“สยามรัฐ” ยืนหยัดบนบรรณพิภพและแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทาง ด้วยปณิธาน “นิคฺคณฺเห นิคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ” แปลว่า “พึงชมคนที่ควรชม พึงข่มคนที่ควรข่ม”…*…

วันที่ 28 มีนาคม 2568 กลายเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ที่ “ศรพระราม” จะไม่มีวันลืม เพราะตลอดชีวิตกว่า 51 ปี เพิ่งได้สัมผัสกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นครั้งแรก ขณะกำลังรับประทานอาหารกลางวันกับครอบครัวในพื้นที่จังหวัดนครปฐม จู่ ๆ ก็รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ราวกับมีแรงยกตัวและเหวี่ยงไปซ้ายขวา จนถึงขั้นรู้สึกเวียนศีรษะ...*...

แวบแรกคิดว่าอาจเป็นอาการวูบหรือความดันผิดปกติ แต่เมื่อสอบถามคนรอบข้างต่างก็รู้สึกเช่นเดียวกัน บรรยากาศในร้านเริ่มโกลาหล จึงรีบตรวจสอบข่าวจากสำนักข่าวหลักและโซเชียลมีเดีย ก็พบว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวจริง ผู้คนต่างทยอยออกจากอาคารไปอยู่ในพื้นที่โล่ง มองไปอีกฝั่งถนน เห็นป้ายปูนสูงราวตึก 3 ชั้นโอนเอน รถยนต์ที่จอดนิ่งยังขยับเคลื่อนตามแรงสั่น ...*...

นึกถึงพ่อที่อยู่สมุทรปราการ พยายามติดต่อแต่ไม่สามารถใช้งานทั้งอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ได้ ได้แต่ส่งข้อความทิ้งไว้ โชคดีที่หลังเหตุการณ์สงบจึงติดต่อกลับมาได้ พ่อเล่าว่ารับรู้แรงสั่นเช่นกัน แต่ไม่รุนแรงนัก จึงค่อยโล่งใจ...*...

แผ่นดินไหวกินเวลาราว 10 กว่านาที หลังรับประทานอาหารเสร็จ “ศรพระราม” ก็กลับไปตรวจสอบบ้าน พบว่าโครงสร้างหลักยังคงแข็งแรงดี ส่วนรอยร้าวเดิมในส่วนต่อเติมมีการขยายกว้างขึ้นเล็กน้อย ...*...

 อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สะเทือนใจที่สุดคือ อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง พังถล่มลงมาทั้งหลัง มีผู้สูญหายเกือบร้อยราย ทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งบูรณาการกำลังเข้าช่วยเหลือกู้ภัย ได้แต่ส่งแรงใจไปยังครอบครัวผู้สูญเสีย และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ หวังให้เกิดปาฏิหาริย์ พบผู้รอดชีวิตได้มากที่สุด และขออย่าให้เกิดเหตุซ้ำอีก...*...

 ล่าสุดเช้าวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 ความโกลาหลกลับมาอีกครั้ง เมื่อผู้คนในอาคารสูงหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ แตกตื่นอพยพลงจากอาคาร หลังรับรู้แรงสั่นไหวซ้ำ แม้ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร จะเพิ่งประกาศว่าความรุนแรงลดลงจากระดับ 3 เหลือระดับ 2 แต่ความกลัวในใจคนยังไม่คลาย ...*...

ขณะที่ “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูป กสทช. “ศรพระราม” เห็นด้วยในหลักการ แต่ขอแย้งในรายละเอียด สิ่งที่บางคนใน กสทช. แสดงออกด้วยอคติ จ้องจับผิดแต่นายทุนสื่อ เสมือนพยายามปั้นภาพให้กลายเป็นผู้ร้าย ซึ่งเป็นต้นตอของความคับแคบทางความคิด จนต้องฟ้องร้องกันในชั้นศาล...*...

จะดีกว่าหาก กสทช. นำเวลาไปพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ รองรับสถานการณ์จริงที่สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตล่ม ใช้งานไม่ได้ รวมถึงเร่งแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และควบคุมคอนเทนต์ขยะที่ปลูกฝังความรุนแรงและพฤติกรรมละเมิดสิทธิ์ในสังคม...*…

อย่าให้ประชาชนต้องตั้งคำถามว่า “มี กสทช.ไว้ทำไม?” ...*...

ที่มา:ศรพระราม (1/4/68)