวนาเปลี่ยนมาใช้เมล็ดพันธุ์ดีในการเพาะปลูก
นอกจากนั้น ยังพัฒนาและสนับสนุนให้ “ศูนย์ข้าวชุมชน” เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาการผลิตข้าวและชาวนา ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้ใช้อย่างพอเพียงในชุมชน บูรณาการทำงานด้านข้าวครอบคลุมในทุกด้าน อีกทั้งยังได้จัดให้มีโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก BCG MODEL เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับศูนย์ข้าวชุมชน เป็นการปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกข้าว เน้นการทำนาแบบยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้ชาวนาหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ที่จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เพียงพอต่อความต้องการของต้นข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการผลิต และที่สำคัญยังถือเป็นการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปจำหน่ายต่อยอดเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง