วันที่ 8 เม.ย.2568  ที่รัฐสภา ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวกรณีการเลื่อนระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรื่อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ... เป็นลำดับแรก ต่อด้วย ร่างพ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุข  ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข  ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ...  และ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ...มาพิจารณาในวันที่ 9 เม.ย. ว่า เรื่องดังกล่าวทำให้สังคมเข้าใจประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าใช้อำนาจเลื่อน หรือเปลี่ยนระเบียบดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่ความเป็นจริงคือเป็นอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุม ที่มีการเสนอญัตติให้เลื่อนระเบียบและวาระขึ้นมา เป็นผลให้การพิจารณาในวันที่ 9 เม.ย.มีการพิจารณากฎหมาย 5 ฉบับเป็นวาระแรก ยืนยันว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ใช้อำนาจของประธาน แต่เป็นไปตามมติในที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร  

ด้านนายคัมภีร์ กล่าวว่า จากที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรถูกกล่าวหาว่าเป็นมุสลิม แต่ไม่ปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม และยังสนับสนุนให้มีการเลื่อนร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิง ขึ้นมาพิจารณาก่อน เป็นสิ่งที่เข้าใจผิด จึงขอชี้แจงว่า การเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมนั้นเป็นหน้าที่ของสส.ที่เสนอเข้ามาในที่ประชุมมีมติเป็นอย่างไร ก็ดำเนินการตามมตินั้น ส่วนประเด็นใดที่เกี่ยวกับศาสนาประธานสภาฯ ก็จะใช้วิธีการงดออกเสียง เช่นเดียวกับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ก็ใช้วิธีการงดออกเสียงคือการไม่เห็นด้วย หากเห็นด้วยพี่น้องมุสลิมทั้งประเทศคงจะกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม เพราะในเรื่องของอบายมุขมอมเมาประชาชน คนไทยส่วนรวมก็ไม่เห็นด้วย รวมถึงพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่มีมุสลิมเป็นหลักก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน 

“การไม่เห็นด้วยของประธานสภาฯ คือการงดออกเสียง เพราะหากบอกว่าไม่เห็นด้วย จะถือว่าเป็นการไม่เห็นด้วยแค่บางส่วน จึงต้องใช้วิธีการงดออกเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาที่อิสลาม” โฆษกประธานสภาฯ กล่าว