พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 5 ราย ใต้ซากอาคารสตง.โซนดีพังถล่ม กทม.เปิดแผนเน้นนำเศษวัสดุออกจากโซน B และ C เปิดทางเข้าสู่โถงบันไดใกล้ลิฟต์ คาดมีร่างผู้เสียชีวิตเพิ่ม
เมื่อวันที่ 1 พ.ค.68 นายสุริยชัย ระวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (ผอ.สปภ.กทม.) เปิดเผยความคืบหน้าในการค้นหาผู้สูญหายและรื้อถอนซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่พังถล่มว่า ตอนนี้มีแผ่นคอนกรีตขนาดที่สมบูรณ์ถล่มลงไปซ้อนกันอยู่ 5 ชั้น โดยทรุดตัวลงไปในชั้นใต้ดิน และแผ่นที่ 5 อยู่ระดับเดียวกับพื้นดินชั้น 1 แล้ว ในการเข้าถึงพื้นที่ชั้นใต้ดิน เจ้าหน้าที่ได้เริ่มเจาะเปิดช่องในโซน B และโซน C เพื่อลงไปยังบริเวณช่องบันได โดยขณะนี้สามารถเจาะทะลุลงไปถึงช่องบันไดได้แล้ว ซึ่งอยู่ห่างจากขอบอาคารประมาณ 15 เมตร
ส่วนเมื่อคืนที่ผ่านมา ระหว่างเวลา 22.00-23.00 น. เจ้าหน้าที่ได้พบบร่างผู้สูญหาย 1 ราย และต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 03.00 น. พบเพิ่มอีก 1 ราย และเมื่อเวลา 09.00 น. ของวันนี้พบร่างผู้สูญหายอีก 3 ราย รวมทั้งหมดเป็น 5 ราย ซึ่งพบในบริเวณโซน D ทั้งหมด โดยจุดดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะพบผู้ประสบภัยจำนวนมาก เนื่องจากเป็นทิศทางหลบหนีในขณะที่เกิดการถล่ม
สำหรับพื้นที่ใต้ดินซึ่งมีระดับลึกประมาณ 3 เมตรจากชั้นพื้นดิน ขณะนี้สามารถขุดลึกลงไปได้แล้วประมาณ 15 เมตร อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานยังคงพบอุปสรรคในฝั่งโซน A เนื่องจากมีคานขนาดใหญ่ที่หักจากเสา และตกลงมาทับซ้อนกันหลายชั้น จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรหนักในการตัดและยกออก ซึ่งเมื่อวานนี้สามารถดำเนินการได้เพียงเสาเดียว
ในส่วนของโซน C และโซน D การปฏิบัติงานมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะโซน C ซึ่งยังเหลือระยะทางประมาณ 10 เมตร ก่อนจะถึงพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผู้สูญหายติดค้างอยู่ โดยพื้นที่บริเวณนี้เป็นทางเชื่อมระหว่างอาคาร และคาดว่าจะเป็นจุดที่มีผู้ประสบภัยอยู่ใกล้โถงบันไดฝั่งลิฟต์ทั้งสองฝั่ง แม้วันนี้จะตรงกับวันแรงงาน แต่เครื่องจักรภาคเอกชนยังคงเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งนี้บางเครื่องจักรยังคงมีปัญหาและต้องรอการซ่อมแซม แต่สามารถสับเปลี่ยนกำลังทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อคืนที่ผ่านมายังมีพายุฝนพัดเข้ามาในพื้นที่ แต่อาคารจอดรถที่ไม่ถล่มแต่ยังคงอยู่ในสภาพดี ไม่ได้รับผลกระทบจากพายุ และไม่มีอาการสั่นไหวตามที่มีข่าวลือแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าการสั่นสะเทือนหลักในพื้นที่ เกิดจากการใช้เครื่องจักรในการเจาะและรื้อถอน ซึ่งรุนแรงกว่าฝนที่ตกลงมา
สำหรับแผนการทำงานในวันนี้ เจ้าหน้าที่จะเน้นการนำเศษวัสดุออกจากโซน B และ C เพื่อเปิดทางเข้าสู่โถงบันไดใกล้บริเวณลิฟต์ โดยเชื่อว่าจะพบผู้ประสบภัยตกค้างอยู่ในบริเวณดังกล่าวอีกจำนวนหนึ่ง หากมองจากถนน เข้าไปยังตัวอาคาร โดยฝั่งขวาของอาคาร เป็นโซนบันไดในโซน B ขณะที่ฝั่งซ้ายอยู่ในโซน A
ทั้งนี้คาดว่า ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จะสามารถดำเนินการค้นหาและรื้อถอนซากอาคารได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยเจ้าหน้าที่จะเร่งปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ตัวอาคารมีขนาดประมาณ 40?40 เมตร และสามารถเปิดพื้นที่รื้อถอนได้เฉลี่ยวันละ 10 เมตร ซึ่งหมายความว่าจะใช้เวลาปฏิบัติงาน เฉลี่ยต่อพื้นที่ราวหนึ่งสัปดาห์จึงจะแล้วเสร็จ