กรมการข้าว ลุยโครงการอัตลักษณ์ข้าวพื้นถิ่น นำร่องต่อยอดข้าว GI ใน 5 จังหวัด ยกระดับสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เล็งทำ “ไลฟ์ช็อป” เพิ่มช่องทางการตลาด

นายโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า จากที่กรมการข้าว ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มชาวนาผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และกลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวคุณภาพดีที่มีการบริหารจัดการในรูปแบบเชิงอุตสาหกรรม โดยมีการพัฒนากรรมวิธีการปลูกข้าวแบบประณีต มีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตของชาวนาที่ยังสูงอยู่ สามารถผลิตข้าวได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีมีการเชื่อมโยงการตลาด รวมทั้งการพัฒนาสินค้าเกษตร และการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเป็นการสร้างมูลค่า พร้อมที่จะต่อยอดไปสู่โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” 

ทั้งนี้ กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ (ข้าว) หรือสร้างอัตลักษณ์ข้าวพื้นถิ่น เพื่อรองรับโครงการสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว หรือศูนย์ข้าวชุมชน ที่มีความเข้มแข็ง มีปัจจัยการผลิตที่รวมกันได้ หรือมีผลผลิตที่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยกลุ่มตัวเอง พัฒนาต่อยอดผลิตสินค้าข้าวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นให้ได้มาตรฐานไทย/สากล แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าสูงในอนาคต ซึ่งในปี 2567 ได้ดำเนินการ 5 กลุ่ม ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา เลย ตรัง กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี ขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างบริษัท เข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นต้นแบบ เพราะบางกลุ่มมีวัตถุดิบพร้อมแล้ว แต่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อออกจำหน่าย จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการที่ได้มาตรฐาน และได้การรับรอง เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) มาตรฐานอินทรีย์ (Organic) และมาตรฐาน อย.  

โดยมีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของ 5 จังหวัดให้เป็น OTOP ประจำท้องถิ่นได้ และอีกช่องทางที่กรมการข้าว เตรียมการรองรับช่องทางการตลาด คือ ผลิตภัณฑ์ที่เราได้พัฒนากับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ต่างจังหวัดมารวบรวมไว้ที่กรมการข้าว ทำเป็นลักษณะ “ไลฟ์ช็อป” นำข้าวพื้นเมืองแต่ละพื้นที่มาไว้ที่นี่ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งช่วยเรื่องการจำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม แต่ละกลุ่มจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความถนัด และวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น เซรั่มข้าว โจ๊ก ส่วนผสมกาแฟ สุราแช่พื้นเมือง เราก็จะจัดหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปเข้าไปช่วย คาดว่าเดือนธันวาคมนี้ จะได้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน

“อยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกร ถ้าเราผลิตข้าวขายเป็นข้าวเปลือก แน่นอนว่าจะหนี้ไม่พ้นวัฎจักรของความจน เพราะเราไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ แต่ถ้าเรารวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ข้าวได้ บริหารจัดการผลผลิตของเราหลังจากเก็บเกี่ยวได้ มูลค่าจะเพิ่มขึ้นมากหลายร้อยเท่าตัว แต่ที่สำคัญการรวมกลุ่มต้องมีความเข้มแข็ง หากเราทำคนเดียวต้องรับภาระหลายเรื่อง เช่น เครื่องจักรเครื่องกล ถ้าเป็นรายเดียวหน่วยงานรัฐไม่สามารถเข้าไปสนับสนุนได้ หากรวมกลุ่มกันได้ เราสามารถเข้าไปสนับสนุนได้เต็มที่ จึงอยากฝากพี่น้องเกษตรกรว่า เราเดินคนเดียวไม่ได้ ต้องรวมกลุ่มกัน นำวัตถุดิบที่เรามีมาสร้างมูลค่าให้เพิ่มมากขึ้น” ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กล่าว