จับตาสองเรื่องร้อนในการประชุม กสทช. พุธที่ 7 พฤษภานี้ กรณีรองเลขาฯต่อสัญญาผิดกฎหมายและจดหมายคัดค้านไม่ให้พิรงรองร่วมลงมติในวาระบริษัทเครือทรู

วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ยังคมีเรื่องให้จับตามองอย่างต่อเนื่อง หลัง สส.ไอซ์ รัชนก จากพรรคประชาชนโพสต์ตั้งคำถามพร้อมชำแหละข้อมูลรัวๆ ทั้งเรื่องออฟฟิศใหม่มูลค่า 2.6 พันล้าน ของสำนักงาน กสทช. ที่ร้างก่อสร้างมากว่า 3 ปี ประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติ การฮั้วอำนาจครอบงำองค์กรระหว่างประธานกับรักษาการเลขาฯ และการไม่มีเลขาธิการตัวจริงมาเกือบ 5 ปีแล้ว

อีกเรื่องสำคัญที่ สส.รัชนก ตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในสำนักงาน กสทช. ผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว คือ การต่อสัญญาจ้างรองเลขาฯ ที่น่าจะผิดกฎหมายและกำลังมีผลเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม นี้เป็นต้นไป ที่น่าสนใจก็คือ เป็นสัญญาจ้างของ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ซึ่งโดยตำแหน่งจริงๆ เป็นรองเลขาธิการ สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร แต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรักษาการเลขาธิการ กสทช. (กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง) ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2563 แทนนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการฯ ที่ลาออกไปสมัครบอร์ด กสทช. แต่เมื่อสรรหาไม่ได้เลยผันตัวไปเล่นการเมือง 

ในแพจของ สส.ไอซ์ รัชนก ระบุว่า ตามสัญญาจ้างแล้ว นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล จะสิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 30 เมษายน 2568 แปลว่า ตามกฎหมายเมื่อถึงเวลา นายไตรรัตน์จะต้องออกจากตำแหน่ง ซึ่งการจะต่อสัญญาจ้างตำแหน่งรองเลขานั้น เลขาตัวจริงต้องเป็นผู้พิจารณาเท่านั้น หรือ ถ้าจะจ้างใครเป็น พนักงานประจำ ก็ต้องให้เลขาตัวจริงเป็นผู้พิจารณาอีกเช่นกัน

อีกทั้งได้ทราบข้อเท็จจริงจากเอกสารว่า มีรองเลขาท่านหนึ่งได้ออก “คำสั่งที่อาจจะมิชอบด้วยกฎหมาย” ให้นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำหรือก็คือจะเกษียณก็ตอนอายุ 60 ปี เพื่อที่เมื่อถึงเวลาจะได้ไม่หลุดจาก ตำแหน่งรักษาการเลขา แต่รองเลขาท่านนั้นไม่ได้มีอำนาจที่จะแต่งตั้งได้ ต่อมาเหมือนรองเลขา ท่านนั้นเพิ่งรู้สึกตัว จึงออกหนังสือ ด่วนที่สุด "ลับ" ที่ สทช. 2400/47 วันที่ 9 ตุลาคม 2567 เรื่อง ขอให้ติดตามยกเลิกคำสั่ง กสทช ที่ 1019/2567 (เลขหนังสือคำสั่งแต่งตั้งที่อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย)”

นอกเหนือไปจากการไม่มีผลทางกฎหมายเพราะผู้เซ็นได้ขอยกเลิกคำสั่งไปแล้ว ตลอดจนความไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการที่รองเลขาฯ คนหนึ่งไปออกคำสั่งที่เกินอำนาจที่สามารถทำได้ (ออกคำสั่งนอกเหนือไปจากการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ตามคำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ ๑๐๑๙/๒๕๖๗ ที่ได้รับมอบหมาย) แล้ว ยังมีข้อมูลอีกส่วนที่สส.รัชนกยังขุดไปไม่ถึง คือ ในการเข้าสู่ตำแหน่งรองเลขาฯ แบบพนักงานประจำดังกล่าว บอร์ด กสทช.ชุดก่อนยังมีมติกำหนดไว้ชัดเจนด้วยว่าจะต้องมีหลักเกณฑ์ในการประเมินที่ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการ กสทช. และเมื่อผ่านการประเมินต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช.ด้วย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.๒๕๖๕ ข้อ ๒๙ ที่การแต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช. ต้องผ่านความเห็นชอบจาก กสทช.

แต่ในกรณีนี้ เมื่อประธาน กสทช. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ถูกกรรมการทวงถามและเสนอขอให้บรรจุวาระการประชุม กสทช. เรื่อง การออกคำสั่งฯ ดังกล่าว เพื่อให้สำนักงาน กสทช.ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการในการออกคำสั่งดังกล่าวให้ กสทช. ได้ร่วมกันพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการออกคำสั่งฯ ว่าถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้องและเป็นการละเมิดอำนาจ กสทช.หรือไม่ แต่ประธาน กสทช. ไม่อนุมัติให้มีการบรรจุวาระดังกล่าว โดยชี้แจงว่าสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องแล้ว

จึงน่าสนใจยิ่งว่า ในการประชุมในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ นายไตรรัตน์จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหรือไม่ ภายใต้อำนาจทางกฎหมายอะไร และประธาน กสทช.จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไรต่อกรรมการซึ่งอาจจะไม่สบายใจที่จะต้องติดร่างแหในการทำผิดกฎหมายไปด้วย เพราะเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อยู่ที่ ปปช.

อีกประเด็นที่น่าจับตาเช่นกัน คือการที่บริษัททรูมีหนังสือมาคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต อันสืบเนื่องจากคดีที่มีการฟ้องร้องในศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบกลาง และมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้นว่ามีความผิดในฐานประพฤติมิชอบ ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์

ในกรณีนี้ มีรายงานข่าวว่าทางประธาน กสทช. ได้มีการเกษียณหนังสือฉบับดังกล่าวเข้ามาในการประชุมอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และทางประธานอนุกรรมการ คือ ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาเพราะเห็นว่ายังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ กสทช. จึงเป็นไปได้สูงว่าจะมีการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาในการประชุมกรรมการ กสทช. ครั้งต่อไปในวันพุธที่ 7 พฤษภาคมนี้

มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนต่างๆว่า คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ของ กสทช. มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การจะคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการตาม พรบ.วิธีปฏิบัติราชการปกครอง จำเป็นต้องเป็นคู่กรณีโดยตรงเท่านั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ บริษัท ทรูดิจิทัล ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และเป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัทในเครืออีกหลายบริษัทที่รับใบอนุญาตจาก กสทช. ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องพิจารณาตามเรื่องหรือวาระที่จะคัดค้านเป็นกรณีๆไป