ลุ้นพรุ่งนี้! จับตา "กกต." ลงดาบ "60 สว." ปมฟอกเงิน ด้าน "ดีเอสไอ" เตรียมฟันคดีฮั้ว-ยื่นเพิกถอนสิทธิ "อนุทิน" บอกไม่เกี่ยวกับ "มหาดไทย" ปม "กกต." จ่อเรียก "60สว." ให้การ "คดีฮั้วเลือกสว." ยันมท.พร้อมให้ความร่วมมือ ส่วน “ปธ.กมธ.กาสิโน” รับระเบียบวาระหลุด จ่อเชิญ “นายกฯอิ๊งค์-รมต.” แจงสัปดาห์หน้า
จากกรณีที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีคำสั่งอนุมัติให้ดำเนินการสอบสวนในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยรับเป็น คดีพิเศษที่ 24/2568 เพื่อใช้ประกอบการไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ค.68 มีรายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ซึ่งมี ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน และมีกรรมการสืบสวนและไต่สวนที่มาจาก กกต. และดีเอสไอ รวม 7 ราย ร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.67 กระทั่งวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน การสอบสวนปากคำพยาน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวของกลุ่มคณะบุคคล , การตรวจสอบเส้นทางการเงินที่สะพัดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ตั้งแต่การเลือก สว. ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ , การกาคะแนน การนับผลคะแนนที่มีการเลือกหมายเลขเดียวกัน ซ้ำ ๆ กันหลายชุด เป็นต้น
เมื่อได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์แล้วพบการกระทำที่เข้าข่ายมีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปด้วยสุจริตหรือเที่ยงธรรม พบการกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 จึงส่งหลักฐานและข้อมูลทั้งหมดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบการพิจารณาตามกฏหมายเลือกตั้ง อาทิ การพิจารณาเพิกถอนสิทธิ สว. นั้น ล่าสุดมีเสียงลือสะพัดว่าบรรดา 138 สว. พูดกันว่ามีการเคลียร์กันแล้ว ข้างบนเคลียร์กันแล้ว หลังรู้ตัวว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะถูกเจ้าหน้าที่ กกต. เรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายเลือกตั้ง พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ที่มีเจ้าหน้าที่ กกต. และดีเอสไอ รวม 7 ราย ได้ดำเนินการเก็บพยานหลักฐานสำคัญเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการตรวจสอบเชิงลึกอย่างละเอียดรอบคอบ ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏจากคำให้การของพยานและหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.68) กกต. จะมีการทยอยเรียกแจ้งข้อกล่าวหาบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ล็อตแรกจำนวน 60 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็น สว.คนดัง ตามความผิดกฎหมายเลือกตั้ง พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย
มาตรา 32 ห้ามมิให้กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัดหรือในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการระดับจังหวัด คณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัดหรือในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการหรือปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง
มาตรา 36 ผู้สมัครอาจแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้สมัคร จะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว ต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง มาตรา 32
มาตรา 62 เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการเลือกตามมาตรา 42 วรรคสอง แล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษา ว่าผู้นั้นกระทำความผิดให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองด้วย และเมื่อศาลฎีกา มีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้คณะกรรมการสั่งลบรายชื่อผู้นั้นออกจากบัญชีสำรอง และให้นำความในมาตรา 46 วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 70 ผู้สมัครผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 36 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอน สิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี
มาตรา 77 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี (1) จัด ทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
รายงานข่าว ระบุอีกว่า ซึ่งบุคคลที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ล้วนมีพฤติการณ์และพยานหลักฐานชัดเจนว่ากระทำความผิด ไม่ได้ถูกเลือกเป็นสว.โดยสุจริตเที่ยงธรรม หรือกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ คือ มาโดยการฮั้ว ซึ่งกระบวน การหลังจากนั้น วุฒิสภาที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับ กกต. เพื่อชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เนื่องจาก กกต. เป็นระบบไต่สวน ฉะนั้น หากเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาแล้วไม่มาพบเจ้าหน้าที่ ก็ถือว่าประสงค์ไม่ให้การชี้แจง แต่จะไม่ถึงขั้นขอศาลออกหมายจับ แต่ กกต. จะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาเรื่องการทุจริตเพื่อออกใบแดง และส่งเรื่องเพิกถอนสิทธิ สว. ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อไป
รายงานข่าว ระบุด้วยว่า ส่วนกรณีที่ดีเอสไอดำเนินการเรื่องความผิดคดีอาญาอื่น คือ ฐานฟอกเงินและอั้งยี่นั้น สำนวนนี้ดีเอสไอคือหัวเรือหลัก ในการสอบสวนบุคคลที่ร่วมกระทำทุจริต รับเงิน เป็นกลุ่มโหวตเตอร์ พลีชีพ จัดฮั้ว ซึ่งเบื้องต้นมีจำนวนหลายร้อยคน ดังนั้น เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้น ดีเอสไอต้องสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ เพื่ออัยการส่งศาลอาญารัชดาภิเษก ซึ่งฐานความผิดอาญานี้ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถสู้ได้ถึง 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และศาลฎีกา
ที่กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมเรียก สมาชิกวุฒิสภา(สว.) 60 คน ให้การเพิ่มเติมคดีฮั้วการเลือก สว.ว่า ก็ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับกระทรวงมหาดไทย และตนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรกับฝั่ง สว. เพราะตนเป็น สส. ซึ่งตนไม่ได้กังวลอะไร ไม่เกี่ยวข้องกัน ต้องพยายามไม่ผูกกัน เพราะบางที่สื่อผูกเรื่องกันจนเกิดความสับสนไปหมด ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยก็จะให้ความร่วมมือในด้านการสืบสวน และสอบสวน กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในเรื่องของการสอบสวนต่าง ๆ ของส่วนราชการ ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่
เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องของกระทรวงมหาดไทย ไม่ให้ความร่วมมือ และมีการออกคำสั่งต่างๆ นายอนุทินกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ แสดงว่าผิดกฎหมาย ยืนยันว่าให้ความร่วมมือทุกกรณี หากผู้มาขอความร่วมมือ อยู่ภายใต้กฎหมายที่ระบุไว้ชัดเจนแล้ว ก็ขอให้สื่อมวลชนเสนอข่าวให้ถูกต้องด้วย อย่างวานนี้ (6พ.ค.) ก็มีความพยายามจะทำให้มีการชนกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม มันไม่มีตรงไหนที่มีความขัดแย้งกันเลย สื่อไปพาดหัวว่า รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมจะฟันผู้ว่าราชการจังหวัดอำนานเจริญ หากไปดูในข่าว หรือคลิปข่าว ก็ไม่มีคำไหนที่บอกว่าจะฟันผู้ว่าฯเลย
“การนำเสนอข่าวแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดสู่ประชาชนได้ สิ่งที่ผมยืนยันมาตลอดเวลาว่าข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องให้ความร่วมมือหากได้รับการร้องขอใดๆ มาภายใต้กฎหมาย หากไม่ให้ความร่วมมือก็ไม่ได้ เมื่อเช้านี้ผม ก็ได้ดูการนำเสนอข่าวว่ามีการปะทะกัน ชนกัน ยืนยันว่าไม่มีเลย ต่างคนต่างทำตามหน้าที่” นายอนุทิน กล่าว
ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) วุฒิสภา ที่มี นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย สว.เป็นประธานกมธ.ได้นัดประชุมเป็นนัดที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) เวลา 10.00 น.โดยมีวาระพิจารณาถึงแนวคิด และแนวทางให้มีการดำเนินการธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ในประเทศไไทย โดยเชิญ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สว.ฐานะโฆษก กมธ.ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมไม่ได้มีมติว่าในการประชุมนัดที่ 2 นั้น จะเชิญบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ในการหารือรอบที่ผ่านมา ได้กำหนดว่าจะคุยในเรื่องกรอบการทำงานทั้งหมดหลังจากที่เลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ แล้ว ส่วนที่จะเสนอให้ตั้งอนุกมธ. นั้น ต้องรอการหารือเรื่องกรอบการทำงานที่ชัดเจนให้แล้วเสร็จก่อนจะพิจารณาว่าควรมีอนุกมธ.หรือไม่ และมีกี่อนุกมธ.
“การทำงานของกมธ.เน้นการศึกษาใน 3 เรื่อง คือ หากให้มีกาสิโนแล้วประชาชนและประเทศจะได้ประโยชน์อะไรในธุรกิจดังกล่าว การเปิดสถานบันเทิงครบวงจรนั้นมีผลกระทบอะไรกับสังคมไทยบ้าง รวมถึงหากจะมีจะวางมาตรการอย่างไรเพื่อไม่ให้มีปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อสังคม” นายไชยยงค์ กล่าว
ขณะที่ นายวีระพันธ์ กล่าวถึงการนัดประชุมกมธ. เป็นนัดที่สอง ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) เวลา 10.00 น. ซึ่งตามวาระกำหนดเชิญ น.ส.แพทองธาร นายกฯ เข้าร่วมประชุม ว่า วาระการประชุมดังกล่าวไม่ทราบว่าหลุดออกไปได้อย่างไรเพราะยังไม่มีการตรวจทาน อย่างไรก็ดีในการประชุม กมธ.หารือถึงการวางกรอบการทำงานและแนวทางการพิจารณา ดังนั้นหากจะพิจารณาเชิญบุคคลภายนอกร่วมประชุม อาจจะเป็นการประชุมในวันที่ 15 พ.ค. เบื้องต้นมีแนวคิดที่จะเชิญ นายกฯ หรือ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม เพราะทราบว่าทางรัฐบาลต้องการจะชี้แจงต่อสังคมเช่นกัน ทั้งนี้ต้องขอมติจากที่ประชุมอีกครั้ง ในการประชุมกมธ. วันที่ 8 พ.ค. จะพิจารณาวางกรอบแนวทางรวมถึงการตั้งคณะอนุกมธ. รวมถึงตนจะเสนอให้ที่ประชุมอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าติดตามและรับฟังการพิจารณาของกมธ.ด้วย ทั้งนี้ต้องขอเป็นมติจากที่ประชุมอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการเสนอให้ตั้งอนุกมธ. นั้น เบื้องต้นจะพิจารณาตั้ง 2 อนุกมธ. คือ อนุกมธ.พิจารณาผลกระทบทางเศรฐกิจ และ อนุกมธ.พิจารณาผลกระทบทางสังคม