ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำพิพากษา 8 เมษายนนี้ ปิดฉากคดี “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการกสทช.” ฟ้องร้องบอร์ด กสทช. 4 คน กลั่นแกล้งสกัดไม่ให้นั่งตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ทั้งที่คุณสมัติครบ ด้านผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย เตือนสติ ตีแผ่กลุ่มผลประโยชน์ไม่สนใจระบบนิติรัฐ

วันที่ 26 มี.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีดำ 155/2566 ที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการกสทช. ฟ้องร้อง กสทช. 4 คน ว่าร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157  เจตนาไม่ให้นายไตรรัตน์ ลงสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการกสทช.คนใหม่ได้ ในวันที่ 8 เมษายน 2568 นี้

สำหรับ กรรมการกสทช. จำนวน 4 คน ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ประกอบด้วย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย , ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ 

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553  มาตรา 7 กำหนดให้ กรรมการกสทช. ต้องไม่เป็นบุคคลต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิด 

แหล่งข่าวที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการเมือง ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจะบิดกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเบื้องหลัง ไม่ต่างกับตอนก่อนปฎิวัติในปี 2549 โดยกลุ่มซ้ายจัดและ NGO กลุ่มเดิมๆ ร่วมกับกลุ่มที่อ้างตนเองเป็นขวาจัด แต่ทำเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ให้พรรคพวกของตนเอง และหวงอำนาจที่จะเข้ายึดครองสมบัติของสาธารณะ โดยไม่นึกถึงระบบนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม 

”จะเห็นได้ว่ามีความพยายามกล่าวหา กดดัน และ พยายามจะบิดให้สังคมเชื่อว่าตนเป็นคนดี โดยเบื้องหลัง คือการเอาผลประโยชน์ไปให้ผู้มีพระคุณ หรือจะหลอกผู้มีพระคุณก็ไม่ทราบได้ เพราะประวัติศาสตร์บอกเราไว้ว่าความวุ่นวายในประเทศตลอด 18 ปี ที่ผ่านมาก็เพราะเหตุแบบนี้“ 

แหล่งข่าวยังกล่าวเสริมอีกว่า “ความถูกต้องคือต้องยึดหลักยุติธรรม หากหวังดีต่อชาติจริง ต้องยึดหลักกฎหมาย ถึงแม้ไม่ถูกใจแต่ต้องยึดความถูกต้อง หากจะใจร้อนหรือเอาแต่ใจ ประเทศก็วุ่นวายแบบทุกวันนี้ หากจะทำเพื่อชาติและประชาชนต้องทำอย่างจริงใจ ทุกวันนี้ ทุกคนตื่นมาดูกระจกย่อมรู้ดีว่าตัวเองทำอะไร เราหลอกสังคมได้ แต่เราหลอกจิตสำนึกตัวเองไม่ได้ จะแก้ไขปัญหาสังคมไทย ต้องแก้ไปถึงจุดนี้ก่อน บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีสถาบันหลักของชาติ หากสถาบันหลักสั่นคลอนย่อมไม่เป็นผลดีกับ 72 ล้านคนในประเทศนี้“

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีล่าสุดที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการกสทช. ฟ้องร้องต่อ กสทช. 4 คน เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566 ท่ามกลางกระแสความไม่ลงรอยในบอร์ดกสทช. ทำให้เสียงข้างมากทั้ง 4 คนจับมือกันแน่น และสามารถกำหนดเสียงโหวตได้ส่วนใหญ่

  • 17 มีนาคม 2566  : กสทช.ประกาศรับสมัครผู้มีคุณสมบัติเป็นเลขาธิการกสทช. ซึ่งนายไตรรัตน์ก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีสิทธิสมัครชิงตำแหน่ง 
  • 9 มิถุนายน 2566  : บอร์ดกสทช. 4 คน ร่วมกันลงมติเพื่อให้ นายไตรรัตน์ ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ โดยอ้างว่า จากกรณีสนับสนุนค่าใช้จ่ายถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022
  • 21 มิถุนายน 2566  : นายไตรรัตน์ นั่งรักษาการเลขาธิการกสทช.ต่อไป ส่งผล นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ ไม่สามารถขึ้นมารับตำแหน่งได้
  • 27 มิถุนายน 2566 ประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเป็น เลขาธิการกสทช. คนใหม่
  • 7 กรกฎาคม 2566 ประกาศกำหนดการแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ คัดเลือกเลขาธิการกสทช.คนใหม่
  • 20 กรกฎาคม 2566 : ผู้สมัครชิง เลขาธิการคนใหม่ เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์รวม 8 ราย รวมถึงนายไตรรัตน์ โดยมี ประธานกสทช.และกสทช.ทุกคนรับฟังและสัมภาษณ์ 
  • 26 กรกฎาคม 2566  : กสทช. 4 คน ทำหนังสือถึงประธานกสทช.ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการคนใหม่  
  • 11 กันยายน 2566 : นายไตรรัตน์ ยื่นฟ้อง 4 กสทช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 
  • 31 พฤษภาคม 2567 : ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำสั่งรับฟ้องคดีดำที่ อท 155/2566 ตามที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ยื่นฟ้อง 4 กสทช. จงใจร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อไม่ให้โจทก์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช.
  • 8 เมษายน 2568  : ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กำหนดให้รับฟังคำพิพากษา

ก่อนหน้านี้ อีกหนึ่งคดีที่คล้ายกัน คือเมื่อวันที่ 6 กพ. 2568  ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษา กรณีบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้อง ศ.กิตติคุณดร.พิรงรอง รามสูต ว่ามีเจตนาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งศาลอาญาฯ ตัดสินให้ ศ.กิตติคุณดร.พิรงรอง ผิดมาตรา 157 ต้องจำคุก 2 ปี รวมถึงพบเอกสารมติการประชุมไม่ตรงข้อเท็จจริง และการใช้อำนาจกดดันสั่งการสำนักงานกสทช. ออกหนังสือทำให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์และวิทยุ 127 แห่ง เข้าใจผิดเชื่อว่าบริษัทฯกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย

ด้านแหล่งข่าว กสทช. ย้ำว่า การตัดสินคดีในวันที่ 8 เมษายน 2568 นี้ ย่อมจะส่งผลต่อระบบคุณธรรมและจริยธรรมของกสทช. หลังจากก่อนหน้านี้ มีคำพิพากษาในคดี ศ.กิตติคุณดร.พิรงรอง ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงบรรทัดฐานในการทำงานของสำนักงานกสทช. ที่ต้องยึดมั่นระเบียบกฎหมายให้โปร่งใส  มีศักดิ์ศรี และไม่เป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ใด

“ที่ผ่านมามีการนำเอกสารหลักฐาน พยานฝ่ายต่างๆ ชี้แจงเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้มากที่สุด และป้องกันกระบวนการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานและผู้บริหารสำนักงานกสทช. ซึ่งทุกคนกำลังจับตาคดีนี้อยู่ว่าจะลงเอยด้วยความยุติธรรมอย่างไรต่อไป” แหล่งข่าว กสทช.กล่าว