วันที่ 21 ก.พ.2568 ที่โรงแรมสวนสนปฏิพัทธ์ หัวหิน คณะวุฒิสภา นำโดย นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ร่วมแถลงต่อกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเรื่องกรณีที่กลุ่มอดีตผู้สมัคร สว. ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบการได้มาซึ่ง สว.ปี 2567 โดยมิชอบ ไว้เป็นคดีพิเศษ เพราะเกี่ยวข้องกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ระหว่างสัมมนาที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โดยนายมงคล แถลงข่าวว่า ต้องขออภัยที่รบกวนสื่อมวลชนเพื่อแถลงข่าวด่วนเรื่องสำคัญที่สืบเนื่องจากได้รับข้อมูลข่าวสารว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษเตรียมการเสนอให้คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องการตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้ง วุฒิสมาชิกพ.ศ 2567 เป็นคดีพิเศษ ซึ่งตนรู้สึกว่ามีอะไรที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะอำนาจในการสืบสวนตรวจสอบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. ที่เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งรับเรื่องไว้แล้วและดำเนินการตรวจสอบ และเมื่อสว.ได้รับการรับรองทำหน้าที่มา 6 เดือนให้ความร่วมมือกับกกต.มาตลอด
ในขณะที่สว.เข้ามาอย่างถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขตามระเบียบที่กกต.กำหนดไว้ และทำหน้าที่ของวุฒิสมาชิกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ไปฝักใฝ่ หรือเกี่ยวข้องกับผู้หนึ่งผู้ใด แต่อยู่ดีๆท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆเกิดมีข่าวนี้ขึ้นมาตรวจสอบ ตนจึงคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
ด้านพล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ประธานกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ วุฒิสภา กล่าวว่า ได้ตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว.ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นอำนาจหน้าที่กกต.พิจารณา แต่เนื่องจากทุกวันนี้จากข่าวด้านสื่อมวลชน ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนต่อวุฒิสภาที่ได้มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ ในการเข้ามาพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ และทราบว่าขณะนี้มีการดำเนินการจากผู้ที่ร้องเรียน ต่อดีเอสไอ ซึ่งตนไม่ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนใดแต่ทราบจากกระแสข่าวว่าอยู่ในกระบวนการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ แต่ตามข้อกฎหมาย การดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตและหน้าที่ตราบใดที่หน่วยงานหลักตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้มอบอำนาจจะพูดในลักษณะที่ทำให้สมาชิกวุฒิสภาโดยรวมเกิดความไม่เชื่อมั่นในกกต.
จึงอยากจะฝากว่า การดำเนินการต่างๆ อยากจะขอไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับเรื่องดำเนินการ ไม่ว่าจะรับจากภาคเอกชนหรือหน่วยงานใดๆ ขอให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ ซึ่งตนไม่ได้ให้ร้ายใครแต่จัดการให้ข่าวของพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อาจทำให้วุฒิสภาเสื่อมเสียหรือทำให้สังคมเข้าใจผิด จึงขอทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน ว่าสว.ได้มาโดยสุจริต โปร่งใส ทุกคนมีการแข่งขันแนะนำตัวตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ความคิดที่กล่าวหาว่าเป็นอาชญากรข้ามชาติอั้งยี่ ซ่องโจรเป็นข่าวที่เกินเลยความจริงไป
พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ สว.ในฐานะโฆษกกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรม วุฒิสภา กล่าวว่าการได้มาซึ่งสว.ในครั้งนี้ได้มาโดยรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาโดยสมาคมหรืออั้งยี่ การกล่าวหาเกินเลยจากข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมาย รัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระหรือหน่วยงานของรัฐก็ดี ต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อความสงบเรียบร้อยและความผาสุกของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก การจะมากล่าวหาว่า องค์กรของรัฐซึ่งมีหน้าที่ ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชน เป็นกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมายมีความมุ่งหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นการกล่าวหาใส่ความ
ซึ่งผู้ใดก็ตามที่กล่าวหาใส่ความว่าสว.ที่ได้มาครั้งนี้โดยไม่มีความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ สมาคมอั้งยี่หรืออะไรก็แล้วแต่เป็นการใส่ความให้เกิดความเสียหายและบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการนิติบัญญัติ ดังนั้นผู้ดำเนินการตรงนี้ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำไม่ว่าจะเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐก็ดีหรือผู้บริหารบ้านเมืองก็ดีต้องรับผิดชอบ
พ.ต.อ.กอบ กล่าวอีกว่า ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกสว.แต่ไม่ได้รับเลือกเข้ามา แต่มากล่าวหาว่ากระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องรับผิดชอบ ส่วนที่บอกว่าวิธีการที่ได้มาซึ่งสว.ไม่ชอบนั้น ท่านก็เข้ามาในกระบวนการนี้ด้วย และมากล่าวหาดังนั้นความรับผิดชอบตรงนี้ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ ส่วนรายละเอียดของกฎหมายทุกคนคงรู้ว่าลักษณะกฎหมายเป็นอย่างไรจึงขอฝากทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจน ว่ากฎหมายบ้านเมืองเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง และประการสำคัญขณะนี้มีกระบวนการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการฉ้อฉลและบิดเบือนอำนาจทุจริตในวงกว้างและพยายามแก้เพื่อนำไปสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญ
ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันพยายามแก้ปัญหาและขจัดคนไม่ดีทุจริตฉ้อฉลมาบริหารบ้านเมืองแต่ขบวนการนี้ย้อนกลับมาอีกครั้งเพื่อให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญให้ได้และทำให้ประชาชนเกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันเพื่อให้การดำรงอยู่ของการเคารพกฎหมายดำรงอยู่และผาสุกสงบเรียบร้อย ใครก็ตามที่บังอาจบิดเบือนฉ้อฉลไม่สามารถดำเนินการได้ต้องรับผิดชอบ
เมื่อถามว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาดูกรอบในการดำเนินการทำได้แค่ไหนอย่างไร โดยจะประสาน กกต. เพื่อสอบถามเรื่องที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนว่าดำเนินการไปถึงไหนเพื่อนำผลการตรวจสอบมาเป็นข้อมูลประกอบและรวบรวมกับข้อกฎหมายที่จะดำเนินการต่อไป
เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ถูกกล่าวหา นายมงคล กล่าวว่า ไม่สบายใจ เพราะหน่วยงานที่มีอำนาจทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว พวกเราเองโดยเฉพาะตนและรองประธานวุฒิสภาทั้ง 3 ได้รับการตรวจสอบ และได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นประธานวุฒิสภา โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ต่อมาได้ให้ความร่วมมือกับ กกต. ในการตรวจสอบขอข้อมูลอะไรมาก็ให้กกต.ตรวจสอบตลอด หากพบผู้ใดกระทำผิดก็ได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ ของ กกต.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง แต่เหตุไฉนหน่วยงานที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ อยู่ดีๆก็มาให้ข่าวมาออกข่าว ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของเราในการปกป้องสิทธิ ศักดิ์ศรีของวุฒิสภาสมาชิก
เมื่อถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกลเกมการเมืองหรือไม่ พ.ต.อ.กอบ กล่าวว่า ถ้าจะมองให้รอบคอบการใช้กฎหมายมาอ้างอิงในการดำเนินคดีกับคณะวุฒิสมาชิกในครั้งนี้เป็นการใช้ข้อกฎหมายไม่ตรงตามข้อเท็จจริง การที่กลุ่มบุคคลกระทำการเช่นนนี้โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดำเนินการ มองได้แล้วว่าเป็นเกมการเมืองหรือไม่ โดยการอ้างกฎหมายอาญามาใช้โดยมิชอบ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อสร้างปัญหาให้กับการบริหารการปกครองบ้านเมือง มีกลุ่มคนที่ไม่สำนึกนำพาไม่เคารพกติกากฎเกณฑ์ของบ้านเมืองเพื่อสร้างวิกฤตรัฐธรรมนูญ การใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 มาอ้างว่า กลุ่มที่สมัคร สว.ที่ได้รับการรับรองจากกกต.แล้ว ไปยุยงปลุกปั่นก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเพื่อให้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง อันนี้ถ้ามองด้วยหลักกฎหมายที่ถูกต้องผู้ที่ทำการนี้ เป็นพวกกล่าวหานำเรื่องไปให้ดีเอสไอต่างหาก ที่พยายามบั่นทอนความมั่นคง 3 เสาหลักของระบอบประชาธิปไตยเรามีอำนาจบริหารนิติบัญญัติและตุลาการ ซึ่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ตรวจสอบถ่วงดุลกับ 3 อำนาจนี้
พ.ต.อ.กอบ กล่าวว่า การที่ ดีเอสไอ หรือรัฐมนตรีกล่าวหาเป็นการบิดเบือนและฉ้อฉลอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นการเมืองหรือไม่ท่านก็พิจารณาได้ ลักษณะอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา เพราะตอนนี้มีปัญหาเกิดขึ้นรอบด้าน ปัญหาที่คณะรัฐมนตรีต้องไปแก้ไขมากมายทำไมไม่ไปทำ มาสั่นคลอนกระบวนการนิติบัญญัติมันใช่หรือไม่ รัฐสภาเป็นองค์กรใช้นิติบัญญัติแทนประชาชน จะมายุแยงยั่วยุ หรือปลุกปั่นประชาชน กล่าวหาฝ่ายนิติบัญญัติแสดงว่าบ้านเมืองไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมาย เมื่อไม่มีการปกครองโดยใช้กฎหมายจะเอาหลักอะไรมาบริหารประเทศ อยากรู้ว่าจะแก้ปัญหารอบด้านแนวชายแดนอย่างไร ต้องให้ต่างประเทศมาช่วยแก้หรือชี้นำหรือไม่
ถ้ามีคนต่างด้าวมาทำผิดกฎหมายบ้านเมืองเราแล้วอยู่ๆไปทำสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรมและยกฟ้องคดีสำคัญ ท่านรู้จักตู้ห่าวหรือไม่เป็นตัวอย่างเล็กๆที่ใช้อำนาจทุจริตเชิงประจักษ์ เป็นการกระทำปกติววิสันฉ้อฉลบิดเบือนกฎหมาย และกระบวนการนี้กลับมาอีกครั้งเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งได้แก้ปัญหานี้ไปแล้วด้วยการกำหนดไม่ให้คนที่มีความไม่ซื่อสัตย์เข้ามา บริหารบ้านเมือง ประชาชนไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องหรือรับใช้ การกระทำการเพื่อให้การเมืองอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อยแต่ประชาชนมีหน้าที่ป้องกันคนดี ให้คนดีมีโอกาสปกครองบ้านเมืองตอนนี้ประชาชนสับสนเพราะมีคนปลุกปั่น โดยใช้กฎหมายบิดเบือน
“เราไม่อยากระบุบุคคล แต่ที่ปรากฎตามสื่อกลุ่มกระบวนการนี้กำเริบสืบสานไปเรื่อยๆไม่ให้มีการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยปกติเรียบร้อย และบ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวาย เป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ จะได้แก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อให้กระบวนการนี้กลับมาพี่น้องยอมไหมครับ การที่สว. เข้ามาเป็นการปกป้องประโยชน์ประชาชนซึ่งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่บอกไว้ว่าองค์กรไหนทำหน้าที่อะไรบ้าง
กกต.มีหน้าที่ ตรวจสอบทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันปกป้อง ส่วนคนที่ไม่มีหน้าที่และก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองพวกนี้ต้องถูกดำเนินคดี จะเป็นกระบวนการจากอะไรก็ตาม ต้องดำเนินคดรและถูกตรวจสอบว่ามาอย่างไรมีองค์กรไหนอยู่เบื้องหลังทำอย่างไรให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นมา” พ.ต.อ.กอบ กล่าว