ลุ้นเครื่องสแกนพบ สัญญาณชีพ กว่า 70 คน กระจายพื้นที่ กลางอาคารสตง.ถล่ม ด้าน กสทช.ปรับแผนกาง 3 ข้อรูปแบบ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ รายงานเหตุสำคัญของชาติ ทุกสถานีต้องงดรายการประจำ ตัดออกแถลงการณ์สดพร้อมกัน
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เป็นเหตุทำให้โครงการก่อสร้างอาคาร ที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทที่อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างถล่มเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายและมีผู้บาดเจ็บ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 เม.ย.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ทีมกู้ภัยยังคงปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดกำลังทีมกู้ภัยและทีม USAR (Urban Search and Rescue) เดินเท้าค้นหา และตรวจพบสัญญาณกลิ่น ที่ไม่พึงประสงค์ในพื้นที่โซน บี กระทั่งพบส่วนล่างของผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานงานให้ทีมกู้ภัยเข้าดำเนินการเปิดทางและยืนยันการพบร่างผู้เสียชีวิตในจุดดังกล่าว ก่อนพบร่างผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 5 ราย โดยพบ ในพื้นที่โซน B และโซน C จากลักษณะการพบร่างพบว่ามีซากอาคารถล่มทับร่างผู้เสียชีวิตอยู่ ทำให้ไม่สามารถนำร่างออกมาได้ในทันที เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความอันตรายต่อทีมกู้ภัย อย่างไรก็ตาม ภารกิจของทีมกู้ภัยในวันนี้ ได้วางแผนที่จะนำเครื่องจักรหนัก เข้ามาเปิดพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเคลียร์ซากปรักหักพังและเข้าถึงจุดที่คาดว่าอาจจะยังมีผู้สูญหายติดอยู่
สำหรับสรุปยอดความคืบหน้าภารกิจกู้ภัยผู้สูญหายจากซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหลังใหม่พังถล่ม เมื่อเวลา 06.00 ของวันที่ 1 เมษายน จำนวนผู้ประสบเหตุ 96 ราย ผู้เสียชีวิต 13 ราย แบ่งเป็นผู้ชาย 8 ราย และผู้หญิง 5 ราย ผู้บาดเจ็บ 9 ราย ผู้สูญหาย 74 ราย
ขณะเดียวกัน นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงคืนที่ผ่านมา (31 มีนาคม)เจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง ในการประชุมวางแผนการทำงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างภายในอาคาร หลังใช้เครื่องสแกน พบสัญญาณชีพและไม่พบผู้เสียชีวิต กระจายอยู่ที่บริเวณรอบข้าง ประมาณ 70 คน จึงคาดว่าน่าจะมีผู้ติดค้าง รวมกระจุกตัวอยู่บริเวณตรงส่วนกลางของตึก ระหว่างชั้นที่ 17-21 วันนี้จึงมีการวางแผนเตรียมที่ จะนำผู้ติดค้างออกจากจุดดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ซึ่งสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการทำงานคือ ด้วยสภาพโครงสร้างของตึกที่มีความสูงถึง 30 ชั้น ประกอบกับการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จจึงทำให้ไม่มีแบบแปลนอาคาร อีกทั้งพื้นปูนและผนังของอาคารยังมีความหนากว่า 1 เมตร ทำให้การเจาะเข้าไปเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนได้มีการเร่งมือให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แต่การใช้เครื่องมือบางอย่างไม่สามารถดำเนินการได้ และเจ้าหน้าที่ยังคงต้องรอการใช้เครื่องมือหนักเพียงอย่างเดียว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมการแก้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยพิบัติเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.68) ที่ประชุมได้ขอให้ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปกำหนดแนวทางการประกาศสำคัญผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) และวิทยุกระจายเสียง ภายใต้อำนาจของ กสทช. หลังจากวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้บางสถานีโทรทัศน์ และ วิทยุไม่ทราบแนวทางในการปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุสำคัญของประเทศทำให้บางสถานีฯ ไม่ได้ตัดสัญญาณเข้าการประกาศ สำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาราชการแทนเลขาธิการ (กสทช.) รายงานสรุปผลการประชุมทำความเข้าใจและกำหนดแนวทางการในการปฏิบัติการถ่ายทอดสด กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ ฉุกเฉิน หรืออื่นๆ ที่สำคัญของชาติ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี และสถานีโทรทัศน์ ช่อง NBT กรมประชาสัมพันธ์ โดยนายไตรรัตน์กล่าวว่าที่ประชุมได้สรุปข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางยึดถือปฏิบัติ ดังนี้
1. กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรง ฉุกเฉินเร่งด่วนทันที หรือเหตุอื่นๆ ของชาติ การแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีดำเนินการ หรือโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ให้ทุกสถานีโทรทัศน์ต้องเชื่อมโยงสัญญาณถ่ายทอดสดพร้อมกันจากสถานีแม่ข่ายทันที เมื่อมีการขึ้นเพจหน้าจอว่า โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท) 2. กรณีเหตุภัยพิบัติ หรืออื่นใด เมื่อระดับความรุนแรงลดลง การแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่สำคัญต่อเนื่องโดย นายกรัฐมนตรี ให้สถานีฯ เชื่อมโยงสัญญาณสดโดยพร้อมเพียงกันเมื่อมีการขึ้นเพจว่า นายกรัฐมนตรีแถลงการณ์ ทั้งนี้แม่ข่ายจะต้องมีการแจ้งเวลาล่วงหน้าให้สถานีต่าง ๆ ทราบก่อนไม่น้อยกว่า 10-15 นาที เว้นแต่มีเหตุความจำเป็นให้แจ้งได้โดยทันที
3. กรณีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ ความคืบหน้าการดำเนินงาน หรือเรื่องสำคัญอื่นๆ โดย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหน่วยงานรัฐ ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ให้ถ่ายทอดสด โดยสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์อื่นๆ สามารถเชื่อมสัญญาณหรือนำเนื้อหาไปเผยแพร่ต่อในรูปแบบของข่าว หรือสื่ออื่นๆอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสม เมื่อมีการขึ้นเพจที่หน้าจอว่า สำนักนายกรัฐมนตรี
การแถลงการณ์ตามข้อ 3 จะกำหนดประเด็นสำคัญในการแถลงการณ์ขึ้นก่อนในภาพรวม และกระชับประเด็นเพื่อให้ประชาชนรับรู้ได้อย่างรวดเร็วและมีระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที
นายจิรายุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบในแนวทางของ กสทช. แล้ว โดยขอให้ยึดถือในการปฏิบัติในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือเรื่องอื่นใดที่มีความสำคัญของชาติ ที่จะต้องแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชน