สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดกิจกรรมสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารของเครือข่ายในยุคดิจิทัล ระดับจังหวัด สร้างการรับรู้และสร้างเครือข่ายใหม่

วันที่ 15 มิ.ย.68 ที่ห้องประชุมสีหราชบอลรูม โรงแรมสีหราช จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดกิจกรรมสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารของเครือข่ายในยุคดิจิทัล ระดับจังหวัด ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายประชาสัมพันธ์ก้าวทันสื่อใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมีนายพชรเสฏฐ์ บุญศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ เพื่อสร้างกลุ่มเครือข่ายใหม่ในกลุ่มเยาวชนและดำรงรักษาเครือข่ายเดิมให้มีความรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคดิจิทัล ตลอดจนปรับปรุงทักษะ เพิ่มทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้แก่เครือข่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการสื่อการ โดยมีนางสาวนันทนีย์ ติบใจ ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์ คณะวิทยากร และเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา

นางสาวนันทนีย์ ติบใจ  ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะเป็นหน่วยงานศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์ของรัฐ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ของรัฐ การบริหารข้อมูลข่าวสาร ผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อเทคโนโลยีอื่นๆ และเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ ให้มีทักษะด้านการประชาสัมพันธ์การรู้เท่าทันสื่อ และสามารถขยายผลการประชาสัมพันธ์ไปสู่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมาพบว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤติ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้อง สร้างภูมิรู้ และทักษะให้แก่เครือข่ายการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นการป้องกันการหลงเชื่อข่าวปลอม หรือข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือนให้แก่ประชาชน 

กรมประชาสัมพันธ์ โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์  จึงจัดกิจกรรมสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการสื่อการด้านต่าง  ๆ จากวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถในการสัมมนา อาทิ ความรู้ทั่วไปด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ยุคดิจิทัล ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ตามนโยบายรัฐบาล การบริหารข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤติ และการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อรับมือข่าวปลอม กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ และกลยุทธ์การผลิตสื่อสมัยใหม่ให้โดนใจผู้รับ และ  มีกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ส่วนราชการ สื่อมวลชน เยาวชน KOL/Influencer ผู้มีอิทธิพลทางความคิด เข้าร่วมอบรมจำนวน 80 คน