“วันนอร์” ย้ำไม่มีเจตนาอื่น ตีกลับญัตติซักฟอก ย้ำอยากให้การอภิปรายฯเดินหน้าได้ “โฆษก-เลขาฯสภาฯ” กางข้อกฎหมายโต้ “ฝ่ายค้าน” กร้าวถ้าไม่แก้ ไม่บรรจุวาระ ส่วน “คัมภีร์” แฉมี 10 ลายมือชื่อไม่ตรงในญัตติ ส่วน “นายกฯ”ขอญัตติซักฟอก ยึดกฎ อย่าใช้อารมณ์ ไม่ฝืนหลักการ ถามให้ “ทักษิณ” ตั้งโต๊ะแถลงเพื่ออะไร ขณะที่“สว.ฉัตรวรรษ”ขน “30 สว.”บุก ป.ป.ช.ยื่นฟัน “ทวี-ยุทธนา”ผิดม.157 โยงคดี “ฮั้วเลือกสว.” บอกใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น “ทวี” ไม่หวั่น “สว.” ยื่นถอดถอน ชี้เป็นสิทธิ์ แจง “คดีฮั้วสว.” ยังไม่ได้กล่าวหาใคร แต่โพยมีชื่อตรงกับ “138สว.” 

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2568 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นหนังสือโต้แย้งในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ขณะนี้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับหนังสือโต้แย้งจากนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งสำนักประชุม สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายกฏหมาย และสำนักประธานสภาผู้แทนราษฎรกำลังประมวลเรื่องเพื่อเตรียมชี้แจง คาดว่าก่อนเวลา 12.00 น.ของวันนี้ ตนจะให้โฆษกสำนักเลขาธิการสภาฯ และสำนักเลขาธิการสภาฯ มาชี้แจงในรายละเอียด ซึ่งอาจทำเป็นเพลสรีลีสแจกสื่อมวลชน เพื่อขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะเป็นวันที่ 24 มี.ค.นี้ ได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ไม่มีการประท้วงให้เกิดความวุ่นวาย
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการหยิบยกเรื่องการตั้งญัตติต่างๆ ที่การเอ่ยชื่อบุคคลภายนอกได้ เป็นแค่ญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งต้องตั้งจากคนข้างใน และเชิญบุคคลภายนอกเข้ามาชี้แจง แต่สภาฯจะรับได้แค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่อง ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 มีข้อบังคับของสภากำหนดไว้เป็นการเฉพาะเกือบ 10 ข้อ นอกจากนี้ ยังเป็นการอภิปรายระหว่างฝ่ายค้านกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ว่าจะเป็น ครม.ทั้งคณะหรือรายบุคคล แต่ไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ส่วนจะอภิปรายในส่วนที่เกี่ยวข้องก็สามารถที่จะทำได้ หากอยู่ในข้อบังคับ ประธานก็สามารถที่จะอนุญาตได้ แต่หากผิดข้อบังคับประธานสภาก็จะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป อย่างไรก็ตาม การเขียนไปในญัตติถือว่าผิดข้อบังคับ ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะกระทำได้

เมื่อถามว่า ต้องวินิจฉัยไปตามที่ประธานสภาฯ วินิจฉัยไปตั้งแต่แรกใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากมีการโต้แย้งขึ้นมาก็ต้องดูประเด็นข้อโต้แย้งว่ามีอะไรที่สามารถทำได้ และมีอะไรที่ไม่สามารถทำได้ หรือยังต้องแก้ไขบ้าง
เมื่อถามว่า ต้องบรรจุเมื่อไหร่จึงจะสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 24 มี.ค.ได้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ทันอยู่แล้ว เพราะวันนี้เพิ่งวันที่ 11 มี.ค.แต่ขึ้นอยู่กับการชี้แจง และความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะทำให้ญัตติสามารถเดินไปได้ ประธานสภาฯ ไม่มีเจตนาอย่างอื่น นอกจากอยากทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้สามารถทำได้ด้วยความเรียบร้อยถูกต้องตามกติกา ส่วนการลงมติหลังการอภิปราย และเมื่อประชาชนรับฟังแล้วจะตัดสินอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง
เมื่อถามถึง กรณีที่ฝ่ายค้านอ้างว่าประธานสภาฯ มีหนังสือขอให้ฝ่ายค้านกลับไปแก้ไขญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจในระยะเวลาที่เกิน 7 วัน นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เดี๋ยวจะมีการชี้แจง ในรายละเอียดทุกข้อ เมื่อถามว่า ได้อภิปรายแน่นอนใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า รอดู

ต่อมาเวลา 11.30 น.ที่รัฐสภา นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงกรณีหนังสือโต้แย้งของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรกรณีที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยให้แก้ไขข้อบกพร่องในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่า กรณีที่ฝ่ายค้านแย้งในอำนาจของประธานสภาฯ ว่ามาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีฯ ไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องอำนาจ ความผูกพันในการใช้อำนาจของประธานสภาฯ ให้ต้องเปิดให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่มาตรา 128 วรรค 1 บัญญัติให้อำนาจ สส.ในการตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งรวมถึงญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจด้วย

นายคัมภีร์ กล่าวต่อว่า โดยมีการกำหนดขั้นตอนเกี่ยวกับการเปิดอภิปรายดังกล่าวไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาฯ พ.ศ.2526 หมวด 9 เรื่องการเปิดอภิปรายทั่วไป โดยเฉพาะข้อ 175 วรรค 1 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ให้แก่ประธานสภาฯ ไว้ชัดเจนในการตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ หากมีข้อบกพร่องให้ประธานสภาฯ แจ้งผู้เสนอญัตติทราบภายใน 7 วัน  นับจากวันที่ได้ญัตติ เพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง

โดยข้อบังคับไม่ได้มีการกำหนดนิยามคำว่าข้อบกพร่องไว้อย่างชัดเจนว่าหมายถึงข้อบกพร่องที่เป็นข้อผิดพลาด เช่น มีลายชื่อผู้เสนอไม่ครบ ตามเกณฑ์กำหนด หรือลายมือชื่อผู้เสนอไม่ถูกต้องตรงกับลายมือชื่อจริง เป็นต้น จึงเป็นอำนาจของประธานสภาฯ ที่จะใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัย หากมีการแก้ไขญัตติภถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ประธานสภาฯ จึงจะสั่งเข้าบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน และแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ

นายคัมภีร์ กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 178 และข้อ 69 แล้วจะเห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจห้ามผู้อภิปรายออกชื่อบุคคลใดโดยไม่จำเป็น และการอภิปรายที่อาจทำให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสส.ได้รับความเสียหายถือเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม สส.ผู้นั้นต้องรับผิดชอบ ประธานสภาฯ ต้องการให้หารประชุมปละการอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเกิดประโยชน์แก่ชาติและประชาชน จึงเห็นว่าหากปล่อยให้ชื่อบุคคลภายนอกอยู่ในญัตติต่อไปจะเกิดความเสียหายและความไม่เรียบร้อยในที่ประชุมจนยากจะแก้ไข เนื่องจากอาจจะเกิดการประท้วงไปมาหรือประท้วงประธานสภาฯ ว่าทำผิดข้อบังคับด้วย ไม่ควบคุมรักษาความสงบในที่ประชุม ซึ่งท่านจะต้องรับผิดชอบด้วยจึงต้องใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยข้อบกพร่องของญัตติดังกล่าว

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบในญัตติพบว่ามีสส.ของพรรคฝ่ายค้านจำนวน 10 รายที่ลายมือชื่อไม่ตรงกับที่เคยให้ไว้กับสภาฯ จึงให้ไปแก้ไข ซึ่งมีการแก้ไขกลับมาวันที่ 28 ก.พ. แต่เดือนก.พ.มีแค่ 28 วันเท่านั้น และเมื่อมีการนำเสนอเรื่องต่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เพื่อพิจารณาก่อนที่จะส่งเรื่องไปถึงประธานสภาฯ ตามขั้นตอน จึงพบว่าญัตติมีการกำหนดชื่อบุคคลภายนอกไว้ ซึ่งไม่สามารถทำได้ จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ ดังนั้น นายพิเชษฐ์จึงเสนอต่อประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของกรอบเวลาการที่นายณัฐพงษ์ระบุว่าเกินกำหนดวันที่ 28 ก.พ.

ด้าน ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเสริมว่า ในทางปฏิบัติสำนักการประชุมได้ชี้แจงมาว่าการยื่นญัตติของฝ่ายค้านนับรวมวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 6 มี.ค.พอดี โดยญัตติสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งนี้ ข้อบังคับการประชุมระบุว่าไม่จำเป็นต้องแจ้งด้วยหนังสือ แต่ประธานสภาฯ ให้เกียรติผู้นำฝ่ายค้านจึงขอนำเรียนให้นายณัฐพงษ์ แก้ไขก่อน ถ้าไม่แก้ไขก็จะให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ทำหนังสือส่งไป เผื่อนายณัฐพงษ์จะเปลี่ยนใจแก้ไข
เมื่อถามย้ำว่า ตามระเบียบหากไม่แก้ไขญัตติ จะไม่สามารถบรรจุวาระได้ใช่หรือไม่ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของประธานสภาฯ ว่าบรรทัดฐานที่ท่านทำมา ไม่ใช่ท่านเพิ่งคิดในครั้งนี้ แต่ท่านได้ให้สำนักการประชุมตรวจสอบดูในอดีต ซึ่งการกล่าวถึงบุคคลภายนอกนั้นไม่มี แต่ใช้คำว่าบุคคลในครอบครัว อดีตสมาชิกฯ จะไม่ระบุชื่อโดยตรง เฉพาะในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องอยู่ในกรอบนี้ ไม่ใช่ญัตติทั่วไป ซึ่งญัตติทั่วไปอาจมีการเอ่ยถึงบุคคลภายนอกได้ ประธานสภาฯ ก็ถือเป็นบรรทัดฐานครั้งนี้

“การกล่าวถึงบุคคลภายนอก มีครั้งหนึ่งในสมัยญัตติปี 2529 ที่เป็นการกล่าวถึงบริษัทหนึ่ง แต่ปี 2529 เราต้องรู้ว่าเอกสิทธิ์ความคุ้มกันนั้นมี 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าไปพาดพิงบุคคลภายนอกก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญพิจารณามา ถ้าบุคคลภายนอกเสียหายเขาสามารถฟ้องร้องได้ในส่วนนั้น

ส่วนประเด็นที่บอกว่าเมื่อมีการอภิปรายแล้วพาดพิงบุคคลภายนอก เขาสามารถมายื่นคำชี้แจงได้ อันนั้นแยกส่วนต่างหาก แต่เรื่องนี้อยู่ในส่วนของการระบุชื่อในญัตติ และญัตติก็มีชื่อเผยแพร่เป็นบุคคลภายนอกแล้ว บุคคลที่มีชื่อในญัตติก็ไม่สามารถชี้แจงในลักษณะที่ไม่ถูกอภิปรายได้ ซึ่งเป็นกรณีที่แตกต่างกัน” เลขาธิการสภาฯ กล่าว

ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า จริงอยู่ที่ผู้เสนอญัตติพร้อมรับผิดชอบในการกล่าวถึงบุคคลภายนอก แต่ในฐานะประธานสภาฯ ท่านก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ถ้าชื่อของบุคคลภายนอกไปปรากฏอยู่ในญัตติ และมีการปรากฏอยู่ในสาธารณชน เพราะเป็นคนใช้อำนาจในการอนุญาตให้บรรจุญัตติ ซึ่งประธานสภาฯ เล็งเห็นในส่วนนี้ซึ่งมีความสำคัญจึงเห็นว่าควรให้ตัดการที่มีบุคคลภายนอกออกไป

เมื่อถามย้ำว่า หากไม่แก้ญัตติก็คือไม่บรรจุวาระการประชุม เลขาธิการสภาฯ กล่าวว่า “ครับๆ ตอนนี้ท่านประธานสภาฯ ก็มีดำริให้นโยบายมา ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ภายในวันที่ 11-12 มี.ค.นี้ ผมก็จะทำหนังสือชี้แจงในข้อที่ผู้นำฝ่ายค้านโต้แย้งมา ยืนยันหนังสืออย่างเป็นทางการไปอีกครั้งหนึ่ง”

ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สัมภาษณ์กรณีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ยังมีประเด็นการตัดชื่อคนนอกอยู่ ได้พูดคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เรื่องนี้บ้างหรือไม่ว่า เขาไม่ว่าอะไรเลย เพียงแต่ถามเฉยๆว่า เข้าได้หรือ เพราะไม่ได้อยู่ในสภาฯ หรือจะให้เขาไปสภาฯ เขาก็ถามเล่นๆไม่ได้มีอะไร หรือจะให้ไปตอบในสภาฯ หรืออย่างไร แต่ท่านก็เข้าไม่ได้อยู่แล้ว 

เมื่อถามว่า ส่วนตัวติดหรือไม่หากมีชื่อนายทักษิณในญัตติ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า อันนี้เอาข้อเท็จจริง ในเรื่องนี้อย่าใช่อารมณ์เลย เอาเรื่องหลักการ กฎ คืออะไรดีกว่า ถ้าเราไม่ทำตามกฎ ไม่ทำตามหลักการ ตั้งกฎตั้งหลักการไว้ทำไม ถ้าสมมุติว่าหลักการมันเข้าได้ ก็เข้าได้เลยเราจะห้ามอย่างไร แต่ถ้าหลักการเข้าไม่ได้ จะฝืนหลักการก็ไม่ได้ แค่นั้นเอง

เมื่อถามว่า จะให้นายทักษิณตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงต่อสาธารณชนว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ท่านทักษิณ จะแถลงเพื่ออะไร

ผู้สื่อข่าวตอบกลับว่า เพื่อให้สัมคมสบายใจ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า “เพื่อให้มีประเด็นอื่นต่อไปไม่จำเป็น ท่านทักษิณ เป็นคุณพ่อของนายกฯ คนที่ 31 เท่านั้นเอง ท่านทักษิณไม่ได้เป็นนายกฯ จะไปอภิปรายท่าน หรือให้ท่านตั้งโต๊ะแถลง แต่ถ้าฮอลลีวูดชวนท่านไปเป็นดารา เดี๋ยวท่านแถลงได้” 

เมื่อถามว่า การยื้อกันแบบนี้ มองว่าเป็นเรื่องการเมืองเกินไปหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า อยากรู้สุดท้ายจะเหลืออภิปรายกี่วัน สื่อจึงกระเซ้าว่า ”5 วัน“ นายกฯหัวเราะก่อนกระเซ้ากลับว่า ”เดือนนึงเลยมั้ยละ” ก่อนบอกว่า “ก็แล้วแต่ได้หมดกี่วันก็มา”

ที่รัฐสภา พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา (สว. )ให้สัมภาษณ์กรณี 30 สว. จะเดินทางยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่า ในฐานะเป็นผู้ยื่นญัตติเรื่องนี้ตนจะไปเอง ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับคดีฮั้วสว.ข้อหาฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ ก็มีประเด็นเกิดขึ้นมาอีกว่าการดำเนินการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เมื่อถามว่านอกจากการร้องผิดมาตรา 157 แล้วจะมีเรื่องอื่นอีกหรือไม่พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า ใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่เป็นคนละเรื่องกับจริยธรรม ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา การที่พยายามจะเอาเรื่องเข้าบอร์ด และสุดท้ายมีการเลื่อนพิจารณา แสดงว่าขณะนั้นมีการรวบรวมพยานหลักฐานได้ทุกอย่างแล้ว

“อำนาจหน้าที่ของอธิบดีดีเอสไอ ก็สามารถรวบรวมหลักฐานที่มีอยู่แล้ว และส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ โดยไม่ต้องทำเอง แต่ดีเอสไอพยายามที่จะเก็บไว้ทำอะไร และไปกล่าวหาว่า กกต.ล่าช้า ตัวเองได้รับเรื่องร้องเรียนมาตั้งแต่กันยายน ตุลาคม รวบรวมพยานหลักฐานได้เป็นหมื่นเป็นแสน ถามว่าทำไมไม่ส่ง กกต. คุณถูกอำนาจอะไรครอบงำอยู่ถึงไม่ส่ง กกต. พอเข้าบอร์ดแล้วบอร์ดไม่รับแสดงว่าความผิดยังไม่สำเร็จ แสดงว่าคุณขาดจริยธรรมจงใจกลั่นแกล้ง” พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าว

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตเป็นการงัดข้อระหว่างขั้วการเมือง พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า ตนไม่รู้ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม แต่ตนเป็นวุฒิสมาชิก ก็ต้องว่าไปตามสมาชิกส่วนใหญ่ในวุฒิสภา และในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบและการส่งเสริมธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตนก็ต้องว่าไปตามกระบวนการขอไม่ไปคาดคะเน ทุกอย่างต้องดูไปตามพยานหลักฐาน ส่วนจะไปยื่นที่ไหนต่อหรือไม่ต้องดูเหตุการณ์ก่อน

ส่วนจะมีการเชิญ พ.ต.อ.ทวี และอธิบดีดีเอสไอ มาชี้แจงในกมธ.ฯหรือไม่นั้น พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า ทางกมธ.ฯ ยังไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม แต่คาดว่าจะเป็นเร็ว ๆ นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะเดินทางไปยื่นถอดถอน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ตนยินดี เพราะถือเป็นสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มเข้าสู่กระบวนการสอบสวน โดยต่อไปนี้จะให้คณะกรรมการทำการสอบสวนไป ซึ่งคดีลักษณะนี้มีทั้งกลุ่มที่เป็น สว. และคนที่ไม่เป็น สว.เป็นผู้บงการให้เป็น สว. รวมถึงมีความเกี่ยวข้อง โดยเราจะตรวจสอบเส้นทางการเงินของคน 7 พันคนก่อน ว่ามีการฮั้วกันตามที่ร้องเรียนหรือไม่ และอย่างไร เราอยากให้วิทยาศาสตร์เป็นตัวฟ้อง เชื่อมั่นว่าพยานบุคคลต่างๆ ที่ได้มา กับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จะเป็นตัวชี้ชัด เราไม่มีสิทธิ์ไปกลั่นแกล้งหรือช่วยเหลือใคร ให้ความจริงและความเป็นธรรมเป็นตัวกำหนด

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเป็นการถูกเอาคืนหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของเขา ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าเขาจะร้องอะไร แต่เมื่อคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถไปยื่นได้ อย่าไปกังวล และหากเรื่องนี้จะทำให้เขามีพื้นที่ในการเรียกร้อง และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ดำเนินการได้

“เรายังไม่ได้กล่าวหาใคร เพียงแต่พยานเอกสารไปกล่าวหาเขาว่าคนที่ปรากฏในโพยตรงกับชื่อ สว. 138 คน และในบรรดานี้มีตำแหน่งเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงคนเดียว เพราะไปจับฉลากกัน เช่น ตำแหน่งประธานและรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) แต่ยืนยันว่าทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่ผมพูด เป็นสิ่งที่โพยพูด” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

เมื่อถามว่า มีการส่งชื่อให้เจ้าตัวทราบหรือยัง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรากำลังทำเรื่องฟอกเงินอยู่ มาจากมูลเหตุอั้งยี่ และการได้มาซึ่ง สว.ที่ไม่ชอบ เพราะเป็นกฎหมายที่เขียนให้เราทำ

เมื่อถามว่าขณะนี้มีเรื่องของ พ.ต.อ.ทวี ถูกร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เยอะมาก ทั้งเรื่องชั้น 14 และเรื่อง สว. กังวลหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่ามีเรื่องอะไรบ้าง แต่การร้องก็ถือว่าเป็นสิทธิ์