ชัชชาติ เผยการรื้อซากอาคาร สตง.ถล่ม คาดค้นหาผู้สูญหายครบใน 3-4 วัน ยินดีร่วมมือหน่วยพิสูจน์หลักฐาน ย้ำหน้าที่ กทม.ค้นหาผู้ประสบภัยเป็นหลัก
เมื่อวันที่ 5 พ.ค.68 ที่กองอำนวยการร่วม ศูนย์การค้า เจเจมอลล์ เขตจตุจักร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับเหตุตึก สตง.ถล่มในเขตจตุจักรว่า ด้านการเยียวยาผู้ค้าหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม อยู่ระหว่างให้ ผอ.เขตจตุจักร รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เช่น ผลกระทบด้านการจอดรถ ซึ่งพยายามคืนพื้นที่ไปเยอะแล้ว ส่วนผลกระทบด้านอื่นต้องดูว่าอยู่ในกระบวนการเยียวยาหรือไม่ มีหลายปัจจัย ต้องแยกจำนวนให้ชัดเจน เช่น ผลกระทบจากแผ่นดินไหว หรือผลกระทบจากเศรษฐกิจ
โดยหลักการ หน้าที่ กทม.คือค้นหาผู้ประสบภัย ส่วนหน้าที่รื้อย้ายซากอาคารเป็นหน้าที่เจ้าของอาคาร ยกตัวอย่าง หากเป็นอาคารถล่มที่ไม่มีผู้เสียชีวิต กทม.จะไม่เข้ามารื้อย้ายให้ เพราะไม่ใช่อุบัติภัยที่มีผู้เสียชีวิต หน้าที่หลักของ กทม.คือ ค้นหาผู้เสียชีวิตและนำส่งคืนญาติ เพราะต้องมีคนทำ ไม่สามารถปล่อยร่างไว้ได้
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ด้านการหาหลักฐาน กทม.เคารพการทำงานกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานพิสูจน์หลักฐาน แต่ในการค้นหามีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ทุกคนมีภารกิจอื่นที่ต้องไปทำ ยิ่งใช้เวลานานไม่มีผลดีต่อการค้นหา หากการเก็บหลักฐานล่าช้าก็มีผลกระทบต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่คนอื่นที่มีภารกิจต้องไปทำต่อ อย่างไรก็ตาม ทุกส่วนให้ความร่วมมือหยุดการรื้อย้ายและค้นหาบางช่วง เพื่อให้หน่วยพิสูจน์หลักฐานเข้าไปเก็บหลักฐาน ทั้งนี้ หากค้นหาร่างครบถ้วน กทม.พร้อมคืนพื้นที่ทั้งหมดทันที เพื่อการเก็บหลักฐานอย่างเต็มที่
ส่วนหลักฐานปล่องลิฟต์ สามารถดูจากพิกัดได้ แต่ต้องดูว่า สภาพชิ้นส่วนที่มีสามารถเก็บเป็นหลักฐานได้จริงหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำชิ้นส่วนไป กทม. ยินดีช่วยทุกอย่าง อยากให้เหตุการณ์ครั้งนี้ มีการปรับปรุง และเป็นไปอย่างโปร่งใส มีข้อเท็จจริงมากที่สุด นำไปสู่การปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพราะมีผู้เสียชีวิตนับร้อยซึ่งไม่รู้เรื่องด้วย
นายชัชชาติ ระบุต่อว่า ในส่วนของเรื่องกฎหมาย เห็นด้วยว่าควรปฏิบัติตามกฏหมายอย่างถูกต้อง ในการสร้างอาคารต่าง ๆ แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้ อาคารส่วนใหญ่มั่นคงแข็งแรง มีตึกเดียวที่ถล่มลงมา สะท้อนว่ากฎหมายควบคุมอาคารไม่มีปัญหา การก่อสร้างเป็นไปด้วยดี มีมาตรฐาน อาจมีรอยแตกร้าวบ้าง สามารถซ่อมได้ สะท้อนว่าวิศวกรทำงานได้ถูกต้อง มีตึกเดียวเท่านั้นที่พัง สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่ากฎหมายควบคุมอาคารของเราเข้มแข็ง มีการปรับปรุงและออกแบบเผื่อไว้ ขณะที่เรื่องญาติผู้เสียชีวิต มีการเจรจากันตลอด โดยเจ้าหน้าที่ด้านจิตแพทย์ พยายามดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยและการเยียวยาต่าง ๆ ส่วนใหญ่ญาติผู้เสียชีวิตทำใจได้มากขึ้น แต่ต้องการข้อมูลที่ชัดเจน และนำชิ้นส่วนกลับไปทำพิธีหรือทำบุญต่าง ๆ ส่วนด้านพื้นที่ คาดว่าจะดำเนินการให้หมดภายใน 3-4 วันจากนี้
ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวแสดงถึงข้อคิดเห็น เหตุ อาคาร สตง.ถล่มว่า ขณะนี้หน้างานได้ทำการรื้อถอนซากอาคารจนถึงระดับพื้นดินแล้ว ตอนนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะเข้าถึงผนังปล่องลิฟต์ ที่ยังคงเหลือซากอยู่บางส่วนบริเวณชั้นใต้ดิน และเป็นจุดที่คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการถล่ม การพิสูจน์กำลังอัดของคอนกรีตที่ผนังปล่องลิฟต์ จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างมากในการหาสาเหตุการถล่ม
ทั้งนี้ได้เห็นภาพตัวอย่างการเก็บลูกปูนจากข่าว พบว่า เป็นการเก็บลูกปูนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว (75-100 มม.) ซึ่งเป็นก้อนลูกปูนขนาดใหญ่ และเก็บในบริเวณผนังที่มีความสมบูรณ์ ทำให้มีกระแสโต้แย้งว่าการเก็บลูกปูนดังกล่าว ครอบคลุมหรือไม่อย่างไร หรือมีการเลือกเก็บเฉพาะบางบริเวณหรือไม่นั้น ในประเด็นนี้ มีความเห็นว่า 1.การเก็บตัวอย่างลูกปูนควรต้องมีการวางแผนล่วงหน้า พร้อมๆ กับการรื้อซากตึกถล่ม เนื่องจากโครงสร้างแต่ละส่วน เช่น เสา คาน ผนัง พื้น ใช้คอนกรีตที่มีกำลังอัดไม่เท่ากัน ควรวางแผนว่า วันไหนเก็บลูกปูน ตรงโครงสร้างบริเวณใด และต้องทำเครื่องหมาย มีภาพถ่ายชัดเจน เพื่อใช้เป็นหลักฐานภายหลัง
2.การเก็บลูกปูนควรเก็บกระจายสุ่มให้ทั่ว อย่างครอบคลุม ตามหลักสถิติ จะได้ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด ค่าเฉลี่ย ค่าความแปรปรวน ต้องมีจำนวนลูกปูนที่มากพอ และควรเก็บทั้งบริเวณที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ในเชิงเปรียบเทียบกันได้ 3.การเก็บลูกปูนมีหลายวิธี ควรนำเทคโนโลยีและงานวิจัยสมัยใหม่มาร่วมเก็บข้อมูลด้วย เช่น ในบริเวณโครงสร้างที่ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถเก็บลูกปูนขนาดใหญ่ได้ สามารถเก็บลูกปูนขนาดเล็ก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 1 นิ้ว (25 มม.) ตามมาตรฐาน NDST 3439 ของประเทศญี่ปุ่น หรือ สามารถเก็บผงปูนไปทำการวิเคราะห์หากำลังอัดตามแนวทางงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวที่เพิ่งมีรายงานผลการวิจัยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
4.ควรเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และการหากำลังอัดของคอนกรีตจากซากคอนกรีตมาร่วมให้ข้อแนะนำด้วย จะทำให้เห็นมุมมองจากต่างชาติทางด้านนิติวิศวกรรมศาสตร์ 5.ซากชิ้นส่วนที่เก็บตัวอย่างแล้ว ไม่ควรทำลายทิ้งทันที แต่ควรตัดแบ่งเป็นชิ้นย่อย แล้วนำไปเก็บไว้เป็นหลักฐาน ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถนำมาวิเคราะห์ในภายหลังได้
ศ.ดร.อมร กล่าวอีกว่า เป็นที่น่าเสียดายมาก หากเราไม่ดำเนินการ 5 ข้อข้างต้นนี้ การเก็บข้อมูลวัสดุ ก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักพอ และมีข้อโต้แย้งได้ในภายหลัง และตอนนี้ เหลือเวลาไม่มากแล้ว ที่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ควรจะต้องพิจารณาแนวทางเก็บข้อมูลให้เหมาะสม เพราะหลังจากนี้ จะย้อนกลับมาเก็บข้อมูลอีกคงเป็นไปไม่ได้แล้ว
ทั้งนี้ ความคืบหน้าการค้นหาผู้ติดค้างล่าสุดจากข้อมูลจากกองอำนวยการร่วม (ณ เวลา 18.00 น. วันที่ 4 พฤษภาคม 2568) พบว่า ขณะนี้มีผู้ประสบเหตุรวม 109 ราย พบผู้เสียชีวิตแล้ว 86 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และอยู่ระหว่างการติดตาม 14 ราย